เอ็นจีโอจี้ไทยทบทวนซื้อไฟจากเขื่อนไซยะบุรีกดดันลาวยกเลิกโครงการ
5 เม.ย.57 ถกทบทวนข้อตกลงสร้างเขื่อนไซยะบุรี หวั่นกระทบระบบความมั่นคงอาหาร ระบบนิเวศแม่น้ำโขง เอ็นจีโอ 39 กลุ่ม เตรียมหนุนยุติการก่อสร้าง-จี้รัฐบาลไทยยกเลิกซื้อไฟฟ้าจากโครงการ
เร็ว ๆ นี้ กลุ่มองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) 39 กลุ่ม ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ และประชาชน รวมถึงองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมประกาศเข้าร่วมการต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีบนแม่น้ำแม่โขงสายหลักที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อตกลงที่จะซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี
ทั้งนี้ การประชุมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC)ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้น ที่โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 5 เมษายน 2557 โดยผู้นำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของแต่ละประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม จะทบทวนข้อตกลงที่เคยสร้างไว้ร่วมกันเมื่อ 4 ปีที่แล้วเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่องค์กรลุ่มแม่น้ำโขงและคณะกรรมธิการแม่น้ำโขงเผชิญอยู่ และทำการตกลงหาหนทางที่ดีที่สุดเพื่อจะจัดการปัญหาเหล่านี้
แอม เทรมเด็ม ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า ประเทศกัมพูชาและเวียดนามไม่เคยเห็นชอบกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่ประเทศลาวยังคงเดินหน้าต่อไปในการก่อสร้างเขื่อน โดยปราศจากการเห็นชอบจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีทำให้ความชอบธรรมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ถูกต้องด้วยกฎหมายอ่อนแอลงอย่างร้ายแรง และคุกคามต่อความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงามของแม่น้ำโขงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
ซึ่งอาจทำให้กว่าหลายล้านชีวิตต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นการประชุมแม่น้ำโขง (The Mekong Summit)ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับประเทศกัมพูชาและเวียดนามในการแสดงท่าทีที่หนักแน่นและบอกถึงความกังวลของพวกเขาออกไปให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันอย่างชัดเจนก่อนที่มันจะสายเกินไป
ซึ่งจากข้อมูลของบริษัท Pöyry บริษัทที่ปรึกษาจากประเทศฟินแลนด์ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษากับประเทศลาวด้านวิศวกรรมเขื่อน ระบุเขื่อนเล็กกั้นลำน้ำชั่วคราวเพื่อใช้เบนทิศทางการไหลของแม่น้ำจากสถานที่ก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำจะถูกสร้างขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงโดยตรงครั้งแรกต่อพื้นท้องน้ำในช่วงฤดูแล้ง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถฟื้นคืนสภาพกลับมาได้อีก”
“ประเทศไทยอยู่ในรายชื่ออันดับต้น ๆ ที่จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งใช้งบประมาณการก่อสร้าง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มธนาคารของประเทศไทย 6 แห่งกำลังให้การสนับสนุนเงินทุนโครงการเขื่อนไซยะบุรี แม้โครงการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงความไม่แน่นอนในด้านผลกำไรจากโครงการนี้” แอม กล่าว
ด้านมาร์ก กอยชอท ผู้นำด้านไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก เกรทเตอร์ แม่โขง กล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะหยุดเขื่อนที่จะสร้างความหายนะนี้ ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้าอย่างไม่สามารถฟื้นคืนสภาพได้อีก โดยประเทศไทยจะต้องวางตัวอย่างมีความรับผิดชอบและยกเลิกข้อตกลงการซื้อพลังงานไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร จนกว่าจะมีฉันทามติจากประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับเขื่อนที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก และหากธนาคารทั้ง 6 แห่ง ของประเทศไทยพิจารณาทบทวนการประเมินความเสี่ยงต่างๆ และให้คุณค่ากับชื่อเสียงของธนาคารในระดับนานาประเทศ รวมทั้งผลตอบแทนทางการเงินแล้ว พวกเขาคงจะถอนตัวออกจากโครงการนี้
ในปฏิญญาร่วมนี้ องค์กรต่างๆ ยอมรับร่วมกันว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นหนึ่งในเขื่อนที่จะก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงที่สุดในบรรดาเขื่อนที่กำลังก่อสร้างทั่วโลก ถือเป็นภัยร้ายแรงที่สุดสำหรับประเทศที่มีพรมแดนร่วมกัน ทั้งในแง่ของความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความร่วมมือระดับภูมิภาคในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ยังไม่ถึงมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติอีกด้วย
สำหรับการตรวจสอบเขื่อนไซยะบุรีของผู้เชี่ยวชาญ มาร์ก ระบุว่า มีช่องโหว่ที่สำคัญด้านข้อมูลและจุดอ่อนหลายประการ เกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของปลาที่วางแผนไว้สำหรับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญยืนยันแล้วว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีจะกีดขวางการไหลเวียนของตะกอนส่วนหนึ่ง ซึ่งจะลดความมั่นคงของระบบนิเวศของแม่น้ำที่เกษตรกร ชาวประมง และอีกหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจต้องพึ่งพา .