กสร.ประเมินข้อดี-เสียขึ้นค่าแรง 300 ปลัดแรงงานยันบอร์ดค่าจ้างไร้การเมืองแทรก
กรมคุ้มครองแรงงานเผยข้อดีขึ้นค่าแรงยกคุณภาพชีวิต-ดึงคนนอกระบบเข้าตลาดแรงงาน-ลดจ้างต่างด้าว ส่วนข้อเสียนักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เตรียมมาตรการรองรับกลุ่มเสี่ยงตกงาน ด้านปลัดแรงงานแจงการเมืองไม่แทรก เตรียมนำความเห็นค้าน ส.อ.ท.พิจารณาในบอร์ด
วันที่ 13 ก.ค. 54 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ด)กล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)มีมติคัดค้านนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย ว่าจะนำความเห็นไปประกอการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้างกลางซึ่งอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างต้องใช้ความละเอียดและรอบคอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของบอร์ดกลางถูกการเมืองแทรกแซงหรือไม่ นายสมเกียรติ กล่าวว่าขอยืนยันว่าการทำงานของบอร์ดค่าจ้างกลางในระบบไตรภาคีมีความเป็นอิสระ การพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องจบลงที่บอร์ดซึ่งมีกฎหมายรองรับ
“ส่วนข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการกู้ไปจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ300 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยและผ่อนส่งระยะยาวนั้นเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการหารือ แต่หากทำจริงต้องใช้งบมหาศาล ส่วนของกระทรวงแรงงานเห็นว่าไม่ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่าใดก็ต้องมีการพัฒนาทักษะฝีมือให้ทำงานได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร” นายสมเกียรติ กล่าว
วันเดียวกัน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร กสร.ว่าที่ประชุมได้วิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยข้อดีจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งส่วนใหญ่ยากจน แลการปรับขึ้นค่าจ้างที่ผ่านมายังไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ระบุว่าแรงงานที่อยู่ในระบบซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกว่า 9 ล้านคน จำนวนนี้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5 ล้านคน ถือเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังเดือดร้อน
นอกจากนี้ข้อดีคือยังช่วยลดภาวะการขาดแคลนแรงงาน โดยจะช่วยจูงใจให้แรงงานที่หลุดออกไปนอกระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ผู้ประกอบอิสระอื่นๆเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยให้การจ้างงานแรงงานต่างด้าวลดลง เนื่องจากนายจ้างจะหันมาจ้างคนไทยมากกว่าในอัตราค่าจ้างเดียวกัน ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบุคคลธรรมดา รวมทั้งส่งผลให้กองทุนประกันสังคมสามารถเก็บเงินสมทบได้มากขึ้น
นางอัมพร กล่าวว่า ส่วนข้อเสียหรือผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ บริษัทต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า แต่จะเหลือสถานประกอบการที่มีคุณภาพอยู่ ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น ลูกจ้างที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นสถานประกอบการที่เน้นใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า เครื่องหนัง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานบางประเภท มีสถานประกอบการ 12,839 แห่ง และมีลูกจ้างทั้งหมด 588,000 คน
ในจำนวนแรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบคาดว่ามีประมาณ 20% ทั้งนี้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน เนื่องจากต้นทุนค่าแรงของไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
อธิบดี กสร. กล่าวว่า กสร.ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่มาก โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเสี่ยงจะใช้มาตรการแรงงานสัมพันธ์เข้าไปช่วยเหลือไกล่เกลี่ย ทั้งในด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เช่น ชดเชยการถูกเลิกจ้าง ชดเชยการว่างงาน รวมทั้งการเข้าไปพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในส่วนของลูกจ้างก็ต้องพัฒนาทักษะฝีมือให้ผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน .
ที่มาภาพ : http://www.tvburabha.com/tvb/home/program_detail.asp?id=348