หนทางสู่การสิ้นสุดตำแหน่ง "ยิ่งลักษณ์ -ครม.ทั้งคณะ" ฉบับ ส.ว.ไพบูลย์
“..อย่าลืมว่า นายกฯ มีสถานะ เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีด้วย แล้วเมื่อนายกฯ ยุบสภา ก็พ้นจาก ตำแหน่ง แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะยังมีสถานะเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าพ้นตำแหน่งนายกฯ รักษาการ ก็จะเกิดสุญญากาศในตำแหน่งทันที.."
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ร่วมกับ ส.ว. อีก 28 คน เข้าชื่อต่อประธานวุฒสภา ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 วรรค ( 7 ) ประกอบมาตรา 268 นั้น
( อ่านประกอบ :เปิดคำร้อง “ยิ่งลักษณ์” ฝ่าฝืน รธน.กรณีโยกย้าย “ถวิล” ฉบับ "ส.ว.ไพบูลย์" )
เมื่อเร็วๆ นี้ นายไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงกระบวนการในการเตรียมการ วิเคราะห์ข้อกฎหมายต่างๆ ที่นำมาสู่การยื่นคำร้องถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้ต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่
โดยเหล่านี้ คือ กระบวนการ ขั้นตอน และแนวทางข้อกฎหมายที่นายไพบูลย์ศึกษาเป็นลำดับขั้น ก่อนตัดสินใจยื่นถอดถอนนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีการเลือก นายกฯ เฉพาะกาล
1.ที่มาของการยื่นคำร้อง
นายไพบูลย์อธิบายถึง เหตุผลในการเตรียมคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า
“จริงๆ แล้ว ผมรับรู้อยู่ว่าปัญหาของประเทศไทย ปัจจุบันคือปัญหาการเมืองล้มเหลว ปัญหาทั้งการทุจริต คอร์รัปชั่น มากมาย การเลือกตั้งก็ถูกบิดเบือนไปหมดแล้ว มีการทุจริตการเลือกตั้ง มีการฉ้อฉลในระบบราชการ ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปแล้ว ผมมองว่าปัญหาทั้งหลายเกิดมาจากรัฐบาล ปัจจุบันนี้ ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ถูกทำให้กลายเป็นการทุจริตที่มโหฬาร ซับซ้อนขึ้นมากมาย ดังนั้น ปัญหาการเมือง ตอนนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ และคุณทักษิณที่ทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองที่มีเจ้าของคนเดียว ซึ่งในที่นี้ ไม่ได้ หมายถึงเฉพาะพรรคคุณทักษิณ แต่รวมถึงพรรค อื่นๆ ที่อยู่ที่ จ.ชลบุรี จ.สุพรรณบุรี ด้วย การแก้ไข ต้องแก้ทั้งพรรคที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคใหญ่คือเพื่อไทย”
2. แนวทางการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย
นายไพบูลย์กล่าวถึง การวิเคราะห์ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เข้าข่ายให้ สว. สามารถยื่นถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ว่า
“ผมดูแล้ว คุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีทีท่าจะเสียสละหรือลาออก ผมติดตามดูตั้งแต่ตอนการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนในช่วงแรกๆ แล้ว ก็มองดูว่าจะทำอย่างไรให้คุณยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไป หลายๆ ฝ่าย ก็คาดหวัง เรื่องทุจริตจำนำข้าว หรือเรื่องต่างๆ เช่น การเปิดสภาไม่ได้ภายใน 30 วัน แต่ผม ดูข้อกฎหมาย แล้ว สิ่งเหล่านั้น ก็ยังไม่สามารถทำให้พ้นตำแหน่ง ยังไม่สิ้นสุดการเป็นนายกฯ เพราะเขาก็จะให้รองนายกฯ รักษาการยื้อเวลาต่อไปเรื่อยๆ จนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปัญหาก็กลับมาเหมือนเดิม ก็ไม่ได้ปฏิรูปประเทศ ดังนั้น จะทำอย่างไร เรื่องเปิดสภาไม่ได้ใน 30 วัน ก็เลยไม่มีนายกฯ ใน 30 วันต่อมานั้น ก็มีคนเสนอว่า ต้องให้รมต. รักษาการทั้งคณะ หมดสภาพไป เพื่อเปิดทางให้มี นายกฯ คนกลางขึ้น ผมก็มาดูว่า เหตุเปิดสภาไม่ได้ใน 30 วัน เป็นเหตุให้ ครม. ทั้งคณะ สิ้นสุดสภาพลงหรือไม่
“หรือ มีกฎหมายข้อไหนที่จะสามารถยื่นต่อศาลเพื่อให้ ครม. พ้นทั้งคณะหรือไม่ เมื่อดูแล้ว ก็ไม่มีเหตุเลย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่า ให้ ครม. พ้นตำแหน่ง หากไม่สามารถเปิดสภาได้ใน 30 วัน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ครม.รักษาการ ก็พ้นตำแหน่งไม่ได้ เขาก็ต้องอยู่ไม่มีทางที่จะพ้นไปได้ แม้ ไม่มีนายกฯ ก็ยังมีรองนายกฯ คนที่ 1 คนที่ 2 หรือ รมต.รักษาการ คนใดคนหนึ่งขึ้นมารักษาการ รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีช่องว่าง ดังนั้น การที่จะไม่มี ครม. หรือ ครม. เป็นสุญญากาศนั้น เป็นไปไม่ได้เลย แต่การจะให้ ตำแหน่ง นายกฯ เป็นสุญญากาศนั้น มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 182
3. ขั้นบันได สู่การสิ้นสุดตำแหน่ง
“อย่าลืมว่า นายกฯ มีสถานะ เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีด้วย แล้วเมื่อนายกฯ ยุบสภา ก็พ้นจาก ตำแหน่ง แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะยังมีสถานะเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้าพ้นตำแหน่งนายกฯ รักษาการ ก็จะเกิดสุญญากาศในตำแหน่งทันที หากเป็นเช่นนั้น จะเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 182
ทั้งนี้ มาตรา 182 เขียนไว้ว่าความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ ( 1 ) ตาย ( 2 ) ลาออก ( 3 ) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกฯ ( 4 ) สภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่ไว้วางใจ ตามาตรา 158 หรือ 159
( 5 ) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักกษณะต้องห้าม ตามมาตรา 174
( 6 ) มีพระบรมราชโองการมหเพ้นจากความเป็นรัฐมนนตรี ตามมาตรา 183
และวงเล็บสุดท้าย บัญญัติว่า วุฒิสภา มีมติ ตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เหล่านี้ นายไพบูลย์เห็นว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย แต่ข้อที่เป็นไปได้ คือ วงเล็บ ( 7 ) ของ มาตรา 182 ที่ระบุว่า กระทำการอันต้องห้าม ตามาตรา 267 มาตรา268 หรือมาตรา 269
“ทำอย่างไร คุณยิ่งลักษณ์ จะสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 182 เมื่อไปดูแล้ว เขาก็มีคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีครบ ยังไม่เข้าข่ายอะไร แต่เราก็พบว่า วงเล็บที่ (7) คือการกระทำอันต้องห้าม ตามมาตรา267 มาตรา 268 มาตรา 269 นี่น่าสนใจ
เพราะ มาตรา 268 กรณีแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ ผมจำได้ว่า เคยมีเรื่อง นายกฯ โยกย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี พ้น ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. อย่างไม่เป็นธรรม"
4. ล็อคเป้า ตามมาตรา 268
นายไพบูลย์ อธิบายว่า มาตรา 268 บัญญัติว่า นายกฯ และรัฐมนตรี จะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 266 ตามที่ถูกระบุไว้ใน มาตรา 268 ก็คือ
“สส. สว. จะแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ คือ แทรกแซงไม่ได้ ดังนั้น การไปย้าย คุณถวิล เปลี่ยนศรีนั้น มีเหตุผลเดียวคือ ให้ คุณเพรียวพันธ์ ดามมาพงศ์ มาเป็น ผบ.ตร. นี่อยู่ในคำพิพากษา ศาลปค กลาง ผมว่าประเด็นชัดแล้ว ตอนนั้น ผมก็เหลือแค่รอดูว่าศาลปกครองสูงสุดจะยืนตามศาลปกครองกลางหรือเปล่า ถ้ายืนตาม ก็ชัดเลย ประเด็นก็เข้า ซึ่งในที่สุด คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยิ่งให้ความสำคัญมาก เพราะคดีนี้เข้าไปถึงการพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ เมื่อคำตัดสินออกมา ก็ยืนตามศาลปกครองกลางเกือบทั้งหมด
"เมื่อคำพิพากษายืนตาม เราดูแล้วก็เข้าองค์ประกอบในมาตรา 91 ที่ให้สส. สว. เข้าชื่อยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญ ได้ ซึ่งแม้ ส.ส. ไม่มี แต่ ส.ว. เรายังอยู่ เราก็เข้าชื่อ 27 คน ส่งผ่านประธานวุฒิสภา เขาใช้เวลาดูประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ยื่นต่อไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ"
5.บทสุรปคำร้อง
"คำร้องที่เรายกขึ้นมา มีสาระใหญ่ คือ เราใช้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นหลักฐานสำคัญ และมีภาพข่าวการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่คุณยิ่งลักษณ์ นั่งเป็นประธานในที่ประชุม"
นายไพบูลย์กล่าวว่า สาระสำคัญประเด็นแรกคือการ อธิบายว่า การที่นายกฯ พ้นตำแหน่ง เพราะยุบสภา นั้น มันหมายความว่านายกฯ ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอยู่ ดังนั้น จึงยังมีสถานะของการเป็น "รัฐมนตรี" อยู่ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในตำแหน่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบ
"และเมื่อเราตรวจสอบว่าพบว่ามีการกระทำผิด เราก็ยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ"
สาระสำคัญข้อ 2 เป็นเรื่อง คดีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยเฉพาะ
“คือเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้ว ว่าไม่ใช่การแต่งตั้ง โยกย้าย ที่เป็นไปตามการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเป็นการกระทำ โดยไม่ชอบ เป็นไปเพื่อให้ ผู้อื่นมาดำรง ตำแหน่ง ผบ.ตร คือแม้ศาลไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่เป็นอันรู้กันว่าเพื่อให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์มานั่ง ผบ.ตร.
เพราะฉะนั้น กรณีนี้ ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ ย้าย คุณถวิล โดยไม่ใช่คุณเพรียวพันธ์มานั่งเป็น ผบ.ตร. จะไม่เข้าข่าย ไม่ผิดตามมาตรา 266 เลย แต่นี่ เห็นได้ชัดว่าเป็นการแต่งตั้ง โยกย้าย เพื่อประโยชน์ตนเอง คือเพื่อให้เครือญาติตนเข้ามา"
“ผมก็อ้างคำพิพากษา ของศาลปกครอง สูงสุดเป็นหลัก แล้วก็ทำคำฟ้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องนี้ว่า ให้ความเป็นรัฐมนตรีของคุณยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง เพราะการกระทำอันต้องห้ามก็ถือว่าคุณต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีคดีอาญา ไม่ไปฟ้องอะไรต่อทั้งสิ้น เราก็มองว่าเป็นผลดีกับคุณยิ่งลักกษณ์ด้วย ที่จากนี้ เราจะได้เดินหน้า เลือกตั้งนายกฯ คนใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคท้าย ที่เปิดทางให้มีนายกฯ เฉพาะกาลขึ้นมา จากนั้นก็เดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศ”
เหล่านี้ คือเบื้องหลัง ที่มา ก่อนที่จะนายไพบูลย์ และ สว. อีก 27 คนจะยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นประเด็นร้อน ที่จะชี้เป็นชี้ตาย ให้กับ นายกฯ รักษาการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ครม.รักษาการ ทั้งคณะ ได้เร็วและแรงยิ่งกว่าคดีทุจริต จำนำข้าวในมือ ป.ป.ช.
ภาพประกอบจาก www.tnews.co.th