ยกเครื่องการศึกษาไทย ‘ชัชวาลย์’ ชี้ต้องกระจายอำนาจปฏิรูปงบ-สมรรถนะ-ตรวจสอบ
เวทีขับเคลื่อนการศึกษาไทย ‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ชี้ต้องกระจายอำนาจมากำหนดยุทธศาสตร์ปฏิรูปงบประมาณ-สมรรถนะ-ความรับผิดชอบตรวจสอบ ระบุพร้อมเดินหน้าเอง ไม่รอรัฐบาลใหม่ ดันเป็นวาระแห่งชาติ เผยคะแนนโอเน็ตต่ำกว่าครึ่งทุกวิชาเว้น ‘สุขศึกษา’ ยากจะแก้ไข หากไม่ชี้วัดตามสภาพจริง
วันที่ 28 มีนาคม 2557 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย จัดเวทีระดมความคิดเห็นรวบรวมข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 5:เวทีกลุ่มโรงเรียนเอกชน โดยมีผู้แทนจากสถาบันการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา และการศึกษาทางเลือก เข้าร่วมประมาณ 30 คน ณ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีมีข้อสรุปเบื้องต้นเห็นควรให้ปฏิรูปนโยบายการศึกษาของรัฐบาล โดยใช้แผนการศึกษาชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวขับเคลื่อน จัดตั้งสภาการศึกษาเอกชนทำงานควบคู่กับรัฐบาลขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายให้ตรงตามเป้าหมายตามมาตรฐาน
นอกจากนี้ควรอนุมัติงบประมาณรายหัวเด็กโดยใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนมากขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่วนกรณีครูผู้สอนที่ขาดทักษะการเรียนรู้ ไม่มีจิตวิญญาณการเป็นครูนั้น จะต้องจัดตั้งมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติ เช่น วิทยาลัยครูในอดีต พร้อมกันนี้ ต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างคิดวิเคราะห์ด้วย โดยเฉพาะด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น
สำหรับการประเมินผลควรเป็นไปตามสภาพจริง โดยการยึดมาตรฐานการศึกษาระดับชาติและสากล เพื่อให้เกิดการยอมรับ อย่างไรก็ตาม ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้ออกข้อสอบส่งไปที่ส่วนกลาง เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกทดสอบได้ และก็จะสามารถชี้วัดความรู้ได้จากการเรียนมิใช่กวดวิชา
ทั้งนี้ ในการจัดเวทีการขับเคลื่อนทั้งหมด 9 ครั้ง จะรวบรวมเพื่อการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในเวทีใหญ่ต่อไป ในวันที่ 24 เมษายน 2557 ณ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จต้องนำเรื่อง ‘การกระจายอำนาจ’ มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อการศึกษา ปฏิรูประบบการสร้างสมรรถนะ และปฏิรูปความรับผิดชอบตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้บริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ประเมินผล และงบประมาณแบบเดียว รวมถึงทำหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่เชื่อว่าแนวทางแบบเดิมไปไม่รอด
“การกระจายอำนาจเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ละกลุ่มได้ขับเคลื่อนกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ท้องถิ่น หรือการศึกษาทางเลือก แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาติดขัดทางนโยบาย เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่”
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนแนวทางครั้งนี้จะไม่รอรัฐบาลใหม่ แต่เราจะเดินหน้าลงมือทำกันเอง ด้วยการจับมือจากภาคส่วนต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 แต่อาจจะมีแนวทางบางส่วนจำเป็นต้องเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ และสุดท้ายจะร่วมเคลื่อนไหวกับภาคสังคมเพื่อผลักดันสู่การเป็นวาระแห่งชาติ และเราเชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาจะดีขึ้นกว่าเดิม
เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ยังกล่าวถึงกรณีผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ต่ำกว่าครึ่งทุกวิชา ยกเว้น ‘สุขศึกษาและพละศึกษา’ ว่าไม่สามารถจะแก้ไขได้ หากการบริหารจัดการศึกษายังเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นเราต้องยอมรับก่อนว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหามาก โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งไทยมีโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มทางการศึกษาที่หลากหลาย ฉะนั้นจะใช้ข้อสอบโอเน็ตวัดความรู้จึงไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากข้อสอบลักษณะนี้เป็นเพียงตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการเท่านั้น แต่ไม่ได้ชี้วัดผลด้านทักษะชีวิต จิตอาสา หรือความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นหากต้องการแก้ไขปัญหาจะต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประเมินผลตามสภาพจริงของนักเรียนและบริบทของโรงเรียนแต่ละพื้นที่มากกว่า ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย
เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรกรณีผู้สอนให้เวลาทำผลงานมากกว่าสอนนักเรียน นายชัชวาล ระบุว่า กรณีนี้เพื่อปรับเงินเดือนและตำแหน่งที่มากขึ้น แต่หากต้องการแก้ปัญหาจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ให้ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของนักเรียน หากนักเรียนมีคุณภาพดี ผู้สอนก็ควรได้รับการสนับสนุนหรือได้รับรางวัล แต่มิใช่ว่าผู้สอนมีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่นักเรียนจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ ฉะนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ให้คุณภาพของนักเรียนเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพผู้สอนแทนการทำผลงาน .