สามคำถามสำคัญ...สาเหตุที่ไม่ควรเร่งดัน "นครปัตตานี"
ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันทั่วไปทั้งในและนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการผลักดันนโยบาย “ดับไฟใต้” ของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ที่น่าจะนำโดยพรรคเพื่อไทย ว่าจะเดินหน้ากันอย่างไรกับจุดขายที่เคยหาเสียงเอาไว้ คือ “นครปัตตานี” หรือการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ให้รวมพื้นที่สามจังหวัด คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเขตปกครอง แล้วให้ประชาชนเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนคร” โดยตรง
และเมื่อมีองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ก็ให้ยุบองค์กรที่รับผิดชอบปัญหาเดิมซึ่งจัดตั้งโดยส่วนกลาง คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ปัญหาก็คือแม้พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งทั่วประเทศแบบทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งสำคัญด้วยจำนวน (ว่าที่) ส.ส.มากกว่า 100 ที่นั่ง แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการผลักดันนโยบายนี้ กลับพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์แบบ 9:0 กล่าวคือผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้ง 9 เขตจาก 11 เขต ส่วนอีก 2 เขตก็ไม่ใช่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่เข้าป้าย แต่เป็นผู้สมัครจากอีก 2 พรรคการเมืองที่ไม่มีชื่อเข้าร่วมรัฐบาล
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ชูธง “ไม่เอานครปัตตานี” และสนับสนุนให้ใช้กลไก ศอ.บต.แก้ไขปัญหาต่อไป...
หลายเสียงถามหาความชอบธรรมของการเดินหน้า “นครปัตตานี” โดยอธิบายจากผลการเลือกตั้งอันเสมือนเป็น “ฉันทามติ” จากคนในพื้นที่เอง
แต่กลุ่มผู้สนับสนุน “นครปัตตานี” และ “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ยังคงยืนยันว่าผลการเลือกตั้งหาใช่เป็นฉันทามติของประชาชนสามจังหวัดไม่ นักรัฐศาสตร์บางท่านถึงขนาดนำคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละเขตจากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์มานับรวมกัน แล้วบอกว่ามีคะแนนมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์เกือบทุกเขต แสดงว่าผู้คนส่วนใหญ่จากสามจังหวัดใต้สุดของประเทศ ไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง!!!
ลองมาฟังความเห็นจากนักวิชาการที่ไม่ได้ร่วมวง “หนุน” หรือ “ค้าน” นครปัตตานี แต่เฝ้ามองความเป็นไปของพื้นที่อยู่เงียบๆ อย่าง ผศ.เอกฉัตร วิทยอภิบาลกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฎยะลา กันบ้าง ว่าเขามีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงเหล่านี้อย่างไร
O การที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.ในพื้นที่นี้เลยแม้แต่คนเดียว สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง?
คือเราต้องตั้งหลักกันก่อนว่า กระแสของการเลือกตั้งมันมีอยู่หลายกรณี หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระแสเกี่ยวกับสถาบัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีพี่น้องประชาชนชาวไทยหลายคนไม่พอใจบทบาทของบางคน บางกลุ่ม บางภาคส่วนที่แสดงออกมาในลักษณะกระทบสถาบัน ประการต่อมาก็เป็นกระแสที่เรียกกันว่า “พรรคนิยมทางการเมือง” ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ เหมือนภาคใต้ของเรา พรรคประชาธิปัตย์ครองคะแนนนิยมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา
อีกประการหนึ่งที่มีผลมากในพื้นที่ คือเรื่องนโยบาย เราอาจจะเรียกว่าเป็นการแข่งขันในเชิงนโยบายก็ได้ และก็เป็นนโยบายที่กระทบต่อพี่น้องสามจังหวัดโดยตรงด้วย ที่เราเห็นชัดที่สุดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือนโยบายระหว่างการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ กับนโยบายที่ใช้ระบบเดิม คือ ศอ.บต. เพื่อเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ คราวนี้มันมีสองกระแสให้พี่น้องประชาชนพิจารณาว่าจะเอาอย่างไร ระหว่างการปกครองตนเองกับการปกครองในรูปแบบเดิมที่ใช้กระแสเดิมในการพัฒนา
ผลการเลือกตั้งก็ได้แสดงออกมาและเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พี่น้องส่วนหนึ่งอาจจะไม่สบายใจ ซึ่งส่วนหนึ่งที่ว่านี้ไม่ใช่คนจำนวนน้อย แต่ค่อนข้างจะมากอยู่พอสมควรที่เขาไม่สบายใจกับข้อเสนอการจัดรูปการปกครองแบบใหม่ นั่นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.เลย รวมทั้งกลุ่มวาดะห์ด้วย
O การแพ้การเลือกตั้งของอดีต ส.ส.กลุ่มวาดะห์ อธิบายได้อย่างไร?
ถ้าเราเอาหลักการพื้นฐานมาพิจารณาก่อนก็จะพบว่า ในอดีตนั้นพี่น้องประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างยากจน และไม่ตื่นตัวเรื่องการศึกษา พี่น้องเรามาตื่นตัวทางการศึกษาเอาจริงๆ ประมาณปี 2537-2538 มีการส่งลูกส่งหลานเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก มีการเปิดสถาบันอุดมศึกษามากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนสามจังหวัดมีการศึกษาดีขึ้น เมื่อการศึกษาดีขึ้นก็สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่โตขึ้นตาม ปัจจัยการผลิตหลักของพื้นที่คงหนีไม่พ้นสินค้าเกษตร ซึ่งพี่น้องส่วนใหญ่ในอดีตได้รับผลกระทบ แต่วันนี้มันดี มันจึงแปรเปลี่ยนไป
พอสภาพมันเปลี่ยนไปจากเดิม ในอดีตพี่น้องประชาชนหวังพึ่งเพียงผู้นำที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มเขา เชื่อว่าผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำของเขาเข้ามาแก้ปัญหาปากท้องหรือแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ของเขาได้ แต่วันนี้ด้วยสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้วิธีคิดทางการเมืองของคนในพื้นที่เปลี่ยนตาม นี่คือจุดที่เห็นได้ชัด
ในอดีตที่ผ่านมาเราต้องยอมรับกลุ่มวาดะห์ครองเสียงข้างมากมาโดยตลอด ไม่ว่าจะแบ่งเขตอย่างไร วาดะห์ก็ครองเสียงข้างมาก แต่วันนี้เราเห็นได้ชัดว่าการที่วาดะห์ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย มันสะท้อนว่ากลุ่มอำนาจเก่าในพื้นที่คงไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ มาร้องขอคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชนได้อีกแล้ว ด้วยการศึกษาที่เปลี่ยนไป และด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้พี่น้องประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น คนที่มีคุณภาพในพื้นที่ก็มากขึ้น มีคนหน้าใหม่ๆเข้ามา ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน
O เมื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะว่าที่รัฐบาลใหม่ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ชายแดนใต้เลย แล้วจะผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ได้อย่างไร?
ถึงแม้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ แต่เขาก็มีคณะทำงานของเขาอยู่ ดังนั้นจะบอกว่าเมื่อไม่มีผู้แทนก็จะไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้...คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะรัฐบาลเป็นรัฐบาลของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือของภาคใดภาคหนึ่ง ดังนั้นการมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหา มุ่งหวังที่จะพัฒนา มันต้องเป็นการมุ่งหวังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาชายแดนใต้ที่มีความรุนแรงยาวนานกว่า 7 ปี ไม่มีรัฐบาลชุดไหนเลยที่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด
ดังนั้นผมก็ยังคาดหวังว่ารัฐบาลชุดที่กำลังจะตั้งขึ้นนี้จะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ถึงแม้พรรคตัวเองจะไม่มีผู้แทนในพื้นที่เลย แต่ด้วยความที่ว่ายังมีคณะทำงาน ยังมีสมาชิกพรรค รวมถึงการประสานงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และภาคประชารชน ก็น่าเชื่อว่าถ้ารัฐบาลอาศัยกลไกเหล่านี้ สถานการณ์ในพื้นที่ก็จะขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็น่าจะคลี่คลาย นี่คือความคาดหวัง
O แล้วนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างนครปัตตานีล่ะ จะเดินหน้าได้หรือไม่?
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การปกครองรูปแบบพิเศษส่วนใหญ่ใช้กับเมืองเศรษฐกิจหรือเมืองท่องเที่ยว ฉะนั้นถ้าเรามาจัดการในพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรงอยู่ ขอเน้นคำว่าปัญหาความรุนแรงยังคงอยู่ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงตรงนี้ได้เลย เหมือนมาเลเซีย เขามีปัญหา จคม. (โจรจีนคอมมิวนิสต์) อยู่หลายสิบปี อังกฤษซึ่งตอนนั้นปกครองมาเลเซียก็แก้ไม่ได้ แม้กระทั่งยุคที่ประกาศเอกราชแล้ว เขาก็ยังใช้กฎหมายการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อลดปัญหาความรุนแรงลงก่อน หลังจากที่ปัญหาจบ ถึงจะเดินหน้าพัฒนาประเทศในกลไกปกติ
ของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไม่สามารถปลดชนวนปัญหาความรุนแรงได้ แล้วอยู่ดีๆ จะให้พี่น้องประชาชนปกครองตนเอง ผมว่าสิ่งนี้จะเป็นอันตราย กลัวเป็นอย่างยิ่งว่าจะไปสร้างปัญหาและสร้างความขัดแย้งให้กับพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเด็นนี้อยากจะฝากว่าถ้ารัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งตอนนี้ผมเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องน่าห่วง แต่เป็นปัญหาความรุนแรง ทั้งพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐต้องมาเสียชีวิตจำนวนมาก ประชาชนยังขัดแย้งกัน ยังหวาดระแวงต่อกัน ถ้าเรายังแก้ตรงนี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะเดินหน้าต่อไปตามนโยบายจัดการปกครองรูปแบบใหม่
O แล้วความชอบธรรมในการผลักดันนโยบายของพรรคเพื่อไทย ยังคงมีอยู่หรือไม่?
ถ้าเราเอากระแสของพี่น้องประชาชนเป็นตัววัด เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เลือกประชาธิปัตย์ ก็ต้องยอมรับว่าพี่น้องประชาชนคงไม่สบายใจกับนโยบายที่ใช้หาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเขาอาจจะไม่เอาด้วย แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้วมีคนเอาด้วยไหม ต้องตอบว่ามี แต่คนส่วนใหญ่เขาสบายใจหรือเปล่าเมื่อเขาได้ยิน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ก็แสดงว่าเขาคงไม่สบายใจ
มันมีปัจจัยอย่างน้อยๆ 3 ข้อที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และเกิดคำถามว่าควรจะผลักดันต่อไปหรือไม่ คือ 1.ความรุนแรงยังไม่จบ คุณจะไปปกครองตนเองอย่างไรท่ามกลางความหวาดกลัวของประชาชน 2.เมื่อคุณปกครองตนเองแล้ว งบประมาณที่ต้องพึ่งพิงพึ่งพาจากภาครัฐหรือรัฐบาลกลางมันจะต้องลดลง แล้วคุณจะอยู่อย่างไร จะบอกว่าเก็บภาษีจากพี่น้องประชาชนที่เพิ่งลืมตาอ้าปากได้จากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นไม่กี่ปีนี้หรือ
3.การเมืองบ้านเรายังไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดที่ดีอย่างมีนัยสำคัญว่า วันนี้ประชาชนในพื้นที่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง หรือถ้ามีก็น้อยที่สุด เรายังไม่มีตัวชี้วัดตรงนั้น ผมว่าเมื่อการเมืองการปกครองยังไม่ชัด อยู่ดีๆ จะให้มาปกครองตัวเองผมคิดว่าเดี๋ยวก็จะเกิดปัญหาใหม่
ผมว่าดีที่สุดตอนนี้อย่าว่าแต่พับโครงการหรือพับนโยบายไปก่อนเลย ผมว่าถ้าเป็นไปได้ให้เลิกไปเสีย เพราะไม่อยากให้สร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก ในอดีตพี่น้องประชาชนในพื้นที่อยู่กันแบบสบายๆ ภายใต้การปกครองเดิมอยู่แล้ว แต่วันนี้มีปัญหาอะไรที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ควรกลับไปหาต้นเหตุเสียก่อน เมื่อรู้ต้นเหตุแล้วก็มาปลดชนวนให้ได้ จะไปประสานอย่างไร ต่อรองอย่างไร เจรจากันอย่างไร พูดคุยกันอย่างไร ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าทำ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องทำ ก่อนที่จะพูดถึงการปกครองตนเองหรือการปกครองรูปแบบพิเศษ