‘นพ.มงคล ณ สงขลา’:ถ้าไม่แก้ให้คนมีสุขปฏิรูปประเทศจะไม่เกิดผล
"เราทำเพื่อคนยากคนจน เริ่มที่ให้คนมีความสุข สุขของคนเริ่มจากมีอยู่มีกิน ถ้าหนี้สินมีอยู่มาก ไม่พออยู่พอกิน การปฏิรูปถ้าไม่แก้เรื่องนี้ประเทศก็ไปไม่ได้"
วันที่ 27 มีนาคม 2557 สภาองค์กรชุมชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สภาองค์กรชุมชนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยจากฐานราก และการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล” ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ‘การปฏิรูปประเทศไทยจากฐานชุมชนท้องถิ่น’ ใจความว่า การพัฒนาจากฐานรากต้องมีความหลากหลาย มีความงดงาม โดยควรเริ่มจากชุมชน ในบริบทของชุมชน และคนที่ตัดสินคือชุมชน ซึ่งคำตอบสุดท้ายคือคำตอบของชุมชน ส่วนแนวความคิด เราจะพัฒนาอย่างไรนั้น ต้องยึดให้คนในชุมชนมีความสุข นี่คือจุดผลลัพธ์ที่สำคัญ ที่เราช่วยเหลือชุมชนเราช่วยเหลือให้เกิดสุขใน 2 สิ่ง 1. สุขกาย 2. สุขใจ โดยเป็นสุขที่เกิดจากอาหารการกิน อารมณ์ที่แจ่มใสจิตใจไม่โกรธ อิจฉาริษยา ไม่ขุ่นข้องหมองใจเป็นจิตประภัสสร ซึ่งมีกายเป็นเรือนหอของจิตที่เป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งหมดมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
“เราอยากให้คนสุขทั้งกาย ใจ เป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่คิดถึงระบบที่ครอบงำบุคคลนั้นอยู่ ถ้าสิ่งแวดล้อม ครอบครัว สังคมไม่ดีบุคคลก็ไม่มีความสุข อย่างวิกฤตการเมืองครั้งนี้ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ เช่น นโยบายรับจำนำข้าว นอกจากระบบต่าง ๆในชุมชนท้องถิ่น ยังรวมถึงระบบในระดับประเทศ หรือต่างประเทศที่มีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างประเทศพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา เมื่อรวยแล้วเอาประโยชน์ของตัวเอง เช่น เอฟทีเอ หรือการค้าเสรี ก็มีการเอาเปรียบกันมาโดยตลอด”
เราทำเพื่อคนยากคนจน เริ่มที่ให้คนมีความสุข สุขของคนเริ่มจากมีอยู่มีกิน ถ้าหนี้สินมีอยู่มาก ไม่พออยู่พอกิน การปฏิรูปถ้าไม่แก้เรื่องนี้ประเทศก็ไปไม่ได้ หรือหนี้สินที่เกิดจากเกษตรพันธะสัญญา อย่างไรก็ตามแต่ละตำบลมีสิ่งดี ๆ ที่ทำกันอยู่ เชื่อว่าทุกที่มีของดีไม่น้อยกว่า 20 อย่าง ถ้าเราไปแมทซิ่งกับการพออยู่พอกินกับเรื่องปากท้อง หาเหตุปัจจัยของการอยู่ดีมีสุขนั้นอย่างไร จะเกิดบทเรียนสอนตัวเอง ชุมชนมาคุยกันเอง แตกต่างกันตามบริบท ภาคเหนืออีสาน คล้ายกันในเรื่องของการรวมกลุ่มกันทำในสิ่งดีงามทำได้ง่าย ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก การรวมกลุ่มยากซึ่งก็เป็นไปตามบริบทวัฒนธรรม
อดีตรมว.สธ. กล่าวต่อว่า ชุมชนเข้มแข็งคือชุมชนที่จัดการตัวเอง คนในพื้นที่รวมตัวอย่างเข้มแข็ง และตัดสินใจการจัดการชีวิตได้ ซึ่งเป็นบทบาทของพวกท่านสภาองค์กรชุมชนตำบล การทำเพียง 1 ตำบล คงไม่เพียงพอ ต้องมีการเชื่อมกับตำบลอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด โดยชูสิ่งดี ๆ ขึ้นมา เราผู้ซึ่งเป็นสื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อม น่าจะจัดให้มีการศึกษาให้เกิดการกระจายไปหลายๆ พื้นที่ ระบบต่าง ๆ ทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ที่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ เขาก็สามารถบริหารจัดการกันตรงนั้นได้
“เราเริ่มจากชุมชนท้องถิ่น แต่ต้องไม่ลืมว่ามีระบบเหนือระบบคลุมอยู่ในชีวิต การที่เราจะช่วยให้ชุมชนมีความสุขอยู่ดีกินดีนั้น คนไทยต้องไม่ทอดทิ้งกัน ตามคำของอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม การที่เราจะปฏิรูปจากฐานราก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว โดยเริ่มจากสุขในเรื่องเศรษฐกิจ ปัจจัย 4 เป็นสิ่งสำคัญ และเราอย่าลืมระบบของระบบที่ครอบอยู่ ถ้าการเมืองไม่ดีจะกระทบต่อความเป็นอยู่มากมาย เราต้องช่วยกันซึ่งเป็นเพื่อนเราทั้งนั้น”
การทำงานเริ่มจากสุขของแต่ละคน สุขจากมีกิน มีการรวมกลุ่มที่หลากหลาย กระจายพื้นที่ เมื่อเข้มแข็งบริหารตัวเองได้ ไม่ว่ารัฐบาลท้องถิ่น ชาติ ต่างประเทศ ก็จะไม่มีใครทำลายตรงจุดนี้ได้ เริ่มจากการพัฒนา จาการปรับความอยู่ดีมีสุข เชื่อมโยงกัน เราพัฒนาที่ตัวเรา ชุมชน ท้องถิ่น บ้านพี่บ้านน้องก่อน ถ้าเริ่มจากการปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะกฏหมาย ระบบภายนอกชุมชนเป็นเรื่องผลประโยชน์ เพราะกฏหมายเพื่อรักษาประโยชน์ยิ่งมีกฏหมายมากชุมชนจะถูกกระทำมาก ถ้าเป็นหลักของชุมชน เป็นธรรมนูญ หรือสัญญาใจของคนในพื้นที่ช่วยกันคิดทำและร่วมรับประโยชน์ ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่ได้คุยกัน ประกาศให้ชุมชนอื่นรับรู้ สร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง นี่เป็นที่สำคัญยิ่งกว่ากฏหมาย ยิ่งกว่าการแก้ในเชิงโครงสร้าง .