เกษตรอินทรีย์ ทำไมหายหน้าไปไหนหมด
เกษตรอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์
ทำไมเธอหายหน้าไปไหนหมด ความทรงจำที่ไม่มีเหลือนี่แหละที่จะทำให้บ้านเมืองที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้แก่เรามันอาจจะหลุดมือไปก็ได้
เมื่อกล่าวถึงเกษตรอินทรีย์แล้วท่านอาจารย์ถึงได้พูดว่า “คุณมัวไปนอนหลับอยู่ที่ไหน?”
คำตอบ ก็เพราะเหตุว่าคุณเป็นคนลืมง่ายน่ะสิครับ เกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยนั้นเขาทำกันมาตั้งแต่ก่อนไก่โห่ แล้วตัวคุณเองนั่นแหละมัวไปอยู่ที่ไหนกัน
คำพูด ผมจำได้ว่าตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเด็กเล็กๆคนหนึ่ง ก่อนที่จะมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเสียอีก
แถวสนามเป้านี่แหละครับเป็นแดนเลย คนจีนมาอยู่กันแถวนี้แล้วทำเกษตรแบบอินทรีย์กันอย่างชัดเจน
ที่นาซึ่งมันมีดินเหนียว ทำให้น้ำระบายได้ยากและรากต้นไม้ก็เจริญได้ยากลำบากอีกด้วย คนจีนรู้จักทำดินให้มันโปร่ง การทำดินเหนียวให้มันโปร่งก็คือยกร่องระบายน้ำ เพื่อต้องการให้เนื้อดินมันระบายน้ำได้ดีขึ้น
ถ้ามันยังไม่ถึงขนาดก็ใช้วิธีเอาปูนขาวมาใส่เพื่อให้เนื้อดินมันโปร่ง เพราะเหตุว่าเนื้อดินเหนียวนั้นมันจับตัวกันแน่นทำให้เหนียวและการระบายน้ำเป็นไปได้ยาก อีกทำให้รากต้นไม้ไม่อาจเจริญลงไปในดินได้ดี
แถวสนามเป้านี่แหละครับ คนจีนมาทำสวนปลูกผักเขาใช้วิธียกร่องระบายน้ำ ส่วนในท้องร่องนั้นเขาเอาข้าวมาดำและเลี้ยงเป็ดเลี้ยงปลาเอาไว้ด้วย
ดินโปร่ง รวมทั้งน้ำที่มีคุณสมบัติเป็นด่างเล็กน้อยมันช่วยให้การระบายน้ำของดินดียิ่งขึ้น ส่วนการเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ก็ได้ขี้เป็ดขี้ไก่มาใส่ลงบนท้องร่องสวน คนแต่ก่อนถึงได้กินผักที่งามมาก เพราะใช้วิธีเกษตรอินทรีย์นี่แหละ
ขอโทษนะครับ คุณเดินไปเดินมาไม่ได้สังเกตให้ละเอียดถี่ถ้วน คงเอาแต่หาความเพลิดเพลินกับเรื่องอย่างอื่นใช่หรือเปล่า
ที่บ้านผมมาลงอยู่ในตรอกเศรษสิริก็เช่นกัน เราจะได้พบกับระบบการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ นี่แหละครูเราเองอยู่ที่ปากคอกแท้ๆ แต่ทำไมถึงได้ส่งคนไปเรียนเกษตรในอเมริกา แล้วเกษตรอินทรีย์ที่มันอยู่ใกล้ตัวที่สุดนี่แหละมันหายไปไหนครับ หรือว่าคนไทยเอาแต่สบายอย่างเดียว
นี่ก็มาตื่นตัวเรื่องการดำนาแบบโยน ผมรู้แล้วอดหัวเราะไม่ได้ คุณรู้หรือเปล่าว่าการดำนาแบบโยนนั้นมันมาจากไหน หรือว่าเขาบอกให้โยนก็โยนไปตามเรื่อง
เมื่อปี พ.ศ.2483 ผมเรียนเกษตรอยู่ที่แม่โจ้ นักเรียนมักถูกบังคับให้ลงทำนาตลอดทั้งวันนับตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงค่ำ ปวดหลังก็ปวดหลัง ในที่สุดเราก็เปลี่ยนวิธีการทำนามาเป็นการเล่นที่สนุกสนาน
พอครูเผลอแทนที่มือข้างซ้ายจะป้อนต้นข้าวให้มือข้างขวาจับดำลงไปในดิน เราก็ใช้มือซ้ายเหมือนกัน แต่ป้อนต้นข้าวให้มือขวาเอาดินเหนียวมาหุ้มที่โคนต้นแล้วโยนขึ้นไปบนท้องฟ้า เป็นที่สนุกสนานเฮฮากันอย่างเอิกเกริก แต่ระวังอย่าให้ครูเห็นนะ ถ้าขืนทำให้ครูเห็นจะโดนตัดคะแนนความประพฤติที่สุด
การเอากำข้าวมาจับด้วยดินเหนียวแล้วโยนขึ้นไปในอากาศคือการเล่นสนุกสนานของนักเรียนแม่โจ้ โดยแอบทำไม่ให้ครูเห็น เนื่องจากก้มหลังทำนาจนกระทั่งปวดหลังแล้ว
มาถึงช่วงนี้นิยมการดำนาแบบโยนข้าวขึ้นฟ้าแล้วเอาดินเหนียวหุ้ม ผมฟังแล้วอดหัวเราะไม่ได้ เพราะนั่นมันเป็นวิธีที่หลีกเลี่ยงการทำนาของนักเรียนแม่โจ้สมัยก่อน
สมัยนั้นคนทำผิดระเบียบแบบแผนจะถูกตัดคะแนนความประพฤติโดยไม่ไว้หน้าเลย หมายความว่า คนทำจะเป็นใครก็แล้วแต่ หากโดนตัดคะแนนต้องตัดกันจริงๆ จนกระทั่งหมดโอกาสในการเข้าเรียนช่วงหลังๆใช่หรือเปล่า
สมัยก่อนอยู่แม่โจ้เองอาบน้ำในบ่อขุด รางส่งน้ำชลประทานมันอยู่ข้างถนน หลังจากปล่อยน้ำมาเข้ารางแล้วจึงขุดบ่อดักน้ำขังไว้จนเต็ม
นักเรียนชอบแก้ผ้าอาบน้ำ ดังนั้นจึงลงไปแช่น้ำอยู่ในบ่อ บังเอิญน้ำมันใสทำให้คนที่ยืนอยู่ข้างบนแลเห็นหมด ครั้นนักเรียนคนที่ลงไปแช่น้ำรู้ว่าครูมายืนอยู่ข้างบน และเป็นครูผู้หญิงเสียด้วย เลยใช้วิธีเอามือสองข้างกวนน้ำให้มันขุ่น เพื่อจะได้ช่วยไม่ให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้ผืนน้ำ นี่แหละที่เป็นเรื่องตลกขบขันดีพิลึก
เหตุใดการทำนาหว่านน้ำตม เพราะช่วงนั้นคุณเผชิญ กาญจโนมัย ซึ่งเคยทำงานวิจัยช่วยผมในเรื่องข้าวอยู่นานเป็นปี พอผมขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีแล้วเธอก็มานั่งเกาะโต๊ะเสมือนจะขอร้องให้ผมสั่งทำนาหว่านน้ำตม
มานั่งอยู่นานเท่าไหร่ผมก็ไม่กลับ เพราะผมรู้ว่าการหว่านน้ำตมไม่ใช่พิธีกรรมขั้นพื้นฐานของชาวนาไทย ในที่สุดเธอก็รู้ว่าผมไม่ยอมทำให้ เธอจึงมาอ้อนวอนผมอยู่นาน การอ้อนวอนไม่ได้ทำด้วยปากแต่ใช้สายตา จนกระทั่งผมรู้ว่าเธอกำลังต้องการอะไรแน่
ตัวผมเองไม่ได้สั่งให้ทำนาหว่านน้ำตม เพราะรู้ว่าไม่ใช่วัฒนธรรมดั่งเดิมของไทย ในที่สุดเธอก็อ้อนวอนคนอื่นซึ่งผมไม่ทราบเลยว่าไปอ้อนวอนใคร แต่เรื่องนี้มันก็ผ่านไปแล้ว และทำกันอย่างสบาย
นั่นยังไง ผมพูดแล้วไม่ผิด พอทำนาหว่านน้ำตมสำเร็จ หอยเชอรี่มันก็ออกมาเพ่นพ่านอยู่ในท้องนาแทบจะเต็มไปหมด
หากจะถามว่าคนโบราณทำนาใส่ปุ๋ยด้วยหรือเปล่า อย่าตอบว่าเปล่านะครับ เพราะคนสมัยก่อนเขาสอนไว้ว่า “อะไรที่ยังไม่รู้จริงอย่าพึ่งทึกทักไม่เชื่อ ถ้าเขาย้อนกลับมาว่า “ถ้าฉันไม่รู้จริง ฉันคงเลี้ยงแกให้โตมาอย่างนี้ไม่ได้”
ดูแต่ชาวสวนผลไม้แถวพระราม 6 นี่แหละ สมัยก่อนฝั่งพระราม 6 มันเต็มไปสวนผลไม้ คนเหล่านั้นเขามีเงินส่งลูกไปเรียนเมืองนอกกี่รายแล้ว
จริงครับ ถ้าพูดไม่ถูกระวังเขาจะย้อนกลับมาทำให้เราหน้าแตก คนแต่ก่อนอยู่ฝั่งธนบุรีถูกผลไม้นับตั้งแต่ทุเรียน มังคุด เงาะ ชมพู่ เขาปลูกได้ดี รวมทั้งได้รสชาติที่ดีด้วย
มันต้องมีของดีอยู่ในนั้น แต่เรามองได้ไม่ถึงใช่หรือเปล่า ชาวสวนผลไม้ฝั่งธนบุรีสมัยก่อนเขาปลูกทุเรียน มังคุด เงาะ และอื่นๆได้งามดีมาก เพราะเขารู้จักใช้พืชตระกูลถั่วปลูกสลับอยู่ในนั้นด้วย โดยเฉพาะต้นทองหลาง ปักก็ขึ้นง่าย ใบก็กินได้
ดินที่นั่นปลูกอะไรก็งาม เพราะเวลาฝนตกมันก็ชะเอาใบทองหลางลงไปหมักอยู่ในท้องร่องเต็มไปหมด ครั้นถึงฤดูแล้งเขาก็สาดโคลนขึ้นมาบนหลังร่องอันนับได้ว่าคือการใส่ปุ๋ยหมักให้แก่ต้นผลไม้อย่างเป็นธรรมชาติ
คุณรู้ไหมว่าใบทองหลางนั้นมันเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีแร่ธาตุเป็นอาหารต้นไม้อยู่หลายอย่าง สมัยนั้นในท้องร่องมีใบทองหลางหมักเป็นปุ๋ยหมักอยู่ในนั้น แล้วเจ้าของสวนก็ใช้วิธีสาดโคลนขึ้นมาอยู่บนหลังร่องอันนับได้ว่าคือการใส่ปุ๋ยหมักได้ดีมาก
ไม้เพียงแต่ใส่ปุ๋ยหมักแก่ต้นไม่เท่านั้น แต่ยังรู้จักหมักใบทองหลางให้เป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้ในอนาคตต่อไปอีก คุณเข้าใจหรือเปล่าครับ ถ้ายังไม่เข้าใจโปรดทำความเข้าใจให้ดีและอย่าไปดูถูกคนสมัยก่อนถ้าเรายังทำไม่เป็น ถ้าคุณเกรงไปว่าชนรุ่นหลังเขาจะดูถูกคุณ
นาข้าวที่จังหวัดเพชรบุรีมีต้นตาลขึ้นอยู่ตามคันนาเยอะเยอะ จนกระทั่งเพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองน้ำตาลปี๊บ เพราะคนรุ่นหลังรู้จักสืบต่อเป็นประเพณีมา
ความจริงแล้วคนแต่ก่อนเขามักสร้างพิธีกรรมเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้นำปฏิบัติซึ่งมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน แต่ละอย่างล้วนเป็นประเพณีที่ชัดเจนมาก แม้แต่การใช้น้ำตาลสดทำขนมหม้อแกง ทองหยิบ ฝอยทองและอื่นๆ มันก้มาจกาคนเพชรบุรียุคก่อนๆนี่แหละครับ
เพราะฉะนั้นเกิดมาทั้งทีอย่าดูถูกชนรุ่นก่อนว่าเขาทำไม่เป็น มีประเพณีนิยมอยู่หลายอย่าง นับตั้งแต่การทำขนมหม้อแกงเมืองเพชร รวมทั้งการเพียรพยายามในการทำขนม
ขึ้นชื่อว่าเมืองเพชรแล้วน้ำตาลต้องหวาน ขึ้นชื่อว่าเมืองเพชรแล้วขาวสารต้องขาว ขึ้นชื่อว่าเมืองเพชรแล้วลูกสาวต้องสวย
คนสมัยก่อนจะนั่งรถไปหัวหินก็ต้องวางแผนแวะเมืองเพชรเสียก่อน น้ำตาลปึกสมัยนี้เราไม่ได้เห็นอีกแล้ว และมันหายไปไหนละครับ บอกผมหน่อยได้ไหมเพราะผมอยากรู้ครับ
บ้านระพี สาคริก พหลโยธิน 41 จตุจักร กรุงเทพฯ 10900
ระพี สาคริก
26 มีนาคม 2557