แพทยสภา – หมออาวุโส ถกกฎหมาย “สิทธิการตายอย่างสงบ”
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม 2554 เวลา 18:32 น.
เขียนโดย
ธิดามนต์ พิมพาชัย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน
หมวดหมู่
อาจารย์หมอแนะเอาประโยชน์คนไข้เป็นที่ตั้ง ยิ่งแตกแยกยิ่งตกต่ำ
วันที่ 13 ก.ค. 54 - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา “สิทธิการตายอย่างสงบ” ทางเลือกอันชอบธรรมของผู้ป่วย?
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ว่าด้วยสิทธิการตาย ซึ่งมีกฎกระทรวงออกมารองรับโดย “กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2550” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข และองค์กรดูแลกำกับด้านวิชาชีพ ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน
นายแพทย์เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการของมาตตรา 12 ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติที่ระบุไว้ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการออกแบบการตายให้เร็วขึ้นตามเอกสารหนึ่งใบ และผลักภาระความรับผิดชอบมาให้แพทย์
"กฎกระทรวงระบุว่า ถ้าไม่พอใจให้เปลี่ยนแพทย์ หรือย้ายโรงพยาบาลได้ และมีสิทธิปฏิเสธการรักษา ปฏิเสธค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในโรงพยาบาลเอกชน ยิ่ง สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) สั่งให้แพทย์ หรือพยาบาล ถอดถอนรักษาพยาบาลได้ เช่นการถอดท่อ หรือปิดเครื่องช่วยหายใจ แต่ที่ผ่านมาญาติผู้ป่วยก็ไม่กล้าทำ แล้วหมอจะทำได้อย่างไร โดยเฉพาะหากเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เมื่อผู้ป่วยยังไม่ถึงวาระที่จะตาย"
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ยังกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยตายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะอาจไม่ทราบว่าตนจะรักษาหายหรือไม่ หรือญาติอยากให้ตายเพราะอยากสิ้นสุดภาระการดูแล ทางแพทยสภาจึงขอให้ระงับกฎหมายฉบับนี้ และหาทางออกร่วมกัน ย้ำว่า ไม่ได้กลัวการฟ้องร้อง แต่กลัวบาปติดตัว และมองว่าไม่จำเป็นต้องทำตามคนไข้ทุกอย่าง ถ้าขัดกับมโนสำนึกของแพทย์
ด้าน ศ.นพ. วิฑูรย์ อึ๊งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวว่า หลักการของ "หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Living will)" เป็น "การแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า" ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติได้ถูกต้องมีหลักการ โดยเน้นในหลักสิทธิส่วนบุคคล หรือ สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญที่ ระบุว่า "ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย"
นายสมผล ตระกูลรุ่ง นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาตรา 12 จะทำให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่าย ตนมองว่า แพทยสภาควรให้ความสนใจกับการวินิจฉัยว่า เป็นวาะสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยหรือไม่ อย่ากังวลกับกฎหมายมากไป และให้ทำหน้าที่ตนให้ดีในการดูแลการปฏิบัติงานของแพทย์ และการให้สิทธิประชาชนในการรับรู้
“หนังสือแสดงเจตนา บอกว่า ถ้าถึงวาระสุดท้ายชีวิตไม่ให้มีการรักษา ที่ผิดธรรมชาติ ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเจตนา ส่วนคำนิยามอื่นๆ กฎกระทรวงต้องเขียนให้ชัด เช่น คำว่า วาระสุดท้ายของชีวิต”
ส่วน นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ อดีตอาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า
การอยู่โรงพยาบาล นานๆ โดยใส่เครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ไม่ใช่สิ่งดี เพราะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน แต่เราเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าสามารถยืดอายุได้ ซึ่งทำให้เกิดความทรมานต่อผู้ป่วย และไม่อยากให้แพทยสภาห่วงเรื่องการตีความกฎหมาย แต่ให้เอาประโยชน์คนไข้เป็นที่ตั้ง เพราะปัญหานี้จะเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างแพทย์กับประชาชน ทำให้ศักดิ์ศรีแพทย์ตกต่ำยิ่งขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ประชาชนอาจจะยุบแพทยสภาก็ได้
ผศ.ดร.ทัศนีย์ ทองประทีป วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะเสียชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาล ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความไว้ใจแพทย์ และโรงพยาบาลมากขึ้น ส่วนกฎหมายจะมีหรือไม่มีหรือไม่นั้น เลยจุดนั้นมาแล้ว
“การตายเป็นเรื่องสำคัญ การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งแพทย์พยาบาลเป็นคนกลางในการทำหน้าที่รักษา การมีกฎกระทรวงทำให้เราสบายใจขึ้น แต่แพทย์ และผู้ใช้บริการต้องพูดคุยกันมากขึ้นในเรื่องเจตนา เพราะผู้ป่วยภาวะอารมณ์ไม่มั่นคงในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของญาติด้วย” ผศ.ดร.ทัศนีย์ กล่าว
ทั้งนี้ วันที่ 14 ก.ค. 54 สช. จะแถลงข่าว “ไขข้อข้องใจทุกประเด็น... สิทธิปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือ สิทธิการตาย” โดย นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสช. เวลา 11.00 น. ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ
………………………………………..
(ล้อมกรอบ)
เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิสุขภาพ 4 ภาค แถลงสับแพทย์ค้าน “สิทธิการตาย”
เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิสุขภาพ 4 ภาค ได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณผู้ที่ให้การสนับสนุนมาตราดังกล่าว และตั้งคำถามไปยังแพทย์บางกลุ่มที่คัดค้านว่ามีสิ่งใดอยู่เบื้องหลัง
แถลงการณ์ระบุว่า 1.ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่เห็นด้วยและเข้าใจ พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาระบบเพื่อรองรับกฎหมายฉบับนี้ 2.ขอตั้งคำถามต่อกลุ่มแพทย์ที่เคลื่อนไหวคัดค้านว่ามีเบื้องหลังหรือไม่ 3.เรียกร้องให้กลุ่มแพทย์ที่กำลังขัดขวางคิดอย่างผู้มีวุฒิภาวะ และเคลือบแคลงว่ากลุ่มคนเหล่านี้ทำไปโดยมีผลประโยชน์จากธุรกิจแพทย์แอบแฝงหรือได้รับประโยชน์จากการยืดชีวิตการตายของผู้ป่วยหรือไม่
4.เครือข่ายฯ จะเฝ้าติดตามและทำงานเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้สิทธิตามมาตรา 12 ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งขอเชิญชวนแพทย์ พยาบาล และองค์กรต่างๆที่มีความมุ่งมั่นและเต็มใจในการส่งเสริมสิทธิของประชาชนเข้าร่วมอย่างต่อเนื่องต่อไป.