ทางออกประเทศต้องปฏิรูป สถาบันพระปกเกล้า ชี้เหตุคนไม่ศรัทธา ส.ส.-พรรคการเมือง
ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เปิดผลสำรวจพบประชาชนเสื่อมศรัทธานักการเมือง เหตุจิตสำนึกคุณธรรมจริยธรรมดิ่งฮวบ แนะก้าวข้ามการเลือกตั้งไปก่อน เหตุยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศได้
ที่มาภาพ:เฟชบุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
วันที่ 25 มีนาคม คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายอนุรักษ์ นิยมเวช เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฎิรูปประเทศไทย ณ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมประชุม
ดร.ถวิลวดี กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยเก็บข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพจากทุกภูมิภาค พบว่า ประชาชนมีความศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัว ส.ส.และสถาบันการเมืองลดลงอย่างมาก เนื่องจากคนในสังคมได้รับทราบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การขาดคุณธรรมจริยธรรม จึงต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิรูป
“ประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องการเห็นประเทศเดินหน้า โดยต้องการปฏิรูปให้นักการเมืองมีจิตสำนึก มีหลักธรรมาภิบาล มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เสริมสร้างเศรษฐกิจที่ดี เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความกินดีอยู่ดีไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติพรรคการเมือง โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย รวมถึงการปฏิรูปสื่อด้วยประชาชนมองว่า ไม่เป็นกลาง”ดร.ถวิลวดี กล่าว และว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าระบอบประชาธิปไตยยังเป็นที่ต้องการ และพร้อมเข้าร่วม แต่ต้องก้าวข้ามการเลือกตั้งไปก่อน เพราะเห็นว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศได้
ในส่วนของโครงสร้างทางอำนาจการเมืองนั้น ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ก็ต้องมีการปฏิรูปด้วย ทั้งสถาบันการเมืองที่ต้องปฏิรูปตัวเองและกฎหมายที่เกี่ยวเนื่อง การปฏิรูปองค์กรอิสระ ที่ปัจจุบันความเชื่อมั่นลดลง รวมไปถึงการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูป วิธีการเรียนการสอน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้ส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาล และประชาธิปไตยที่แท้จริง จนทำให้เกิดการสนับสนุนระบบอุปถัมภ์ และการปฏิรูปสังคมที่ต้องการสร้างสังคมสมานฉันท์ ส่งเสริมการรวมตัวเพื่อกิจกรรมจิตสาธารณะ
ทั้งนี้ ดร.ถวิลวดี กล่าวถึงการจัดเวทีเสวนาทางออกของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า ใช้วิธีการที่ไม่สอดคล้องกับที่สถาบันได้ทำการศึกษา อีกทั้งไม่มีใครนำข้อเสนอแก้ไขความขัดแย้งของสถาบัน ไปใช้เป็นแนวทางเพื่อหาทางออกให้กับประเทศเลย
เสนอควรเร่งปฏิรูป 7 เรื่อง
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงปัญหาของระบบการเมืองที่สำคัญ คือ วัฒนธรรมทางการเมือง โดยที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะทดลองระบบเลือกตั้งมาหลายรูปแบบ แต่ยังไม่ได้คำตอบอย่างที่คาดหวัง ระบบรัฐสภาของต่างประเทศที่นำมาเป็นแบบอย่าง คือเสียงข้างมากต้องควบคุมสภาได้ แต่จะมีระดับการควบคุมแค่ไหน และ ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระ ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองต้องแก้ให้ได้ด้วยการวางความสมดุล กลไกการเมืองต้องมีความรับผิดชอบและตอบสนอง ไม่ใช่ยึดแต่ตัวบท
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ปฎิรูปนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ควรเร่งปฏิรูป 7 สิ่ง คือ 1.ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและใช้อำนาจมิชอบ 2.การเมือง กระบวนการเลือกตั้ง 3.ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 4.โครงสร้างการบริหารงานระบบรัฐ ธรรมาภิบาล 5.กระบวนการยุติธรรม 6.การศึกษา และ 7.ปฏิรูปสื่อ
“ที่ควรเร่งปฏิรูปอันดับแรกๆ คือ การทุจริตคอรัปชั่น กระบวนการเลือกตั้ง ธรรมาภิบาลในภาพรวม และการปฏิรูปสื่อ เพื่อให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว พร้อมยอมรับว่า การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา รวมถึงยังติดอยู่ในประเด็นปัญหาที่ว่า การปฏิรูปในบางข้อเสนอต้องมีการแก้ไขกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติ ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติถ้ายังไม่มีการเลือกตั้ง และหากยังไม่มีผู้ใช้อำนาจนี้ ก็ของฝากว่า การสร้างความชอบธรรมและมองหาวิธีผูกมัดนักการเมืองหลังการเลือกตั้ง คือ การทำประชามติ เพราะถือเป็นโอกาสและเป็นเจตนารมณ์ของประชาชน
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้หยิบยกเนื้อหารายงานของ นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่ระบุว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หลายประเทศที่เกิดความล้มเหลวขึ้นเนื่องจากไม่สามารถสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกิดเงื่อนไขนี้กับการเลือกตั้งได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงว่า การเลือกตั้งที่เสร็จสิ้นแล้วต้องไม่ใช่ใบอนุญาตให้คนชนะเลือกตั้งไปทำผิดกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบ คุกคามฝ่ายตรงข้ามได้
ที่มา:วิทยุรัฐสภา