ล้างบางวงจรทุจริต “วิชา” แนะอย่าปล่อยให้นักการเมืองใช้อำนาจตั้งขรก.
กรรมการ ป.ป.ช.ย้ำสิ่งแรกที่ต้องทำในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่าให้นักการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการ ชี้หากทำไม่ได้ประเทศไม่มีทางลืมตาอ้าปาก แนะมหาวิทยาลัยปฏิรูปหลักสูตรให้เป็นไปตามหลักสากลโลก ระบุอนาคตอยากให้คดีทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อประเทศสามารถถ่ายทอดได้ในชั้นไต่สวน
วันที่ 24 มีนาคม 2557 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงการแก้ปัญหาประเทศนั้นอาจจะต้องทำหลายอย่างทั้งในส่วนของความมั่นคง กฎหมาย ระบบยุติธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาความเสมอภาค
แต่เรื่องสำคัญที่สุด ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คือประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องมีส่วนร่วมและช่วยกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การป้องกันและปราบปรามนั้นนอกจากในเรื่องของกฎหมายแล้ว การป้องกันจะต้องใช้วิธีปรับจิตใจคนในชาติให้ยอมรับการทุจริตไม่ได้ และหากมีแนวทางหรือตัวอย่างจากต่างประเทศที่ได้ผลเราควรจะเปิดใจให้กว้างและยอมรับนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศ
"แม้การแก้ปัญหาทุจริตจะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เราก็ต้องพยายามและมีเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยเรื่องนี้ได้"
ขณะที่ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการทุจริตในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่กระบวนการสมัยใหม่ คือส่วนใหญ่การทุจริตจะอยู่ในอำนาจในการปกครองประเทศ กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง เจ้าของบริษัทที่มีอำนาจตัดสินใจ ประเทศใดก็ตามที่มีพรรคการเมืองพยายามยึดอำนาจทุกอย่างประเทศนั้นจะมีแต่กระบวนการทุจริต ดังนั้นเราจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน หรือพลเมืองว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ส่งคนเหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในอำนาจการบริหารประเทศ
“ประชาธิปไตยที่มีตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศมักจะป่าวร้องว่า มาจากการเลือกตั้ง ได้รับสิทธิพิเศษจากประชาชน จะทำอะไรก็ได้ ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่จะมีแต่ตัวแทนอย่างเดียว แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมนี้ไม่ได้หมายถึงการเดินตามท้องถนน หรือเข้าไปยึดสถานที่ราชการต่างๆ หากเป็นการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอำนาจรัฐได้ทุกอณูตารางนิ้ว”
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า จากการจัดอันดับการคอรัปชั่นองค์กรโปร่งใสนานาชาติที่ผ่านมานั้น มีการแนะนำประเทศไทยตลอดว่า ถ้าอยากมีอันดับที่ดีขึ้นต้องทำอย่างไรบ้าง โดยเขาแนะนำว่า อย่าปล่อยให้นักการเมืองมาใช้อำนาจยึดการแต่งตั้งข้าราชการ หากประเทศไทยยังทำไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะลืมตาอ้าปากและยากที่จะเห็นฝั่งฝัน และประเทศใดก็ตามที่ไร้ซึ่งศีลธรรมเป็นพื้นฐานประเทศนั้นจะเป็นประเทศที่เลวที่สุดในโลก
พร้อมกันนี้ ศ.พิเศษ วิชา เสนอแนะว่า ประเทศไทยควรมีการแก้กฎหมายงบประมาณแผ่นดิน โดยให้กำหนดงบประมาณขั้นต่ำขององค์กรตรวจสอบเพื่อที่จะได้มีงบประมาณในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ
"ไม่มีรัฐบาลใดที่อยากจะเพิ่มงบประมาณให้องค์กรตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่น มาตรวจสอบตนเอง ดังนั้นจึงควรกำหนดงบประมาณให้ชัดเจน รวมถึงการเข้าถึงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ควรให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องร้องเรียน เช่น มีสิทธิที่จะเข้าไปดูราคาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ใช่เกรงกลัวและปกปิดอย่างที่สุด แต่ต้องโปร่งใส เข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ และประชาชนต้องมีสิทธิดูได้หมด"
ส่วนระบบการศึกษาของประเทศไทยนั้น กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า ก็ควรมีการปฏิรูปหลักสูตรให้มีความเป็นสากลทันโลก เนื่องจากบางรายวิชาในต่างประเทศเขาสอนกันตั้งแต่ระดับมัธยม แต่เมืองไทยแม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังไม่มีสอน ดังนั้นกระบวนการทางความคิดของเราควรจะตั้งใหม่ ถึงแม้จะยากที่สุดแต่ก็ต้องทำ
ด้านดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) กล่าวว่า ในการปฏิรูปเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันนั้นจะต้องสร้างบรรทัดฐานที่สังคมเห็นพ้องและทุกฝ่ายยอมปฏิบัติตาม และสิ่งที่สร้างนั้นจะต้องสร้างหลักประกันให้สังคมมั่นใจ คือ ทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายร่วมกัน อีกทั้งยังจะต้องมีตัวชี้วัดเพื่อจะให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและตรวจสอบได้
"อีกเรื่องหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือกระบวนการในการเลือกประเด็นสำคัญในการเสนอทางแก้ปัญหา คือจะต้องเป็นประเด็นที่ให้ผลชัดเจนและคุ้มค่า เป็นเรื่องที่ควรเริ่มทำก่อนอย่างเร่งด่วนสามารถขยายผลได้ชัดเจน ที่สำคัญคือสิ่งที่เสนอนั้นจะต้องเป็นรูปธรรมเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายและไม่ใช่สิ่งใหม่โดยสิ้นเชิง"