เอ็นจีโอชี้ปัญหาขยะเมืองปากน้ำแก้ไม่ตก เหตุมี ‘มาเฟีย’ ผูกขาด
นักวิชาการจี้กรมโรงงานอุตฯ สำรวจบ่อขยะ ‘แพรกษา’ อีก 3 บ่อ-เร่งเอาผิดกับเจ้าของที่ดินปล่อยลักลอบทิ้งกากของเสีย แนะจัดการขยะมลพิษอนาคตออกกฎค่าปรับสูง-ตั้งกองทุนฟื้นฟู ‘เพ็ญโฉม’ ชี้ปัญหาขยะเมืองปากน้ำแก้ไม่ตก เหตุมี ‘มาเฟีย’ ผูกขาด
วันที่ 24 มีนาคม 2557 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับกลุ่มกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแถลงข่าว ‘ขยะแพรกษา-บางปู ภาพสะท้อนความวิบัติระดับชาติ’ ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี ม.รังสิต อาคารทีเอสที ทาวเวอร์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
ดร.อาภา หวังเกียรติ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงข้อเสนอต่อกรณีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมยังนิ่งเฉยอยู่ ฉะนั้นควรเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าของที่ดิน เพื่อจับและปรับ แต่สำหรับเจ้าของและผู้ลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมนั้นอาจจับตัวยาก เพราะคงหลบหนีไปแล้ว
นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งสำรวจบ่อขยะอย่างน้อย 3 บ่อ ที่มีขนาด 100 ไร่ขึ้นไป ในพื้นที่แพรกษาว่ามีขยะอุตสาหกรรมปนเปื้อนหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องรอผลพิสูจน์จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะถือเป็นหน้าที่โดยตรง ซึ่งหากพบหลักฐานสามารถฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดินได้เลย
“ค่าดับเพลิง ค่าหน้ากากกันฝุ่นละออง และการตรวจวัดค่าสารปนเปื้อนอันตรายล้วนต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นสูง ฉะนั้นกรมควบคุมมลพิษต้องเป็นตัวแทนประชาชนฟ้องคดีกับผู้ที่สร้างความเสียหายด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีประชาชนไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 1,366 ราย” นักวิชาการ กล่าว และว่ายังต้องเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บวิเคราะห์ตัวอย่างสาร ‘ไดออกซิน’ และ ‘ฟิวเรน’ ด้วย ที่สำคัญ ในการเฝ้าระวังสุขภาพของผู้ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นระยะยาว ควรนำพนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่รัศมี 1.5 กม. ตรวจร่างกายทุกคน แต่หากเป็นไปได้ควรขยายพื้นที่เป็นรัศมี 5 กม.
สำหรับข้อเสนอต่อการจัดการขยะอุตสาหกรรม ดร.อาภา ระบุว่า จะต้องแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเรียกร้องให้มีการออกระเบียบเพิ่มค่าปรับการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมให้มากขึ้น นอกจากนี้แต่ละปีกรมโรงงานอุตสาหกรรมควรเปิดเผยข้อมูลมลพิษให้สังคมรับรู้ และจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู เพราะเมื่อเกิดการปนเปื้อนของมลพิษจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการ
“หน่วยงานรัฐต้องจัดทำฐานข้อมูลบ่อและโรงงานขยะชุมชนและอุตสาหกรรมให้ชัดเจน พร้อมหาเจ้าภาพรับผิดชอบ สุดท้าย จำเป็นต้องสร้างสมดุลของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีศักยภาพในการรองรับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียมกัน” นักวิชาการ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ยังไม่มีหน่วยงานใดที่กล่าวถึงโรงงานผู้ปล่อยกากของเสียอุตสาหกรรมเลย ดังนั้น หากจะมีการสืบสวนจริง ๆ จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษาก็สามารถทำได้ และจะต้องเร่งดำเนินคดี โดยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ มิเช่นนั้นแล้วหากไม่มีการจัดการ ความวิบัติของประเทศจะเกิดขึ้นทันที
“ขยะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลกับคนบางกลุ่ม มีการเก็บขยะคัดแยกจนกลายเป็น ‘ระบบมาเฟีย’ ที่ผูกขาด หากย้อนดูธุรกิจขยะในประเทศไทยจะเห็นว่า มีหลายบริษัทและนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาจนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและมีอำนาจในระดับท้องถิ่นสูงมาก เนื่องด้วยการรับขนส่งขยะ เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่แพรกษา”
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงแนวคิดการจัดการขยะที่ต่างประเทศทำและเกิดผลดีนั้น ไทยได้มีแนวคิดเหล่านี้เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นนโยบายระดับชาติ เพราะอำนาจการผูกขาดของกลุ่มทุนมาเฟียที่จัดการขยะ รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในระดับท้องถิ่น นักการเมือง และผู้มีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งในกรณีจ.สมุทรปราการรู้กันอยู่ว่ากลุ่มมาเฟียใดที่มีอิทธิพลต่อการจัดการขยะ จนทำให้ไม่สามารถจัดการได้ทุกวันนี้
ดร.สมนึก จงมีศวิน ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กล่าวว่า รัฐบาลควรมีแผนการรับมือภัยพิบัติที่ดี เพราะนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เกาะเสม็ด จนถึงเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษานั้น การสั่งการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานรัฐไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากยังไม่มีแผนการรับมือดังกล่าวที่ดี ควรชะลอขยายตัวแหล่งอุตสาหกรรมก่อน แล้วกลับมาสร้างพื้นที่ประสบปัญหาให้ได้สมดุลก่อนแทน
ขณะที่นายธารา บัวคำศรี ผอ.ฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัญหาปริมาณขยะสูงเทียบเท่าตึกใบหยก 139 ตึกเรียงต่อกันนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในวันพรุ่งนี้ แต่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายจะต้อง ‘ปฏิวัติความคิดใหม่’ เพราะที่มีอยู่เดิมนั้นไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“จะต้องก้าวข้ามให้พ้นคำว่า “จะเอาขยะไปทิ้งหรือเผาที่ไหน” เพราะถือเป็นการถกเถียงที่ไปไม่รอด ด้วยสังคมอนาคตจะต้องสร้างระบบการจัดการทรัพยากรที่ดี ซึ่งจะทำให้ขยะลดปริมาณลงเอง และไม่เกิดปัญหาเหมือนในหลายพื้นที่” ผอ.ฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซฯ กล่าว .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์