นพ.อำพล จินดาวัฒนะ:คำตอบประเทศ ความหวังอยู่ที่การปฏิรูป
“การปฏิรูปประเทศเป็นความหวังและสังคมนี้ต้องอยู่ด้วยความหวัง ในช่วงอายุที่ผ่านมาหลายสิบปีเห็นการปฏิรูปประเทศมานานแต่ไม่มีครั้งไหนที่สำคัญเท่าครั้งนี้ สังคมเรียกร้องกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่ได้รอใคร”
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ และดูเหมือนทุกอย่างอาจจะต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทว่าเส้นทางสงครามทางการเมืองในประเทศไทยกลับมีทีท่าว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลก็เริ่มจะเปิดเกมทวงคืนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน
ภายใต้สถานการณ์ความวุ่นวายของคนในสังคมวันนี้เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าเรายังพอมีหรือไม่ สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปมายาวนานนับ 10 ปี เพื่อให้เห็นภาพว่า สังคมไทยยังพอมีหวังอะไรบ้าง ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่เช่นนี้
นพ.อำพล มองว่าความหวังของประเทศในวันนี้คือเรื่องกระแสการปฏิรูป สาเหตุที่เราต้องมองเพราะสิ่งนี้คือความหวังของคนในสังคมไทย
“คนทุกภาคส่วนเรียกร้องว่า ประเทศต้องเข้าสู่การปฏิรูปทั้งคนที่ทำงานด้านการเมืองมานาน ประชาชน ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ เนื่องจากหลายฝ่ายเห็นว่า การที่จะให้ประเทศเป็นอยู่แบบเดิมภายใต้โครงสร้างเดิมๆ จะทำให้ระบบขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยากลำบาก
นี่คือข้อดีของกระแสการเรียกร้องการปฏิรูป
การเดินหน้าปฏิรูป ถ้าเราไปหวังว่าคนที่อยู่ในระบบการเมือง หรือระบบตัวแทนว่า ถ้าเขาได้รับเลือกแล้วจะมาปฏิรูปให้เราตามข้อเสนอคงหวังได้ยากและสิ้นหวัง เนื่องจากการปฏิรูปบางเรื่องจะไปกระทบต่ออำนาจซึ่งเขาอาจจะไม่อยากทำ ดังนั้นการขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปประเทศต้องเกิดขึ้นโดยสังคมเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพ ว่าเราจะ “เกาะติด” และ “กัดไม่ปล่อย” ในเรื่องนี้ รวมทั้งกดดันและผลักดันเรื่องปฏิรูปให้เกิดขึ้นให้ได้”
เลขาธิการ สช. ย้ำว่า หากจะมัวแต่ฝันหวานรอนักการเมืองเข้ามาจัดการคิดว่าคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะการปฏิรูปจะกระทบผลในเรื่องผลประโยชน์ มีคนเสียประโยชน์ และส่งผลให้กระบวนการในการปฏิรูปต้องใช้เวลานาน ดังนั้นสังคมต้องหนักแน่นผลักดันเอาจริงเอาจังจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ฉะนั้นหากมามองดูว่า มีอะไรบ้างที่เราจะต้องพูดถึง
1. เรื่องระบบและโครงสร้างบางส่วนที่เราต้องทำ เช่น ระบบการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ หรือการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่วันนี้ดูท่าว่าจะไปไม่ได้แล้ว ทิศทางของอำนาจควรจะลงไปสู่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถที่จะบริหารจัดสรรทรัพยากรได้อย่างอิสระ
2.การปฏิรูปเรื่องที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม คือต้องไม่ให้สังคมเป็นสังคมความยากจนกระจาย ความร่ำรวยกระจุก
3.ตัวระบบราชการ ต้องมีการปฏิรูปการมีส่วนรวมของภาคประชาชนในเรื่องการกำหนดนโยบาย ติดตามกำกับการดำเนินการของภาครัฐ
4.เสริมสร้างพลังพลเมือง บทบาทความรู้สึกสาธารณะที่กำลังเกิดขึ้นให้เข้มแข็งต่อไป เปลี่ยนให้สังคมเห็นว่าจะเดินได้นั้นทุกคนต้องกระตือรือร้นไม่ใช่ปล่อยให้ใครมาจัดการอะไรก็ได้
5.การปฏิรูปทั้งหมดต้องมุ่งสู่การลดการทุจริตที่กัดเซาะสังคม สร้างระบบโครงสร้างทางสังคมให้เข้มแข็ง ไม่ให้ผู้มีเงินมาก อำนาจมาก เอาเปรียบคนที่มีพลังน้อย
เมื่อถามว่า หากมองการขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปในวันนี้มีเรื่องไหนที่มีโอกาสจะสำเร็จบ้าง หมออำพล มองว่า คงไม่มีเรื่องปฏิรูปเรื่องใดที่จะโดดเด่นออกมาเพราะทุกอย่างต้องทำไปพร้อมกัน แต่หากมองวันนี้คงเป็นเรื่องการปฏิรูปการกระจายอำนาจ เพราะเป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้แล้ว เนื่องจากพลังทางภาคสังคม ชุมชนเรียกร้องและเดินหน้าไปมาก มีการยกร่างกฎหมายกลางในการให้ท้องถิ่นได้ทดลองจัดการตนเอง
ทั้งนี้หากเราสามารถที่จะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นก็จะช่วยลดอำนาจส่วนกลางส่งผลให้การใช้อำนาจบาดใหญ่ลดลง และข้างล่างเริ่มเข้มแข็งขึ้น เป็นการลดการรวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ทุจริตนโยบายใหญ่ๆก็จะคลี่คลายเพราะประชาชนจะมีส่วนร่วมและมีความใกล้ชิด รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำจะค่อยๆ ถูกคลี่คลาย
เรื่องนี้จะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่น่าจะมีความสำเร็จสูงและน่าจะเป็นทิศทางของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ สช. เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คงไม่ใช่แบบพลิกฝ่ามือ เนื่องจากสังคมมีความสลับซับซ้อนมาก แต่แสงสว่างการปฏิรูปยังมีให้เห็น สังคมเริ่มยอมรับไม่ได้กับอำนาจที่ฉ้อฉล สังคมรู้สึกว่าต้องมีการกระจายอำนาจให้จัดการกันเอง อีกทั้งความยากจนเหลื่อมล้ำที่มากเกินไปก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่อง "เสื้อสี" ทุกคนอยากเรียกร้องความเสมอภาคและเป็นธรรม
สิ่งเหล่านี้คือความเห็นพ้องของคนส่วนใหญ่ที่คงต้องหากระบวนการที่จะจัดการให้ได้
“การปฏิรูปประเทศเป็นความหวังและสังคมนี้ต้องอยู่ด้วยความหวัง ในช่วงอายุที่ผ่านมาหลายสิบปีเห็นการปฏิรูปประเทศมานาน แต่ไม่มีครั้งไหนที่สำคัญเท่าครั้งนี้ สังคมเรียกร้องกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมโดยไม่ได้รอใคร แต่ละองค์กรแต่ละฝ่ายออกมาจัดการกันเอง ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ เจ้าภาพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นเจ้าภาพในการจัดอย่างเดียวแต่หมายถึงการออกมามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมว่า วันนี้เราอยู่นิ่งๆกันต่อไปไม่ได้อีกแล้ว”
ท้ายที่สุดหมออำพล ทิ้งท้ายว่า ต่อจากนี้ไปใครที่คิดว่ามีอำนาจบาทใหญ่แล้วจะทำอะไรกับสังคมก็ได้แบบที่ผ่านๆมาคงลำบากแล้ว เพราะวันนี้สังคมคิดว่าเป็นเรื่องของทุกคน เมื่อก่อนเราอาจมองว่า หากให้คนมีอำนาจเข้าไปทำกิจกรรมอื่นๆแทนแล้วสังคมจะดี แต่อดีตที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า ไม่ใช่ เพราะทำแบบนั้นมีแต่ความเสียหาย
"การปฏิรูปในมุมของผม จึงเป็นความหวัง"