‘สารี’ จี้รัฐบาลใหม่ดันกม.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หลังล่าช้า 16 ปี
เครือข่ายผู้บริโภค เสนอปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดัน "กม.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" หลังล่าช้ามา 16 ปี ระยะยาวชงแก้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ‘ไพโรจน์’ ชี้การต้องเปลี่ยนกม.ทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง ประกาศยืนหยัดคลอดใช้ให้ได้
วันที่ 23 มีนาคม 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RRN) ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จัดเวทีสาธารณะเรื่อง "การปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค" ณ คิงส์ พาวเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อเสนอการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรม เบื้องต้นควรเร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้มานานตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังไม่สำเร็จ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ถ้ามีรัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องผลัดดันต่อให้กฎหมายฉบับนี้ออกมา
นอกจากนี้จะต้องพัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือมีนโยบายยกเลิกหนึ่งยกเลิกทั้งหมด(one ban all ban policy) คือ เมื่อประเทศอื่นยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ประเทศไทยก็ควรมีนโยบายยกเลิก
น.ส.สารี ระบุต่อว่า ควรมีมาตรการเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ เพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการ เช่น กรณีเสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะ ควรเยียวยา 7.5 ล้านบาท เทียบเท่ากับงบประมาณในการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม ซึ่งเสนอโดย ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
รวมถึงให้มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค(One Stop Service for Consumers) ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องอาหารและความปลอดภัยถึง 11 กระทรวง 13 หน่วยงาน ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความซับซ้อน ล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพ
สุดท้าย จะต้องมีช่องทางที่ชัดเจนจากหน่วยงานกำกับดูแลผู้คุ้มครองผู้บริโภคทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น
สำหรับข้อเสนอระยะยาวในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค น.ส.สารีเสนอว่า ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุุ้มครองผู้บริโภค ใน 4 ประเด็น คือ 1.ขยายการคุ้มครองสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ 2.ปรับปรุงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีสัดส่วนผู้แทนผู้บริโภคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 3.ปรับปรุงกระบวนการเยียวยาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการเยียวยา รวดเร็วและเป็นธรรม และ4. สิทธิที่จะได้ความเป็นธรรมในการพิสูจน์ความผิด ความเป็นธรรมจากการโฆษณา
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการคณะกรรมการปฏิรููปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ใจกลางหรือหัวใจของการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคคือ ต้องมีกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเมื่อมีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะช่วยให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้สอดคล้องกับแนวคิดที่เปลี่ยนไปคือ เปลี่ยนจากรัฐกำกับดูแลมาเป็นองค์กรอิสระ และสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภค
"กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องเปลี่ยนโครงสร้างกฎหมายทุกฉบับ เพื่อทำให้การปฏิบัติเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแม้กฎหมายองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจะพยายามผลักดันมา 16 ปีแล้วยังไม่เกิด แต่เราก็ต้องยืนยันที่จะยืดหยัดให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ให้ได้" นายไพโรจน์กล่าว
ขณะที่น.ส.อรอุมา เกษตรพืชผล สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า สนับสนุนให้มีกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะจะได้สามารถจัดตั้งกองทุนเยียวยาหรือกองทุนช่วยเหลือผู้บริโภคที่เดือดร้อน จากปัจจุบันที่ต้องหาเงินด้วยการของบริจาคเป็นโครงการ ซึ่งบางครั้งไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน แต่มีประเด็นฝากไว้ว่า เมื่อมีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มผู้บริโภค จะเป็นเหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ หรือไม่ คือ พูดได้ เสนอได้ แต่ไม่มีพลังในการดำเนินการ หรือไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อย่างแท้จริง
นายชูศักดิ์ ชื่อประโยชน์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ยังไม่มีกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่การคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของอาหารสามารถดำเนินการได้ทันที โดยในสภาพปัจจุบันมีความจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคสังคม ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ เนื่องจากเอกชนไม่ใช่ผู้ร้ายทุกราย มีทั้งดีและไม่ดี ก็ต้องเลือกผู้ประกอบการที่ดีและร่วมมือกับภาคสังคม เพราะมั่นใจว่าการทำงานร่วมกันระหว่างเอกชนกับภาคสังคม จะทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง
"นอกจากนี้ต้องตั้งเป้าการพัฒนาผู้บริโภคทุกจังหวัด ให้เขาต้องรู้จักสิทธิ์ รู้จักหน้าที่ และสิ่งที่จะได้เป็นอย่างไรเพื่อทำให้การร้องเรียนของผู้บริโภคมีเหตุ และผล แต่ถ้าไม่แก้จุดนี้สิ่งที่เราทำก็วนอยู่กับที่เหมือนเดิม"นายชูศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิผู้บริโภค ปี 2556 รายงานว่า มีปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนผ่านมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 40 จังหวัด ทั้งหมด 3,561 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุดคือ เรื่องบริการสาธารณะ จำนวน 1,263 เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องโทรคมนาคม 749 เรื่อง เรื่องการเงินการธนาคาร 287 เรื่อง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 196 เรื่อง สินค้าและบริการ 191 เรื่อง และอีก 229 เป็นเรื่องอื่นๆ