"มติชน" ถาม "ผอ.อิศรา"ตอบ! ปมรับงบ "สสส."-จ้องเล่นนักการเมืองบางฝ่าย
"..สุขภาวะ คือ ร่างกาย สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพจิต เกิดจากอะไรบ้าง ถ้าคุณไปดู สื่อเลวๆ เนื้อหาเลวๆ เนื้อหาไม่ดี สุขภาพจิตเสียไหม ก็เสียถูกไหม ฉะนั้น เราก็ต้องคิดว่า เนื้อหาของสื่อ ต้องมีคุณภาพ การมีคุณภาพคือ คนต้องมีคุณภาพ .."
หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 "นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ "ฟ้ารุ่ง ศรีขาว" มติชนทีวี ถึงประเด็น "มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ" ต้นสังกัด "สำนักข่าวอิศรา" ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มียอดรวมเกือบร้อยล้านใน 8 ปี
โดยนายประสงค์ เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ที่รับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สสส. โดยรับผิดชอบ 5 โครงการ จาก 14 โครงการ
เนื้อหาคำสัมภาษณ์มีรายละเอียดดังนี้
-ความสัมพันธ์ ระหว่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอย่างไร
มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนนั้น ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยสมาคมนักข่าวและ สภาการหนังสือพิมพ์ เพราะเห็นว่าคนในวงการวิชาชีพข่าวทั้งระบบ หมายถึงองค์กรสื่อมวลชนเจ้าของหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน ขณะที่ระบบราชการเอกชนอื่น ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน ให้ความรู้สม่ำเสมอ แต่ในวงการสื่อให้ความสำคัญน้อยมาก "ไม่ลงทุน ว่างั้นเถอะ"
สมาคมนักข่าวก็เห็นว่า เรื่องนี้ควรมีการฝึกอบรม ก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ก็ยังไม่เป็นระบบ ทำระยะสั้นจุ๊กจิ๊ก ทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่ง คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ เป็นประธาน นายกสมาคมนักข่าวช่วงนั้น ก็เห็นว่า ควรจะมีการฝึกอบรมระยะยาว ให้กับสมาชิก หรือ คนในวงการเพื่อจะได้พัฒนาวงการ ไม่ใช่ทำงานอยู่หน้าจอ อยู่หน้าโต๊ะ ไม่ได้ไปไหน กลายเป็นม้าลำปางไป จึงทำหลักสูตรขึ้นมา
พร้อมกับตั้งมูลนิธิขึ้นมา โดยสภาการหนังสือพิมพ์ กับสมาคมนักข่าว ให้ทุนประเดิมในการตั้งมูลนิธิ ถ้าจำไม่ผิดคนละแสน เพราะ การตั้งมูลนิธิต้องมีทุนประเดิม 2 แสน มีผู้ใหญ่ทั้งนั้นประชุมปีละหน ดังนั้นเพื่อความต่อเนื่อง สถาบันอิศราจึงเอารูปแบบจาก ทีดีอาร์ไอ ตั้งเป็นสถาบันเพื่อจะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ส่วนมูลนิธิก็ประชุมปีละหนตามสภาพ
สำหรับโครงสร้างสถาบันอิศราก็มีกรรมการบริหารคอยมาดูผู้อำนวยการว่าทำตามเป้าหมายหรือไม่ผมก็มีประชุมทุกเดือนผมก็ต้องรายงานว่าทำอะไรไปบ้างใช้เงินเท่าไหร่การเงินเป็นอย่างไร ผมก็ต้องรายงานในส่วนการเงิน เพื่อให้มีความชัดเจนแน่นอน ผมก็จ้างนักบัญชี ให้เจ้าหน้าที่แต่ละโครงการ ส่งการใช้จ่ายเงินมาที่นักบัญชีเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ทุกเดือนต้องทำสรุป จ่ายอะไรไปบ้าง เหลือเงินเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ รายรับเท่าไหร่ รวบรวมไว้เป็นเดือนๆ พอครบปี ผู้ตรวจสอบบัญชีได้รับอนุญาต จาก สสส. มาตรวจใบสำคัญการจ่ายเงิน ถ้าไม่ทำแบบนี้แต่ละปีก็ต้องมารื้อเอกสารตายเลย
ผมต้องทำให้ถูกต้องทุกขั้นตอน เพราะแค่ซื้อของแพงไปก็ถูกทักท้วงแล้ว เพราะเขารู้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เขาให้ผู้สอบบัญชีมา ต้องเป็นหลักเณฑ์ที่ สสส. ให้ตรวจ
-ชื่อคุณประสงค์ รับผิดชอบโครงการที่รับเงินจาก สสส. เป็นการลงนามในนามมูลนิธิฯ ใช่หรือไม่
ใช่ เพราะมูลนิธิเป็นนิติบุคคล แต่สถาบันอิศราไม่ใช่นิติบุคคล ฉะนั้น ประธานมูลนิธิ ก็มอบอำนาจมาให้ผมเซ็น เป็นขั้นตอนตามกฎหมายปกติ เซ็นตามกฎหมาย เพราะเงินต้องมีคนรับคนจ่าย
-ตัวเลขที่มูลนิธิฯ รับผิดชอบโครงการ เกือบร้อยล้าน ใน 8 ปี
โครงการทั้งหมดเป็นโครงการต่อเนื่อง 8 ปี ตัวเลขประมาณ 96 ล้าน เฉลี่ยแล้วปีละ 12 ล้านเศษ ซึ่งสถาบันอิศราเป็นเพียงตัวกลาง โดยงบประมาณไม่ได้อยู่ที่สถาบันทั้งหมด เพราะตอนเริ่มต้นเสนอโครงการ สมัยคุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ถ้าให้องค์กรสื่อแต่ละองค์กรไปเสนอ เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชมรมนักข่าวไอที ไปเสนอกับ สสส.
สสส. ก็จะมองว่าเป็นภาระกับเขาในการมานั่งตรวจโครงการแต่ละโครงการ ในการดีลเขาก็บอกว่า ฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะให้มีองค์กรกลางในการเป็นตัวเชื่อมโยงกับ สสส. ซึ่งก็คือ สถาบันอิศรา นั่นคือเหตุผลที่ 1) ทำให้ทั้งหมดดีลผ่านสถาบันอิศรา ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร หลักฐานการตรวจสอบ การกำกับดูแล มาทำทีเดียวเลย ไม่งั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่แต่ละโครงการมาทำกับ สสส.
นอกจากนั้น มีโครงการอบรมเครือข่ายบรรณาธิการภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันยังหมายรวมถึง สื่อมวลชนอื่นๆ อย่างล่าสุดไปอบรมนักจัดรายการวิทยุชุมชน คือ เขาไม่ได้เป็นตัวขอ แต่เราทำโครงการไปฝึกอบรม เพราะ นักจัดวิทยุชมชนจัดตามประสบการณ์ ไม่มีหลักวิชาการ หรือ พูดอีกแบบคือ จัดตามมีตามเกิด เราก็ไปฝึกอบรมว่า เวลาจัดรายการ ต้องเขียนสคริปต์ยังไงคอนเทนท์ วิธีการหาข้อมูล ที่ผ่านมาก็เคยผ่านการอบรมมาแล้ว 2-3 รุ่น ก็คือ การทำข่าวชุมชน ให้เขาไปหาข่าว หาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อมานำเสนอ เพราะเขาไม่มีองค์กรในกรุงเทพ เราก็ได้แต่ทำโครงการให้คุณมาอบรม
เหตุผลที่ 2) ทิศทางการบริหาร เช่น การพัฒนาระบบสื่อ หรือ พัฒนาศักยภาพสื่อ ต้องเป็นทิศทางเดียวกัน ฉะนั้น ให้สถาบันอิศรามาดู ก็จะได้ดูว่า โครงการที่เขาเสนอแต่ละองค์กรทั้ง 5 องค์กร จะได้ปรับ ให้เป็นระบบเดียวกัน ฉะนั้น ปีละ 11-12 ล้านบาท โดยเฉลี่ย ก็ถูกกระจายไปยังองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักข่าว ก็มีโครงการอบรมนักข่าวใหม่ ซึ่งเชิญนักข่าวทุกฉบับ ทุกสิ่งพิมพ์ มติชน ข่าวสด ก็ไปหมด ทีวีก็ไป แต่ช่วงนั้น เราจะเน้นหนังสือพิมพ์มาก ก็เข้าอบรม หรือ สภาการหนังสือพิมพ์ ก็มีโครงการทำตำรา ให้ทุนวิจัย ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์ อย่างสมาคมนักข่าวจะมีโครงการวิชาการ วิชาชีพ ก็คือ เอานักวิชาการ ที่ต้องการมาในภาคปฏิบัติ มาดูงานที่มติชนบ้าง ดูงานที่บางกอกโพสต์บ้าง ที่เนชั่นบ้าง เป็นเวลาแล้วแต่กำหนด อาจจะ 2 สัปดาห์ หรือ 4 สัปดาห์ ฉะนั้นจะมีภาคีพวกนี้
สมาคมนักข่าววิทยุก็ทำแบบเดียวกัน คือ เอาอาจารย์ที่สอนด้านวิทยุโทรทัศน์ ไปดูงาน อสมท. ไปดูงาน เนชั่นทีวี ซึ่งสถาบันอิศราไม่ได้ดำเนินการ เพราะเป็นเพียงผู้กำกับขั้นตอนส่งเอกสารให้ถูกต้อง
หรือ ชมรมนักข่าวไอที ก็มีประกวดข่าว มีอบรมเด็ก เป็นโครงการ ฉะนั้น ปีละ 10 กว่าล้าน คือ ทุกองค์กรทำ
ส่วนสถาบันอิศรา ที่ทำโดยตรงมีโครงการที่ยั่งยืนและใหญ่ที่สุดก็คือ โครงการที่มีการอบรมระยะยาว ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง และการสื่อสารมวลชนระดับต้น เป็นโครงการที่ใช้เงินมากที่สุดโครงการหนึ่ง ก็คือ โครงการอบรม 3 รุ่น คุณไปดูอบรม บยส. วปอ. ใช้เงินเท่าไหร่ แต่ละรุ่นเป็น 10 ล้าน ที่นี่ 3 รุ่น 5-6 ล้านเท่านั้นเอง ไม่มีไปต่างประเทศ ไกลสุดก็อยู่ในภูมิภาค เชียงใหม่เชียงราย
โดยระดับสูง คือระดับบรรณาธิการ ผู้ช่วยบรรณาธิการ ส่วนระดับกลางก็เป็นหัวหน้าข่าว และระดับต้นเป็นนักข่าวอายุงาน 3 ปีขึ้นไป โดยเชิญทุกฉบับ มติชน ข่าวสด บรรณาธิการบริหารมติชนก็เคยมาเรียน วอยซ์ทีวีเราก็เชิญ แต่วอยซ์ทีวีไม่เคยมา เราเชิญประชาไทหลายครั้ง เขามาเรียนรุ่นล่าสุดคือรุ่น 5 ส่วน TCIJ ซึ่งรับทุนจาก สสส.เหมือนกัน ก็มาเรียนรุ่นที่แล้ว เพราะเขามีคนน้อยมาครั้งเดียวก็หมดแล้ว
ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุท้องถิ่น นักจัดรายการท้องถิ่นได้หมด เราอบรมไปแล้วประมาณ 700 คน ถ้าครบ 5 รุ่นก็ 700 กว่าคนที่ได้ประโยชน์ตรงนี้ นี่คือโครงการของสถาบันอิศราโดยตรง
แล้วเรายังมีกรรมการหลักสูตร หลักสูตรเราไม่เหมือนราชการ เพราะเรามีการปรับหลักสูตรทุกปี ประธานหลักสูตร คือ คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธาน บมจ.มติชน เป็นประธานหลักสูตร ทำหลักสูตรอย่างเข้มข้น ล่าสุดวันนี้อาจารย์คณิต ณ นคร ก็มาบรรยายในหลักสูตร หลักสูตรนี้ ใช้เงินอย่างประหยัดที่สุดและมีประสิทธิภาพ ไม่มีการไปดูงานต่างประเทศ ต้องเรียนทุกวันเสาร์ เป็นเวลา 6 เดือน ในหลักสูตรระดับสูง ระดับกลางประมาณ 4-5 เดือน หลักสูตรเล็กประมาณ 3-4 เดือน
-แตกต่างจากหลักสูตรของที่อื่นอย่างไร
หลักสูตรอยู่ที่การยืดหยุ่นระบบที่นี่ห้ามไปหาทุนห้ามไปจัดกอล์ฟขณะเรียนส่วนถ้าจบแล้วจะไปทำอะไรก็ไม่เกี่ยวกับสถาบันแล้วแต่ในระหว่างเรียน ไม่มีการหาทุน ไม่มีการมาจัดเลี้ยงใหญ่โต ถ้าจะจัดเลี้ยงในกลุ่มเพื่อนก็ไปจัดกันเอง เราไม่อำนวยความสะดวกสถานที่ให้ ไม่ต้องมานั่งจัดเลี้ยง ไม่ต้องมาจัดงานราตรี ไม่ต้องมาตีกอล์ฟ คุณเรียนเสร็จ จะไปกินข้าวกันเองก็เรื่องของคุณ โครงการของที่อื่นเดิมก็คงมีวัตถุประสงค์เรื่องความรู้ แต่มันกลายพันธุ์ ไปเน้นตีกอล์ฟ เน้นอย่างอื่น
ส่วนหลักสูตรเราต้องคุมไม่ให้กลายพันธุ์ เรามีกรรมการหลักสูตร ซึ่งก็คือคุณสมหมาย อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานทีดีอาร์ไอ มีอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการหลักสูตร มาเถียงทุกปีว่าหลักสูตรนี้ควรจะเปลี่ยนยังไง ให้เข้ากับภาวการณ์ของสังคม แล้วกรรมการห้ามหาทุน ไม่งั้นจะมีข้อครหาเหมือนหลักสูตรอื่นๆ
-ในแง่หลักการได้รับเงินจาก สสส. แต่โครงการเกี่ยวข้องกับสุขภาวะ อย่างไร
คำอธิบาย สุขภาวะ อาจจะต้องให้ สสส. อธิบายเอง แต่ผมจะพยายามอธิบายตามแนวคิด สสส. สุขภาวะ คือ ร่างกาย สุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพจิต เกิดจากอะไรบ้าง ถ้าคุณไปดู สื่อเลวๆ เนื้อหาเลวๆ เนื้อหาไม่ดี สุขภาพจิตเสียไหม ก็เสียถูกไหม ฉะนั้น เราก็ต้องคิดว่า เนื้อหาของสื่อ ต้องมีคุณภาพ การมีคุณภาพคือ คนต้องมีคุณภาพ ก็ต้องฝึกอบรมคนให้เข้าใจ
ฉะนั้น เนื้อหาเราจะครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อะไรต่างๆ ครบหมด สิ่งแวดล้อม การศึกษา เพื่อให้คนมีคุณภาพ เพราะระดับที่มาเรียนคือ บรรณาธิการ ถ้าคุณมาเรียนแล้วคุณเอาความรู้พวกนี้ไปพัฒนาบุคคลากรของคุณเอง สื่อที่คุณผลิตคอนเทนท์มา ก็ต้องมีคุณภาพ คุณภาพไม่ใช่สายลมแสงแดด สื่อที่คุณภาพดีคือ คุณภาพที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ก็ทำให้คนดูได้ประโยชน์ ต่อสุขภาพจิต ถ้าเจอแต่สิ่งที่ไม่ดี ก็จิตตก นี่คือสุขภาวะ ไม่ใช่สุขภาพ
ต้องไปดูนิยามสุขภาวะของ สสส ว่าอธิบายอย่างไร นี่ผมอธิบายตามความเข้าใจของผม ถ้าเกิดเราขอโครงการไปไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สสส. ซึ่งเขามีกรรมการตั้งแต่ชุดย่อยชุดใหญ่ ชุดระดับบริหาร เมื่อเขาอนุมัติมา ก็เป็นปัญหาของเขาเอง
แล้วถ้าเราเสนอขอไปไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของเขา เขาจะอนุมัติมาได้อย่างไร แล้วผมก็เชื่อว่าเราขอตามวัตถุประสงค์ แล้วเราก็ทำตามวัตถุประสงค์ที่ได้ขอ
-ผลงานที่เป็นที่รู้จักมาก คือ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ด้วยหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา เกิดมาตั้งแต่ปี 2547 ในนามของศูนย์ข่าวภาคใต้ แล้วก็พัฒนาเรื่อยมา จนเป็นสำนักข่าวอิศรา ก่อนมูลนิธิฯ เริ่มรับทุน สสส.ที่เริ่มรับตั้งแต่ปี 2551
-จากเดิมทำเรื่องภาคใต้ เหตุใดระยะหลังเน้นตรวจสอบนักการเมือง
ศูนย์ข่าวสืบสวนก็ทำมาก่อน เป็นวิธีคิดตั้งแต่ตั้งสำนักข่าวอิศรา แล้วสำนักข่าวอิศรา มีหลายองค์กรสนับสนุนอยู่ ไม่ใช่ สสส. อย่างเดียว ซึ่งการสนับสนุนจาก สสส. ที่มีให้กับสำนักข่าวอิศราเพิ่งมาเริ่มปีนี้ เพราะปัญหาภาคใต้มีความรุนแรงขึ้น
คือศูนย์ข่าวภาคใต้ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 เคยหาทุนเองแต่ละปี ทำหนังสือขายได้ตั้งหลายล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนศูนย์ข่าวภาคใต้ ก่อนเป็นสำนักข่าวอิศรา เมื่อก่อนมีทุนเยอะแยะ มีมูลนิธิเอสซีจี มีองค์กรต่างๆ ปีหนึ่งก็มีการจัดฝึกอบรม มีรายได้มาสนับสนุน ส่วน สสส. เน้นภาคใต้นี่เพิ่งเกิดปีนี้
นอกจากนั้น มีทุนต่างๆ อย่าง ป.ป.ช. ก็ให้การสนับสนุนศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวน open society foundation ก็ให้ทุนมา
แล้วมีช่วงหนึ่งมีการปฏิรูปยุคคุณหมอประเวศ วะสี ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณหมอประเวศ มีโครงการพัฒนาฐานข้อมูล เอาฐานข้อมูลมาเผยแพร่ เป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศในขณะนั้น ต่อมาก็พัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ ไม่ได้เกี่ยวกับข่าวสืบสวน เป็นเฉพาะเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น เรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องน้ำ
-ถ้าสักวันหนึ่งต้องตรวจสอบ สสส.
ก็ให้เกิดขึ้นก่อน ให้คนมาร้องเรียนก่อน
-การตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง ได้ให้น้ำหนักตรวจสอบทั้ง 2 ขั้วหรือไม่
ตรวจสอบทรัพย์สินเนี่ยนะครับ เราตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่มันมีประเด็น แต่ว่าโดยหลักทั่วไป ผมยึดหลักที่ผมทำงาน ตั้งแต่อยู่ในมติชนยุคก่อน ก็คือ 1)ให้ข้อเท็จจริงถูกต้อง มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในความสามารถของมนุษย์ที่จะทำ 2) ข้อเท็จจริงครบถ้วน ก็ยึดหลักนี้มาตลอด ก็เอามาใช้ในการทำงาน ต้องไปดูงานเชื่อมโยงต่อเนื่อง อย่าดูงานเฉพาะท่อน ไปดูให้ครบถ้วน
-ถูกมองว่าทำไมตรวจสอบบางฝ่ายมากกว่า
ส่วนผลงานจะเป็นอย่างไรแล้วแต่คนอ่านคนอ่านจะคิดยังไงแล้วแต่เป็นดุลยพินิจชอบไม่ชอบ แล้วแต่ ก็วิพากษ์วิจารณ์ได้
-เวลามีคำวิจารณ์แล้วรู้สึกอย่างไร
ไม่รู้สึกอะไรคือเราก็ดูอันไหนเป็นจริงอันไหนเป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้มีเหตุผลก็พยายามปรับปรุงอันไหนพิจารณาแล้วเห็นว่าไร้สาระ ก็เฉยๆ แต่อันไหนดี ก็เอามาใช้ปรับปรุง
-กรณีเว็บไซต์พระนครสาส์น เอาตัวเลขงบประมาณมาเปิดเผยคิดว่าถูกดิสเครดิตหรือไม่
ผมรู้สึกเฉยๆ มากเลย เพราะผมรู้อยู่แล้วว่า ผมกำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกเฉยๆ จริงๆ แล้วอีกอย่าง ผมไม่รู้ว่า พระนครสาส์นคือใคร เพราะว่าเว็บไซต์ปกติเนี่ย มันต้องรู้ว่าติดต่อที่ไหน อย่างเว็บไซต์มติชนก็มีให้ติดต่อที่ไหนอย่างไร อย่างน้อยต้องรู้ใครเป็นเว็บมาสเตอร์ แต่พระนครสาส์นนี่ ไม่รู้ว่าใครทำ เพื่อนผมลองไปหาที่อยู่ให้ เขาบอกว่า URL อยู่ต่างประเทศอีก
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เว็บไซต์ซึ่งหาที่มาที่ไปไม่ได้ ทำไมตื่นเต้นกันจัง ถ้ากล้าทำต้องกล้ารับสิ ผมเนี่ยใช้ชื่อจริงมาตลอดชีวิตเลย ตั้งแต่เขียนคอลัมน์
-ตัวเลขที่ปรากฏ ดูเยอะ
ก็ใช่ อย่างที่แยกแยะโครงการให้ฟัง แต่ 96 ล้านนี่ ไม่ได้หมายความว่าใช้หมด ถ้าเราทำโครงการเสร็จแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ตรงตามเป้าหมาย แต่เงินเหลือ ก็คืน จริงๆ ใช้ไม่ถึง 90 ล้านด้วยซ้ำไป เพราะต้องคืน แต่ผมไม่รู้ตัวเลขการคืนเท่าไหร่ ต้องไปดูที่ สสส. ผมว่าคืนไปหลายล้านนะ เพราะ สสส. คิดหลักต่างจากงบประมาณราชการ ถ้าเราใช้เงินไม่หมด เอาคืนไป แล้วเขาไม่ตัด ถ้าเราใช้เงินมีประสิทธิภาพ เราขอใหม่ได้ แต่สำนักงบประมาณของไทย ถ้าปีนี้ใช้ไม่ครบ คราวหน้า ตัดเลย
นี่มันต่างกัน ถ้าคุณใช้เงินมีประสิทธิภาพ แล้วครบวัตถุประสงค์ ปีหน้าขอใหม่เลย เขาให้ เพราะถือว่าใช้เงินมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น 96 ล้านที่ว่านี้ เราใช้ไม่หมดนะ คืนไปเท่าไหร่ไม่รู้ ต้องไปดูตัวเลขตรงนั้น
-มีเอกสารพร้อมจะเปิดเผยได้หรือไม่
เอกสารกองอยู่หลังโต๊ะทำงานผมที่นี่พื้นที่เล็กและย้ายที่บ่อยแต่กองอยู่ด้านหลังผมแน่เพราะเก็บเอกสารสำคัญเป็นห่อกระดาษแต่ถ้าไปดูตัวเลขคืนที่สสส. จะมีการจัดระบบ มีคอมพิวเตอร์จัดระบบเพราะต้องเชื่อมกับรัฐ
ผมจัดโครงการเสร็จ เป็นเงินอุดหนุน ทำเสร็จก็ปิดโครงการ ตรวจสอบผ่าน มีใบสำคัญขั้นตอน มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต เวลาเสร็จโครงการ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ส่งโครงการแล้วจบ เขาจะเอาผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเขาส่งมา เราไม่รู้บริษัทไหนด้วยซ้ำไป เขาจะเปลี่ยนหน้ามาทุกปีเลย ถ้าเอกสารไม่ครบถ้วน เขาก็จะเรียกเอกสารมาดู เพราะ สสส. ก็จะโดน สตง. ตรวจอีกรอบหนึ่ง ฉะนั้น เขาก็จะเอาผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต มาตรวจบัญชี อันไหนสงสัยก็จะเรียกเอกสารมาดูหมด
-วิธีการประเมินว่าคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร
เขามีการรีวิวสมมุติคุณจะเสนอโครงการใหม่ก็จะรีวิวของเก่าที่ผ่านๆมาก็จะเรียกเราไปซัก ว่าโครงการนี้ วัดผลอย่างไร ถ้าไม่ได้ ปีหน้าเพิ่มการวัดผลเข้าไปไหม แต่ส่วนของเรามีอยู่แล้ว เช่น โครงการฝึกอบรม ตอนท้าย ก็จะมีการบันทึกว่า วิทยากร เป็นอย่างไร ได้รับประโยชน์จากการบรรยายไหม เอาไปใช้ประโยชน์ได้ไหม พอจบโครงการสัก 3 เดือน สสส. กำหนดว่าไปถามใหม่ว่า สิ่งที่คุณเรียน เป็นอย่างไรบ้าง ใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ถามอาจารย์นิเทศศาสตร์ทุกคนเลยที่มาเรียนอยู่ในหลักสูตรนี้ เพราะเขาอยู่ในภาคีของเรา
เขาก็บอกสุดยอด เพราะเวลาเขาสอนนิเทศศาสตร์ เขาไม่ค่อยมีคอนเทนท์ เขามีแต่กระบวนการเขียนข่าว แต่คอนเทนท์เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เขามาฟังโดยตรง จากที่ไม่เคยฟังอาจารย์คณิต ณ นคร 3 ชั่วโมง อย่างมากได้แต่ฟัง ข่าว 10 นาที แต่พอฟังอาจารย์คณิต 3 ชั่วโมง จะรู้เลย กระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างไร หรือ คราวที่แล้วฟังอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่องสันติวิธี เรื่องแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้ง 3 ชั่วโมง เถียงกันในห้อง ซักกันอุตหลุด เขาได้เห็นของจริง มันต่างจากที่คุณดูทีวี คุณดูทีวี อย่างมากก็ 2 นาที
-มีแหล่งทุนสนับสนุนจำนวนมาก จะกลายเป็นองค์กรสื่อที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือไม่
ไม่ครับ ผมกระจาย แนวคิดผมคือ เอกชนให้ 3 แสน 5 แสน อย่างมากก็ไม่เกินล้าน แล้วก็ต้องคุยกันว่าไม่มีเงื่อนไขนะ ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ถ้าผมต้องเสนอข่าวเกี่ยวกับองค์กรคุณที่ไม่ชอบ ก็เสนอ เพียงแต่ให้ชี้แจงได้อย่างเต็มที่ ตามหลักการ ถ้าไม่พอใจ จะเลิกสนับสนุน ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่ต้องเต้นเป็นเจ้าเข้า ไม่ต้องไปกดดัน แค่นั้น
ไม่เคยมีเงื่อนไขเลย เราไม่ต้องกลัวว่าเขาจะถอนโฆษณา ไม่ต้องไปเซ็นเซอร์ ไปถามนักข่าวดูได้ สำนักข่าวอิศราให้อิสระในการทำงาน ไปถามดูว่า ผมเคยไปกำกับเนื้อหาไหมว่าต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้
มีเพียงแต่กำหนดทิศทางว่าทำเรื่องนี้เรื่องนี้ภาพกว้างๆคุยกันในกองบก. เต็มที่
-มองว่าความเป็นกลางหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนอ่านแต่ละคน
สื่อไหนๆ ก็ถูกวิจารณ์ ความเป็นกลางของคนก็ไม่เหมือนกันอีก หรือบางคนบอกว่า กลางไม่ได้ต้องอยู่ข้างความถูกต้อง บางคนพูดใช่ไหม กลางที่ดีที่สุด คืออยู่ข้างความถูกต้อง "กลางหรือไม่กลางให้เขาไปตัดสินเอาเองเถอะ"
ไม่ได้ท้าทายจริงๆ ถ้าเขาเห็นว่าของเราห่วยเขาคงจะเลิกอ่านไปเอง แล้วเราไม่ได้อยู่แบบการจัดจำหน่ายแบบหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องไปวางแผง ต้องง้อคนซื้อ
คนอ่านหรือไม่อ่าน วิธีคิดลอยัลตี้แบบสื่อสิ่งพิมพ์มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว คุณแค่กระดิกนิ้วคุณก็ได้อ่านในโลกออนไลน์แล้ว ลอยัลตี้แบบสื่อสิ่งพิมพ์ต้องไปซื้อปากซอยไม่มีแล้ว