“ดร.เจษฎ์” วิเคราะห์ 3 สูตร แก้วิกฤตการเมือง หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ
"ดร.เจษฎ์" วิเคราะห์ 3 สูตร แก้วิกฤตการเมือง เปิดทาง นายกฯ คนกลาง-สนช. "ล้มกระดาน" หลังคำวินิจฉัย เลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็น โมฆะ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โดยวิเคราะห์ถึงสูตรการเมืองที่อาจถูกนำมาใช้หากการเลือกตั้งปกติไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 3 แนวทาง ดังนี้
1. เปิดทาง-เชิญนายกฯ คนกลาง เป็นหัวหน้าพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ดร.เจษฎ์กล่าวว่าสูตรแรก คือมีผู้เสนอนายกฯ คนกลาง โดยแต่ละพรรคเชิญบุคคลผู้นั้นมาเป็นหัวหน้าพรรคของตน และในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ตกลงกันว่าต้องไม่มีฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่กำหนดให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตของสองพรรคใหญ่คือ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ อาจเป็นฝ่ายเสนอ และกำหนดให้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคเป็นฝ่ายตรวจสอบ
“การเลือกตั้ง ต้องไม่มีฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่ให้มีฝ่ายตรวจสอบ คือผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์และทุกพรรค มารวมกับเป็นฝ่ายคตรวจสอบ จากนั้น คนกลางที่เลือกกันมาเป็นหัวหน้าพรรคและได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็จะไปเลือกคนนอกที่เห็นว่าเหมาะสมมาแสดงวิสัยทัศน์ ในสภาฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ จากนั้น ไปแก้บทเฉพาะกาลใน รัฐธรรมนูญ ให้มีสภาปฏิรูป มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามที่เห็นว่าควรแก้ไข นี่คือสูตรที่หนึ่ง” ดร.เจษฎ์ระบุ
2. ล้มกระดานบางส่วน-เสนอนายกฯ ม.7
ดร.เจษฎ์ ระบุว่า “ล้มกระดานกันไปบางส่วนแล้วเริ่มกันใหม่ คือ คณะรัฐมนตรีรักษาการชุดนี้ลาออกไป ซึ่งหากมีใครเห็นว่าลาออกไม่ได้ ก็สามารถไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าศาลท่านเห็นว่าลาออกได้ ก็เดินหน้าสู่การเสนอชื่อนายกฯ ตามมาตรา 7 ซึ่งแม้จะมีการกำหนดว่านายกฯ ต้องมาจากการเป็น ส.ส. แต่ถ้าไม่มี ส.ส. แล้ว ก็ต้องดูจารีตประเพณี”
ดร.เจษฎ์ อธิบายว่า สถานการณ์เมื่อครั้งแต่งตั้งศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ในตอนนั้นมีเหตุการณ์คือจอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออก ก็ดูว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในตอนนี้ ไม่มีประธานวุฒิสภาแล้วก็ต้องเป็นหน้าที่รองประธานวุฒิสภา เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ขึ้นทูลเกล้า ฯ
“จากนั้น นายกฯ คนกลางนี้ก็ดำเนินการแต่งตั้ง ครม.ขึ้นมา โดยในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ก็คงต้องใช้วุฒิสภาดำเนินการไปก่อน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาของทั้งสูตรที่หนึ่งและสูตรที่สอง จะมีปัญหาที่รัฐสภา ว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อไม่มี ส.ส. และไม่มีการเลือกตั้ง และถ้ามีการเลือกตั้ง สว. ไปแล้วจะทำอย่างไร จะถือว่า สว. เป็น สมาชิกเต็ม โดยไม่ต้องมี ส.ส. หรือเปล่า ตรงนี้จะมีปัญหา เพราะจะมีผู้ออกมาค้านว่าสมาชิกสภาฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ดร.เจษฎ์ ระบุ
สูตร 3 ล้มกระดานทั้งหมด-สว.ลาออก เปิดทาง สนช.
นักวิชาการรายนี้ กล่าวถึงสูตรที่ 3 ว่าอาจจะมีการล้มกระดานทั้งหมด โดยสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาลาออก เปิดทางให้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“ซึ่งหากใช้วิธีการนี้ ต้องทำอย่างรวดเร็ว คือภายในวันนี้ พรุ่งนี้ เลย เพราะต้องทำก่อนจะมีการเลือกล่วงหน้า สว. ล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาว่ามีการใช้สิทธิ์เกิดขึ้นแล้ว จะทำอย่างไร วิธีของสูตรนี้ เมื่อ สว.สรรหาลาออกทั้งหมด ก็ต้องดูตามจารีตประเพณีว่าในยามบ้านเมืองไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จะทำอย่างไร ก็ต้องมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกิดขึ้นมา แต่ว่าสูตรทั้งหมดนี้ นับตั้งแต่สูตรแรกมาถึงสูตรที่สาม ล้วนมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย คือสูตรแรก ยังพอเป็นไปได้ แต่สูตรที่สามเป็นการบังคับกันมากขึ้นเรื่อยๆ” นักวิชาการด้านกฎหมายรายนี้ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ควรนำหลายสูตรมาปรับใช้ โดยให้ความสำคัญกับห้วงวาระในการเลือกตั้งที่ต้องมีความเหมาะสม
“ผมเคยเสนอไว้ตั้งแต่แรกว่านายกฯ อย่าเพิ่งลาออก อย่ายุบสภา แต่ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่ทำ ส่วนในเวลานี้ ผมว่าประเด็นเรื่องห้วงวาระในการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญมาก คงต้องนำเอาหลายๆ สูตรมารวมกัน แต่ถ้าไม่ใช้สูตรแรกจะเหนื่อยเพราะสูตรที่เหลือไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ในเวลานี้ ทุกฝ่ายควรต้องถือเอาบ้านเมืองเป็นหลัก แต่ตอนนี้ไม่มีใครยึดบ้านเมืองเป็นหลัก” ดร.เจษฎ์ ระบุ
ภาพประกอบจาก www.google.co.th