คณิน บุญสุวรรณ : ความเชื่อมั่น “ศาล” ในยุคปีระมิด “ตุลาการ” กลับหัว ?
“…ถ้าคิดในอนาคต สภาพอย่างนี้ ในอนาคตกี่ปีข้างหน้าไม่ทราบได้ แต่ตุลาการแบบนี้จะแตก เพราะมันเป็นปีระมิดหัวกลับ และทุกวันนี้ตุลาการฝ่ายการเมืองเล่นการเมืองทุกคน แม้กระทั่งตุลาการศาลรธน. …”
กลายเป็นเรื่องที่โจษจันไปทั่วทุกหัวระแหงอีกครั้ง !
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) มีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 (พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ) ข้อกำหนดที่ให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง จึงถือว่าไม่เลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่งผลให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรค 2
ขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ศาลรธน. ก็เพิ่งวินิจฉัย “คว่ำ” ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท) ขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งเนื้อหาและกระบวนการอีกด้วย
ส่งผลให้มีหลากกลุ่มหลายองค์กรในสังคม ออกมาตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยว่า เป็นอีกครั้งที่ “ศาล” ใช้อำนาจก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร
ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ “ศาล” เลิกมีวาระ หรือเลิกยุ่มย่ามกับ “การเมือง”
และท้ายสุด “ศาล” ยังคงเป็นที่พึ่งสุดท้ายในสังคมได้อยู่หรือไม่ ?
จึงเป็นที่มาของงานเสวนาวิชาการ “ฤาตุลาการจะทำให้ประเทศแตกแยก ?” จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยภายในงานมีการเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์โชกโชนด้านการเมืองมาอย่างมากมาย ซึ่งรวมไปถึง “ดร.คณิน บุญสุวรรณ” อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พ.ศ.2540 ด้วย
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งประเทศไทยเป็นสองเสี่ยงอย่างชัดเจน 20 ล้านคนไม่ใช่ธรรมดาแต่มากถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 40 ล้านคน ฉะนั้นชัดเจนว่าคุณแบ่งคนไทยเป็นสองเสี่ยง” ดร.คณิน ยืนยันหนักแน่น
ทำไม “ดร.คณิน” ถึงกล้ากล่าวเช่นนั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอรวบรวมทัศนะของ “ดร.คณิน” ในกรณีดังกล่าวไว้อย่างละเอียด ดังนี้
“…ความจริง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็ต้องยอมรับว่า ไปเพิ่มบทบาทของศาลเข้าไปมาก แต่ก็ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ศาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่เวลาเดียวกันสิ่งที่แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (รธน.2540) กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือการดำเนินการปัจจุบันก็คือ ที่มาขององค์กร ไม่ว่าจะมาจากศาล หรือมาจากองค์กรใด ๆ ก็สุดแท้แต่
ที่มาของรธน.2540 นั้นยึดโยงกับประชาชนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคณะกรรมการสรรหาแล้ว คณะกรรมการสรรหาก็ประกอบด้วยองค์ประกอบที่หลากหลายพอสมควร แม้จะไม่หลากหลายเต็มที่เท่าที่เราต้องการ
ที่สำคัญคือคณะกรรมการสรรหาเสร็จเรียบร้อย เราจะส่งรายชื่อไปให้วุฒิสภาทำการคัดเลือกอีกทีหนึ่ง วุฒิสภาในตามรธน.40 นั้นไม่ใช่สภาให้ความเห็นชอบอย่างเดียว วุฒิสภา พ.ศ.2540 มีอำนาจเลือกเอาหรือไม่เอาด้วย ฉะนั้นรายชื่อเสนอไปที่วุฒิสภาจึงเป็น 2 เท่าที่เราต้องการ สมมติ สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5 คน เราต้องเสนอชื่อไป 10 คน แล้วให้วุฒิสภาเลือกมาให้ถึง 5 คนตามที่ต้องการ
เหนือสิ่งอื่นใด หลักการนี้สำคัญมาก องค์กรที่จะมาทำหน้าที่ในการเลือกองค์กรตรวจสอบทั้งหลาย รวมทั้งศาลรธน. ด้วยคือ วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ฉะนั้นถ้าถามว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ทำอย่างไรถึงจะดึงศาลเอาออกจากการเมืองได้หรือไม่ ผมคิดว่าเป็นคนละประเด็นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เริ่มตั้งปี 2549 เป็นต้นมา
ต่อคำถามหัวข้อเสวนาวันนี้ ในด้านหนึ่งอาจเป็นความรู้สึกของพวกเราที่รักประชาธิปไตย และความยุติธรรม แต่มาถึงวันนี้เป็นเรื่องน่าคิด ในขณะที่เราอาจมองได้เหมือนกันว่า เวลานี้ตุลาการทำให้ประเทศไทยแตกแยก ถ้าพูดถึงตรงนี้ แล้วก็ระบุชัดเจนว่า ศาลรธน. ก็คือตุลาการ เมื่อวานนี้ (21/3/57) ทำให้ประเทศไทยแตกแยกเรียบร้อย แตกเป็นสองเสี่ยง เพราะการตัดสินการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งของคน 20 ล้านคน หลายคนฝ่าดงเท้า เอาชีวิตแทบไม่รอด ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกขัดขวาง ทุกอย่าง แต่ศาลรธน. ได้ตัดสินแล้วว่าเสียง 20 กว่าล้านคน ไม่ถูกต้อง เป็นโมฆะ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งประเทศไทยเป็นสองเสี่ยงอย่างชัดเจน 20 ล้านคนไม่ใช่ธรรมดาแต่มากถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 40 ล้านคน ฉะนั้นชัดเจนว่าคุณแบ่งคนไทยเป็นสองเสี่ยง
แล้วท่านบอกเอง ตุลาการทั้ง 6 คน ความจริงอย่าถือตัวเลข 6 ต่อ 3 มันละคร มีอะไรมากกว่านั้น เดี๋ยว 8 ต่อ 1 เดี๋ยว 7 ต่อ 2 เดี๋ยว 5 ต่อ 4 เดี๋ยว 6 ต่อ 3 เล่นกันสนุกสนานกันเลย รู้ ๆ กัน
คำวินิจฉัยส่วนตน รธน. ระบุชัดเจน ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จนป่านนี้ คำวินิจฉัยหลายเรื่องที่พลิกแผ่นดินยังไม่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา หลายครั้งหลายหน คำวินิจฉัยส่วนตน ส่วนกลาง ยังไม่ได้เขียนเลย แต่ลงมติไปแล้ว
อย่างเมื่อวานนี้ การวินิจฉัย การพิจารณาเรื่องสำคัญอย่างมาก กระทบกระเทือนต่อประชาชนทั้งประเทศ ไปพิจารณาลับ ๆ เสร็จแล้วมีกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาให้ทุกคนยอมรับ จนป่านนี้นักกฎหมายที่ไหนก็แล้วแต่ยังอ่านคำวินิจฉัยไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอะไร เรารู้แค่เพียงว่ามันโมฆะ จบ ใช่หรือไม่
ฉะนั้น ตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรธน. ซึ่งอย่างชัดเจนเวลานี้เป็นตัวแทนของฝ่ายตุลาการ และที่บอกว่าแตกต่างจาก รธน.2540 เพราะ รธน.2540 มีตุลาการศาลรธน. 15 คน แต่ รธน.2550 มีตุลาการศาลรธน. 9 คน
ความจริงที่แตกต่างคือ องค์คณะมี 9 คนจาก 15 คน ที่กำหนดว่าองค์คณะ 9 คนเพื่อให้รอบคอบ ให้มีความหลากหลาย และมีความมั่นคง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรธน. สิ้นสุดเด็ดขาด และผูกพันทุกองค์กร ฉะนั้นจะต้องมีบรรทัดฐาน
แต่ว่าตาม รธน.2550 ลดลงเหลือ 9 คน และองค์คณะเหลือ 5 คน ดูสิว่าองค์ประกอบศาล รธน.2550 ที่บอกว่ามี 9 คน แต่ในองค์คณะ 5 คน 3 คนมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา อีก 2 คน มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ดังนั้น 5 คนนี้ เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด คือประเทศไทยจะพิจารณาเรื่องอะไรก็สุดแท้แต่ แต่ 5 คนนี้จะเป็นคนที่มีเสียงเด็ดขาด
และการวินิจฉัยของศาลรธน. เมื่อวานนี้นั้น ถ้าถามว่า เหนือความคาดหมายหรือไม่ ถ้าท่านทั้งหลายเห็นหนังสือเล่มนี้ ชื่อ “ศาลาธิปไตย” เอามาจากไหน ศาล สนธิกับ อธิปไตย แสดงว่า อธิปไตยเป็นของศาล ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดคำวินิจฉัยของศาลรธน. จึงออกมาในลักษณะเมื่อวานนี้
ฉะนั้น ในส่วนหนึ่งเห็นชัด ๆ ว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน. แบ่งแล้วเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งต้องการประชาธิปไตย อีกครึ่งประเทศคือไม่ต้องการประชาธิปไตย ทีนี้จะต้องต่อสู้กันไป
ถามว่าตุลาการจะทำให้ประเทศไทยแตกแยกหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่มีทาง ที่ตุลาการจะทำให้ประเทศไทยแตกแยก แต่ในทางกลับกันนั้น ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ตุลาการนั้นแตกแยกมาแล้ว แตกเป็นอะไร แตกเป็นตุลาการฝ่ายประจำ กับตุลาการฝ่ายการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มี ก่อนหน้านั้นตุลาการเป็นประจำ ฉะนั้นเราอาจมีความหวังได้บ้างในกระบวนการยุติธรรมที่มันเกิด
แต่หลังการรัฐประหาร ปี 2549 มันแตกแยกเป็นฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมือง ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือฝ่ายประจำที่ว่านี้ ความรับผิดชอบในสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรม ที่เรียกว่าศาลสถิตยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีแพ่ง คดีอาญา เมือก่อนนี้ศาลสถิตยุติธรรมทั้งหลายรับผิดชอบ ถึงกระนั้นเรายังเคยได้ยินเสียงบ่นอยู่เสมอว่า กระบวนการยุติธรรมมันล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อก่อนเป็นภาษิตกฎหมายว่าการล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมก็คือความไม่ยุติธรรมนั่นเอง แต่หลังปี 2549 ยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะตุลาการฝ่ายประจำที่ต้องมารับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมตรงนี้ ภาระหนักขึ้นทุกที ปรากฏว่ามันถูกลดลงไป เพียงแค่เหลือผู้พิพากษาตุลาการในศาลชั้นต้นเท่านั้น
ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลชั้นต้นทั้งนั้น แค่นั้นเองที่เป็นฝ่ายประจำ นอกนั้นเป็นฝ่ายการเมืองหมด ฝ่ายการเมืองที่ว่านั้น เริ่มจากศาลอุทธรณ์ เพราะเมื่อก่อนศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีแพ่ง คดีอาญาตามปกติ แต่หลังปี 2549 เป็นต้นมา มีศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง ดูแลจัดการควบคุมการให้ใบเหลือง ใบแดง การเลือกตั้งท้องถิ่น จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งใหญ่มาก
นี่คือศาลการเมือง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องแบ่งคนไปดูแลเรื่องของคดี คิดดูสิว่าคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นปีหนึ่งเท่าไหร่ หลายพันครั้ง ที่มันเกิดขึ้น ฉะนั้นความรับผิดชอบตรงนี้มันถูกแบ่งไปแล้ว
สูงไปกว่านั้นก็คือ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งนั้น จัดการควบคุมเลือกตั้งให้ใบเหลือง ใบแดง กับการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้ง ส.ว. เป็นตุลาการฝ่ายการเมืองไปเรียบร้อย
ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ใน รธน.2550 มีการเขียนบทบัญญัติของ รธน. ในลักษณะที่หมกเม็ด ในมาตรา 306 ของบทเฉพาะกาลของ รธน. ฉบับนี้ เขาเขียนไว้ว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ที่เกษียณตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป ให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในชั้นศาลที่ตัวเองเกษียณ ทำงานได้จนกว่าจะอายุครบ 70 ปี ความหมายง่าย ๆ ก็คือ ต่อเกษียณอายุจนอายุ 70 ปี และมีอำนาจเต็มเหมือนกับผู้พิพากษาที่ยังไม่เกษียณอายุทุกประการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ถ้าเกษียณอายุตั้งแต่ 60 ปีแล้ว ท่านก็จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาต่อไปอีก 10 ปี เงินเดือนเท่าเดิม เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ แต่เขาว่ากันว่ารวมแล้วเกือบสองแสน
จำนวนผู้พิพากษาศาลฎีการ ตอนที่ผมนั่งเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจนป่านนี้ศาลรธน. ยังไม่ได้ใช้เลย
เคยคุยกับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เป็น กมธ. อยู่ข้าง ๆ ถามท่านว่า จำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาในตอนนั้นมีกี่คน ท่านบอกว่า 89 คน แค่นั้น ก็นึกในใจได้ทันทีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้พิพากษาศาลสูงสุดมากที่สุดในโลกแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกามีแค่ 9 คน ญี่ปุ่นมีแค่ 15 คน เท่านั้น และแต่ละประเทศก็มีประมาณเท่านี้ทั้งนั้น
แต่มาเจอมาตรา 306 ทำให้แต่ละปีมีผู้พิพากษาศาลฎีกาเกษียณอายุกี่คน และมีหรือไม่เกษียณอายุอย่างนี้แล้วเปิดช่องว่า พอแล้ว กลับบ้านไปเลี้ยงสุนัขดีกว่า ไม่มีหรอก ทุกคนมุ่งหน้าไปเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา เพราะว่าอำนาจใหญ่จะไปรวมกันที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นขุมอำนาจใหญ่ มีอำนาจที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระทั้งหลาย ตุลาการศาลรธน. รวมทั้งการคัดเลือก ส.ว. ด้วย ฉะนั้นอำนาจมากมายมหาศาล ตรงนี้แหละเป็นตุลาการฝ่ายการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว
ผลอย่างนี้ที่ปรากฏก็คือ ท่านก็รู้จักปีระมิดยอดมันต้องแหลม แล้วฐานมันต้องกว้าง แต่โครงสร้างของตุลาการตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา นับวันจำนวนผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกามากขึ้นทุกปี มันจะกลายเป็นปีระมิดหัวกลับ เพราะผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นไปเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ยากขึ้นแล้ว เพราะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อเกษียณอายุแล้วก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงศาลฎีกาเลย
ฉะนั้นหนทางที่จะขึ้นไปยากลำบาก มันกลายเป็นปีระมิดหัวกลับ ในขณะที่หัวกลับมาที่ต้องรับผิดชอบต่อการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมพื้นฐานในศาลชั้นต้น เหลือคนอยู่น้อยเต็มที ขวัญกำลังใจจะไม่มี
และถ้าคิดในอนาคต สภาพอย่างนี้ ในอนาคตกี่ปีข้างหน้าไม่ทราบได้ แต่ตุลาการแบบนี้จะแตก เพราะมันเป็นปีระมิดหัวกลับ และทุกวันนี้ตุลาการฝ่ายการเมืองเล่นการเมืองทุกคน แม้กระทั่งตุลาการศาลรธน. …”
ทั้งหมดนี้คือทัศนะต่อ “ศาล” และ “ตุลาการ” ไทย ในสายตา “อดีต สสร.รัฐธรรมนูญ 2540” อย่าง “ดร.คณิน”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก matichon