"ศรีสมภพ" ชี้คำวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะเปิดทางทุกฝ่ายเข้าสู่การเจรจา
"ศรีสมภพ" ชี้ คำวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.โมฆะ เปิดทางทุกฝ่ายเข้าสู่การเจรจา หากการเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่เกิด หวั่นขัดแย้งบานปลาย สูญเสียยิ่งกว่าที่ผ่านมา ด้าน “ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ระบุยังไม่เห็นอนาคตว่าความขัดแย้งจะยุติลงได้อย่างไร เหตุทุกฝ่ายไม่เคารพกติกา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงมุมมองต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองว่าจะคลี่คลายหรือเผชิญกับทางตัน ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยนักวิชาการรายนี้เห็นว่าเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งหันหน้าสู่การเจรจา และเริ่มต้นใหม่
ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวว่า กระบวนการต่อจากนี้อยู่ที่การจัดการ หรือว่าการทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องของการเลือกตั้ง ที่เราจะต้องดำเนินการใหม่ เพราะว่าตามหลักแล้ว เขาต้องการให้ การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ ที่ทำให้เกิดการประนีประนอม การแก้ปัญหา ทางการเมืองอย่างสันติในระบบประชาธิปไตย คือ ถ้าเราเชื่อว่าการเลือกตั้งมันเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาอย่างสันติ ดังนั้น การเลือกตั้งใหม่ก็อาจคลี่คลายไปสู่การเจรจา
"ถ้า กปปส. หรือพรรคประชาธิปัตย์ ยินยอมให้มีการเลือกตั้งอย่างสันติทั่วประเทศ ถ้ามีการประณีประนอมได้แบบนั้น ก็จะดี โดยที่ กปปส. หรือประชาธิปัตย์ไม่ขัดขวาง และพรรคเพื่อไทย ก็พร้อมเลือกตั้งด้วย ถ้าเป็นได้แบบนั้น การเลือกตั้งครั้งใหม่ก็จะสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน จริงๆ ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละฝ่ายควรต้องยอมรับว่าเป็นการสู้กันทางการเมืองจริงๆ รัฐบาลก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมาย"
นักวิชาการรายนี้ ระบุว่า ความเสียหายของงบประมาณที่ถูกใช้ไปในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์นั้น หากมองว่าเป็นต้นทุนเพื่อเป็นบทเรียนสำคัญให้กับสังคม ก็ถือว่าไม่ได้สูญเปล่า
"ความเสียหายที่เกิดขึ้น หากมองว่าเป็นต้นทุน งบฯที่ใช้ไปก็ไม่สูญเปล่า และคำวินิจฉัยวันนี้ เราก็ถือเป็นทางออกได้ เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ไม่โทษใคร ไม่ตำหนิใคร เพราะทุกฝ่ายมีความจำเป็น มีเงื่อนไข มีขีดจำกัด ถ้ายอมรับกัน จากนี้ก็นำไปสู่ทางออกได้ แต่ถ้าไม่เป็นแบบนั้น ก็จะเกิดเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง ต้องย้ำว่าเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและจะขยายตัวมากขึ้น ต้นทุนก็จะสูงมาก และหากเป็นแบบนั้นก็เป็นจุดที่หมิ่นเหม่ สร้างความสูญเสียต่อสังคมไทยทั้งหมด" ศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ
ขณะที่ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า และอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีเดียวกัน
โดย ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ยอมรับว่าแม้จะมีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่ตนก็ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะจบลงอย่างไร และเห็นว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือทุกฝ่ายที่ขัดแย้ง ไม่เคารพกติกา ขณะเดียวกัน กติกาที่นำมาใช้ ก็ควรต้องเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรม มีหลักการ และเหตุผลเพียงพอต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม
“ผมไม่ทราบ ไม่แน่ใจว่าจะไปต่อจากนี้จะสถานการณ์จะไปทางหนึ่งทางใด ไม่รู้อนาคตว่าเมื่อมีกำหนดเลือกตั้งใหม่แล้ว การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเรียบร้อยหรือเปล่า จะถูกขัดขวางหรือเปล่าดังนั้น ตอบไม่ได้ว่า และถ้าหากไม่มีการขัดขวางแล้ว ก็ไม่รู้ว่าพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน จะลงเลือกตั้งหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แล้วถ้าเขายังไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคฝ่ายค้าน เขาจะมองบทบาทของเขาอย่างไร ตอนนี้ผมก็พูดได้แค่นี้ เพราะยังมีปัจจัยอีกมากที่คาดเดาลำบาก เราไม่รู้ความแน่นอนทั้งจากฝ่ายที่ขัดขวาง และไม่รู้ว่า กกต. (คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ) จะรับมือได้มากน้อยเพียงใด”
ศ.ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการละเมิดกติกา ขณะเดียวกัน กติกาที่นำมาใช้ก็ต้องมีความเที่ยงธรรมแกทุกฝ่ายด้วย
“ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกติกาอย่างเที่ยงธรรม บ้านเมืองก็จะดำเนินไปตามวิวัฒนาการของสังคม แต่ถ้าไม่เป็นไปตามกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย มันก็คาดเดายากว่าบ้านเมืองจะเดินไปอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหน และทุกภาคส่วนในสังคมก็ควรยึด ปฏิบัติตามกติกา รวมทั้งระบบยุติธรรม ก็ต้องเป็นไปตามหลักเหตุผลที่อธิบายได้ตามหลักการที่ถูกต้อง”
นักวิชาการรายนี้กล่าวว่า สังคมไทยต้องตั้งหลักให้ได้โดยเริ่มที่การหันมายึดมั่นในกติกาที่เป็นอยู่ แต่หากเห็นว่ากติกาใดไม่เหมาะสมก็ควรเสนอให้มีการแก้ไขไปตามกระบวนการ
“ที่ยุ่งๆ อยู่ตอนนี้ เพราะไม่เป็นไปตามกติกา ก็เลยคาดการณ์อะไรไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ากติกาที่มีไม่ควรแก้ไข ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็เสนอให้มีการแก้ไขได้ และที่สำคัญ เราก็ควรเปิดโอกาสให้สังคมได้มีโอกาสวิวัฒนาการไป อย่าไปฝืนวิวัฒนาการของสังคม” ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ระบุ