ชวนคุย 'เจ้าสัวบัณฑูร' กับภารกิจฟื้นป่าน่าน ดินเเดนสิเหนหามนตาเเห่งลานนา
“ผมยังไม่เห็นยี่ห้อระดับโลกเข้ามาในเมืองน่านเลย ยกตัวอย่างการแฟสตาร์บัค จริง ๆ แล้ว เมืองแห่งนี้มีความอร่อยอยู่ในความเรียบง่าย ถ้าจะหาของแบบที่โลกให้ราคาแพง ๆ ไว้ อย่ามาหาที่นี่ เพราะเขาจะกินผักกินปลากันง่าย ๆ ถ้าต้องการโลกสากลต้องไปจ.เชียงใหม่หรือภูเก็ต"
หากใครเป็นคอหนังสือคงต้องบอกว่า ‘สิเหนหามนตาแห่งลานนา’ ถือเป็นนวนิยายเล่มแรกในชีวิตของเจ้าสัวใหญ่แห่งธนาคารกสิกรไทย ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ที่ได้ใช้เวลากว่า 1 ปี จินตนาการผ่านปลายปากกาสู่สวนอักษรอันวิจิตร สร้างความแปลกใหม่แก่วงการวรรณกรรมไทย ด้วยการนำเสนอเรื่องราว 2 ช่วงมิติแห่งกาลเวลา ‘ฉากแจ้งและฉากเงา’ ปัจจุบันและอดีต แฝงไปด้วยกลิ่นไอวัฒนธรรมพื้นถิ่นแห่งลานนาตะวันออก
ซึ่งคุณบัณฑูรยอมรับว่าได้ต้องมนต์เสน่ห์ของเมืองน่านแห่งนี้เสียแล้ว จนปัจจุบันถึงกับย้ายสำมะโนครัวไปพึ่งบุญที่ดินแดนเล็ก ๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขเลยทีเดียว อีกทั้งยังไปตั้งธนาคารกสิกรไทย สาขา ปัว และโรงแรมพูคาน่านฟ้าที่แสนสวยงามจากไม้สักอันโดดเด่น
และในโอกาสที่สื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิต ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการ ‘รักษ์ป่าเมืองน่าน’ โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะเจ้าบ้าน ‘เจ้าสัวแบงก์’ จึงได้เลี้ยงอาหารค่ำและร่วมพูดคุย
คุณบัณฑูร เริ่มต้นเล่าด้วยเสียงนุ่มว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เมืองน่านมีระดับกราฟความดังพุ่งสูงจนชัน แม้จะเป็นจังหวัดเล็กที่อยู่ห่างไกล แต่ได้มีการลงข่าวประชาสัมพันธ์อยู่เนือง ๆ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ สร้างความฮือฮาให้คนทั่วไปสนใจเดินทางมาสัมผัส ซึ่งจริง ๆ แล้วเมืองน่านถือเป็นพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าค้นหา มีอุทยานแห่งชาติที่อาจจะมากที่สุดในประเทศถึง 7 อุทยาน ด้วยภูมิประเทศ 85% เป็นภูเขา และ 15% เป็นที่ราบลุ่มน้ำ
“น่านถูกยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อประมาณปี 2470 โดยก่อนหน้านั้นมีพระเจ้าน่านปกครอง ภายใต้ระบบการจัดการของตนเอง ซึ่งเมื่อ 80-90 ปี ที่ผ่านมาคนไม่รู้จักนัก เพราะการเดินทางลำบาก รถไฟเข้าไม่ถึง ส่วนเครื่องบินไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มี ประกอบกับช่วงเวลานั้นเกิดการต่อสู้กันเองในพื้นที่ระหว่างคนไทยด้วยกัน”
แต่ระยะหลังการเดินทางด้วยเครื่องบินถือเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ส่งผลให้คนเข้าถึงเมืองน่านได้ง่าย ซึ่งหากไม่มีเครื่องบินจะต้องใช้เวลาเดินทางร่วม 10 ชั่วโมง ซึ่งตอนที่ผมมาครั้งแรก ๆ หลายคนที่นั่งในนี้คงไม่เข้าใจว่าดินลูกรังเป็นอย่างไร ดินที่ว่านี้มีลักษณะเป็นสีส้ม ๆ และเมื่อมาถึงสิ่งแรกที่ผมต้องทำคือสระผมก่อน แต่ตอนนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว
เจ้าสัว กล่าวต่อว่า หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าสนามบินในประเทศมีกี่สนามบิน คำตอบคือมีทั้งหมด 62 สนามบิน ซึ่งหลายที่มีเฉพาะสนามบิน แต่ไม่มีเครื่องบิน เพราะไม่รู้ว่าจะขึ้นเครื่องบินไปทำไม หากต้องก่อสร้างเพราะการเมืองท้องถิ่นบอกให้มีสนามบินนั่นเอง
โดยสนามบินของเมืองน่านนั้น มีรันเวย์ค่อนข้างยาว 2 กม. เครื่องบินโบอิ้ง 737 สามารถจอดลงได้ ถือเป็นสนามบินที่มีรันเวย์ค่อนข้างยาวกว่าที่อื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเล็ก ๆ ด้วยกัน ส่วนอาคารผู้โดยสารที่มีขนาดเล็กนั้น อนาคตกำลังจะเปิดทำการที่อาคารหลังใหม่
คุณบัณฑูร ระบุต่อว่า เมืองน่านมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องท่องเที่ยว และระยะหลังการท่องเที่ยวกลายเป็นเรื่องใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย คนต่างเสาะแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งตัวผมเองมาเมืองน่านเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลเล็ก ๆ เกี่ยวกับการทำห้องสมุดนักเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร ภายใต้โครงการของธนาคารกสิกรไทย และเริ่มต้นที่แรก ณ เมืองน่าน
“ผมมาเมืองน่านวันเดียวเท่านั้นก็ติดเลย จะสังเกตเห็นว่ามีสภาพบ้านเมืองที่สะอาด สงบ ไปไหนมาไหนง่าย ผู้คนเรียบร้อย วัดสะอาด ซึ่งมีข้อสังเกตว่าไม่เห็นหมาวัดเลย จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าทำไมไม่มีหมาในเมืองน่าน ซึ่งตอนแรกความคิดรุนแรงถึงขนาดอาจมีการกินหมาขึ้น” เขากล่าว และยืนยันว่าเมืองน่านไม่ใช่เมืองกินเนื้อหมา แต่ด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่นิยมเลี้ยงหมาต่างหาก ซึ่งผมมาอยู่ที่นี่ 5 ปี เคยเห็นหมาไม่กี่ตัว นาน ๆ จะโผล่มาซักตัว นับเป็นความแปลกอีกรูปแบบหนึ่ง
เจ้าสัว บอกด้วยว่า เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งคือทุนนิยมยังมาไม่ถึงแบบแรง ๆ มีคนพูดมาหลายปีแล้วว่าเมืองน่านอาจเปลี่ยนแปลงไปเหมือนเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะน่านมีวัฒนธรรมของความเป็นชุมชนที่สงบ สภาพบ้านเมืองยังไม่มีการก่อสร้างไฮไลท์ดึงดูดนักท่องเที่ยว เรียกว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ส่วนบริเวณกลางเมืองถึงแม้ไม่มีกฎหมายที่เข้มงวดมาก แต่ในความเข้าใจของคนเมืองน่าน คือ ห้ามก่อสร้างอาคารเกิน 3 ชั้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาคอยกำกับอยู่และทุกคนก็เชื่อฟัง ทำให้ตนเองรู้สึกว่าเมืองน่านคงไม่ไหลพรวดไปเหมือนเมืองปายที่กำลังกลายเป็นเมืองคาวบอย
“ผมยังไม่เห็นยี่ห้อระดับโลกเข้ามาในเมืองน่านเลย ยกตัวอย่างการแฟสตาร์บัค จริง ๆ แล้ว เมืองแห่งนี้มีความอร่อยอยู่ในความเรียบง่าย ถ้าจะหาของแบบที่โลกให้ราคาแพง ๆ ไว้ อย่ามาหาที่นี่ เพราะเขาจะกินผักกินปลากันง่าย ๆ ถ้าต้องการโลกสากลต้องไปจ.เชียงใหม่หรือภูเก็ต เพราะเมืองน่านมีแต่บรรยากาศ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างยิ่ง ถึงขนาดสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองเขียนนวนิยายเรื่องสิเหนหามนตาแห่งลานนา
คุณบัณฑูร ชวนคุยข้ามช็อตมาถึงโจทย์ที่นัดรวมตัวกันครั้งนี้ นั่นคือ โครงการรักษ์ป่าน่าน โดยยอมรับว่าภายใต้ความมีเสน่ห์ของเมืองน่าน ทำให้มองไม่เห็นจุดด้อย กระทั่งทราบข่าวว่ามีการสูญเสียป่ามากขึ้น ซึ่งต้องพูดให้ดี จะเรียกว่า ‘ตัดไม้ทำลายป่า’ ไม่ได้ จะต้องพูดให้ดีด้วยความระวัง เพราะเท่าที่ศึกษามาการสูญเสียของป่าน่านนั้น ไม่ใช่มีโจรมาตัดไม้ทำลายป่าอย่างที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด
แต่เป็นเรื่องของความจำเป็นต้องทำมาหากินของคนท้องถิ่น ซึ่งที่ดินเดิมไม่เพียงพอ ด้วยระยะหลังมีความมั่งคั่งของโลกทุนนิยม คนเลยติดความรู้สึกอยากมีมากขึ้น ประกอบกับจำนวนประชากรเพิ่ม แต่ที่ดินกลับมีเท่าเดิม จนนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชที่ให้ราคาสูง
“โลกของทุนนิยมมาถึงเมืองน่าน และทำให้เกิดอาการต่อเนื่องมาหลายปี ฉะนั้นถือเป็นการตกผนึกของปัญหาจากความร่วมมือขององค์กรชุมชนและหลายเครือข่ายร่วมกัน แต่ถามว่าตอนนี้หาทางแก้ไขได้หรือไม่ ผมบอกตามตรงยังคิดไม่ออก”
เจ้าสัว กล่าวต่อว่า โครงการรักษ์ป่าน่านเกิดขึ้นจากหลายปีที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาไทย-จีน โดยมีสมเด็จพระเทพฯ ให้เกียรติมาเป็นประธาน แต่เมื่อปีที่แล้ว ได้กราบบังคมทูลพระองค์ว่า หมดเรื่องที่จะทำแล้ว เพราะเรื่องชนบท สาธารณสุข หรือการศึกษา ได้ทำมาหมดเลย ฉะนั้นจึงขออนุญาตไม่ทำต่อ
แต่สมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่าให้ทำต่อ โดยให้หารูปแบบใหม่ของการสัมมนา ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับไทย-จีนก็ได้ ผมจึงไปคิด 3 วัน ก่อนจะกลับมาทูลพระองค์ว่าจะทำเรื่องป่าน่าน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ได้อยู่ในพระทัยของพระองค์มานาน
“เรื่องเขาหัวโล้นนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงเห็นมากกว่าใคร เพราะพระองค์ไปไหนมาไหนในเมืองน่านจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ถึงขนาดทรงรับสั่งว่าเมื่อก่อนป่าเขียวขจีหมด แล้วเพราะเหตุใดทุกวันนี้จึงกลายเป็นแบบนี้ ทุกคนก็บอกว่าฉันทำโครงการนั้นทำโครงการนี้ แต่ทำไมถึงเขาจึงโล้น โจทย์โครงการรักษ์ป่าน่านจึงเกิดขึ้นมา” คุณบัณฑูร ทิ้งท้าย
ป่าเมืองน่านหายไปจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งฟื้นฟู เพื่อรักษาทรัพยากรป่าต้นน้ำ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนพื้นถิ่น มิเช่นนั้นแล้ว เรื่องราวกลิ่นไอแห่งอัตลักษณ์ลานนาตะวันออก คงเหลือเพียงในนิยาย ‘สิเหนหามนตาแห่งลานนา’ ของคุณบัณฑูร ล่ำซำ เท่านั้น .
อ่านประกอบ:
-รวมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'ฟื้นฟูป่าเมืองน่าน' สนองพระราชดำริพระเทพฯ'
- ยุทธศาสตร์รักษ์ป่า จ.น่าน 'บัณฑูร' เเนะกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง
twitter:@jibjoyisranews
Email: [email protected]