ปตท.แจงฟ้อง กคป.เรียก 37 ล้าน“เหมาะสม”-เข้าเจรจาหลายครั้ง“ไร้ผล”
ปตท.ส่งหนังสือถึง“อิศรา”แจงฟ้อง กคป.บุกรุกพื้นที่สำนักงานใหญ่ เรียกค่าเสียหาย 37 ล้าน “เหมาะสม”แล้ว พนักงานเดือดร้อน ต้องเช่าอาคารนอกสถานที่ เข้าเจรจาหลายครั้งไม่เป็นผล ต้องพึ่งศาล
กรณี บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพร้อมแกนนำหรือผู้นำการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) พร้อมนายทศพล แก้วทิมา หมอระวี มาศฉมาดล และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ข้อหาบุกรุกเข้ามาในบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. เพื่อใช้เป็นสถานที่ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2557 เรียกค่าเสียหาย 37,060,000 ล้านบาท ตามข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ก่อนหน้านี้นั้น (อ่าน:ปตท.ฟ้อง กคป.บุกรุกสนง.ใหญ่เรียกค่าเสียหาย 37 ล.-ค่าล้างตู้ปลา 2 หมื่น)
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า
ปตท. ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) ต่อศาลแพ่งอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะปตท. ได้รับความเสียหายจากการที่แกนนำพร้อมผู้ชุมนุมได้ทำลายอุปกรณ์ป้องกันการเปิดประตูด้านหน้าทางเข้าสำนักงาน ปตท.แล้วบุกรุกเข้าไปตั้งเวทีปราศรัย ตั้งเต็นท์พักอาศัย เก็บอุปกรณ์ชุมนุม ตั้งกระสอบทรายและยางรถยนต์โดยรอบ โดยมิได้รับความยินยอมจาก ปตท.ถือเป็นการเข้ามาปิดสถานที่ทำงาน และมีการขับไล่ไม่ให้พนักงานอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งขัดขวางการเข้าพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. ด้วย ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในบริเวณด้านหน้าและภายในตัวอาคารได้รับความเสียหาย พนักงานเดือดร้อนต้องย้ายที่ทำงาน โดยไม่สามารถนำเอกสารและทรัพย์สินออกมาจากอาคาร ปตท. ต้องเช่าอาคารนอกสถานที่เพื่อทำงานจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่อาคาร ปตท.ได้ ปตท. ในฐานะบริษัทมหาชนที่ต้องดูแลความมั่นคงทางพลังงานอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งอำนาจศาลฯ เพื่อขอเข้าพื้นที่และเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและได้พิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว
สำหรับกรณีที่นายอิฐบูรณ์ฯ อ้างว่า การเข้าไปเจรจาของ ปตท. กับเจ้าหน้าที่ ศรส. เป็นการทำทีเข้าไปเจรจาแต่จริงๆ เป็นการมาชี้ตัวเพื่อใช้ในการฟ้องร้องนั้น ปตท. ใคร่ขอยืนยันว่า การเข้าเจรจาของ ปตท. ในช่วงที่มีการชุมนุมนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ศรส. เพื่อเจรจาขอพื้นที่คืนจริง โดยมี ศรส. เป็นผู้นำเข้าไป เพราะปกติ
ผู้ชุมนุมไม่อนุญาตให้ ปตท. เข้าพื้นที่อยู่แล้ว จึงไม่ใช่การเข้าไปชี้ตัวอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ ปตท. จะเจรจาขอเข้าพื้นที่หลายครั้งหลายหนเพื่อระงับการกระทำการบุกรุกดังที่ได้กล่าวมา แต่ก็ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมยังคงเพิกเฉยและยังคงทำการละเมิด ปตท. อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นการร้องขอให้คืนพื้นที่แก่ ปตท.แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ ปตท.และรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนจึงจะยอมคืนพื้นที่ให้ ข้อเรียกร้องเหล่านั้น อาทิเช่น ให้ ปตท.ลดราคาน้ำมันทันที ให้แก้กฎหมายการให้สัมปทานปิโตรเลียม ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการของ ปตท.แต่ประการใดจึงทำให้ ปตท.ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำเป็นต้องอาศัยบารมีศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง
หนังสือชี้แจงของ ปตท.มีดังนี้
ตามที่ สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่การให้สัมภาษณ์ของนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวข้อข่าว“ปตท. ฟ้อง กคป. บุกรุก สนง.ใหญ่ เรียกค่าเสียหาย 37 ล.-ค่าล้างตู้ปลา 2 หมื่น” เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 โดยมีสาระสำคัญว่า นายอิฐบูรณ์อ้นวงษากล่าวว่า ปตท. ปิดสำนักงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับตน และที่เข้าไปใช้พื้นที่เพื่อชุมนุมเพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับมวลชนและไม่ได้ทำลายสถานที่ของ ปตท. แต่อย่างใด การปิดสำนักงาน ปตท. ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการปิดสำนักงาน ปตท. นั้น ในการนี้ ปตท. ใคร่ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
ปตท. ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.)ต่อศาลแพ่งอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะปตท. ได้รับความเสียหายจากการที่แกนนำพร้อมผู้ชุมนุมได้ทำลายอุปกรณ์ป้องกันการเปิดประตูด้านหน้าทางเข้าสำนักงาน ปตท.แล้วบุกรุกเข้าไปตั้งเวทีปราศรัย ตั้งเต็นท์พักอาศัย เก็บอุปกรณ์ชุมนุม ตั้งกระสอบทรายและยางรถยนต์โดยรอบ โดยมิได้รับความยินยอมจาก ปตท.ถือเป็นการเข้ามาปิดสถานที่ทำงาน และมีการขับไล่ไม่ให้พนักงานอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งขัดขวางการเข้าพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. ด้วย ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในบริเวณด้านหน้าและภายในตัวอาคารได้รับความเสียหาย พนักงานเดือดร้อนต้องย้ายที่ทำงาน โดยไม่สามารถนำเอกสารและทรัพย์สินออกมาจากอาคารปตท. ต้องเช่าอาคารนอกสถานที่เพื่อทำงานจึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่อาคาร ปตท.ได้ ปตท. ในฐานะบริษัทมหาชนที่ต้องดูแลความมั่นคงทางพลังงานอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งอำนาจศาลฯ เพื่อขอเข้าพื้นที่และเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและได้พิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว
สำหรับกรณีที่นายอิฐบูรณ์ฯ อ้างว่า การเข้าไปเจรจาของ ปตท. กับเจ้าหน้าที่ ศรส. เป็นการทำทีเข้าไปเจรจาแต่จริงๆ เป็นการมาชี้ตัวเพื่อใช้ในการฟ้องร้องนั้น ปตท. ใคร่ขอยืนยันว่า การเข้าเจรจาของ ปตท. ในช่วงที่มีการชุมนุมนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ศรส. เพื่อเจรจาขอพื้นที่คืนจริง โดยมี ศรส. เป็นผู้นำเข้าไป เพราะปกติ
ผู้ชุมนุมไม่อนุญาตให้ ปตท. เข้าพื้นที่อยู่แล้ว จึงไม่ใช่การเข้าไปชี้ตัวอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ ปตท. จะเจรจาขอเข้าพื้นที่หลายครั้งหลายหนเพื่อระงับการกระทำการบุกรุกดังที่ได้กล่าวมา แต่ก็ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมยังคงเพิกเฉยและยังคงทำการละเมิด ปตท. อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นการร้องขอให้คืนพื้นที่แก่ ปตท.แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ ปตท.และรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนจึงจะยอมคืนพื้นที่ให้ ข้อเรียกร้องเหล่านั้น อาทิ เช่น ให้ ปตท.ลดราคาน้ำมันทันที ให้แก้กฎหมายการให้สัมปทานปิโตรเลียม ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการของ ปตท.แต่ประการใดจึงทำให้ ปตท.ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจำเป็นต้องอาศัยบารมีศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่ง
ในการนี้ ปตท. สามารถให้ข้อเท็จจริงในเชิงหลักการฟ้องร้องคดีแก่สื่อมวลชน แต่ไม่สามารถนำเอกสารที่ยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนได้เพราะอาจจะเป็นการละเมิดต่อศาลได้ และขอยืนยันว่าหากสื่อมวลชนทำการเผยแพร่สาระรายละเอียดของคำฟ้อง ก็อาจเข้าข่ายละเมิดศาลเช่นเดียวกัน อนึ่ง การติดต่อในช่วงของการทำงานสามารถติดต่อได้ผ่านช่องทาง Call Center 1365
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบข้อเท็จจริงและขอความกรุณาเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการบริหารงานของปตท. ที่มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียงในทุกสถานการณ์ มีความโปร่งใสยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน รวมทั้งปตท. ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่า 50%ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ภายใต้ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของประเทศตลอดไป
ของแสดงความนับถือ
นายประเสริฐ สลิลอำไพ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม