เปิดคำวินิจฉัยละเอียด "ศาลรธน." ตัดสิน เลือกตั้ง 2 ก.พ. ขัดรัฐธรรมนูญ
"การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ไปแล้วปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มิได้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร"
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาอรรถคดีและมีผลการพิจารณาในคดีที่สำคัญดังนี้
1.เรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
คำร้องนี้ผู้ร้องได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
(1) การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปตามพ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มิได้กระทำขึ้นเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จากกรณีที่มีการกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ภายหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สำหรับการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาจำนวน 28 เขต ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 โดยชัดแจ้ง
(2) คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป โดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 ประกอบมาตรา 30 จากกรณีที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ ให้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานไว้ที่กองบังคับการปราบปรามหรือสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ในเวลาก่อน 08.30 น. นาฬิกา เพื่อให้ได้สิทธิในการจับสลากหมายเลขผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ รวมถึงในการรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในหลายจังหวัดมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีการประกาศให้รับทราบล่วงหน้าโดยเปิดเผย เป็นเหตุให้ผู้ประสงค์จะรับสมัครรับเลือกตั้งไม่ทราบและไม่สามารถเดินทางไปสมัครรับเลือกตั้งในสถานที่ที่สมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นการเลือกตั้งปฏิบัติ ขัดต่อหลักความเสมอภาค ไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และมาตรา 30 ทำให้กระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(3) คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ และทำให้การเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในภายหลังเป็นอันไร้ผล เพราะบัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากการเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการลงคะแนนลับและถือเป็นเรื่องร้ายแรง และกระต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก จึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 (1) มาตรา 93 และมาตรา 30
(4) คณะกรรมการการเลือกตั้งปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความไม่เที่ยงธรรมจากกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีผู้ร้องเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐในการออกประกาศและมีคำสั่งต่างๆ ที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินไปได้โดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งครั้งนี้ และให้มีการดำเนินการจัดการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีเหตุแห่งคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยก่อนว่าการจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) สรุปได้ว่า การที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กมุภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ไปแล้วปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ 2 กมุภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มิได้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 กมุภาพันธ์ พ.ศ. 2557 นั้น ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง
2. เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (เรื่องพิจารณาที่ 26/2557)
คำร้องนี้ผู้ร้องอ้างว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ.2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดช่วงเวลาในการรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต แต่ปรากฎว่า ในระยะเวลาที่กำหนด มีผู้ชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัครเลือกตั้ง เป็นผลให้ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่สามารถจัดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งได้ ในจำนวน 28 เขต โดยกกต. เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใด ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประกาศและกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งใหม่ หรือกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม จึงมีมติให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูล เพื่อให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบมาตรา 93 ต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งให้ประธานกกต. ทราบว่าได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งมีความเห็นต่างกันกับกกต. ว่าการดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งใน 28 ตั้งนั้น รัฐบาลไม่มีอำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม กำหนดวันลงคะแนนใหม่ รวมทั้งประกาศงดเว้นการจัดให้มีการเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร ไม่สามารถทำได้ แต่เป็นอำนาจของกกต. ที่สามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. 2550 ต่อมา กกต. ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและยืนยันความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงเลขาธิการกกต. แจ้งให้ทราบว่าคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีมติรับทราบคำชี้แจงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น กกต.เห็น กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ระหว่างกกต. และคณะรัฐมนตรี อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมิใช่ศาลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง ดังนั้น เหตุในการที่กกต.ขอให้ศษลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้หมดไปแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อคดี ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยประเด็นตามคำร้องนี้ต่อไป ตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 23 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้อง