นักวิชาการชี้การตีตกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านไม่ทำประเทศล้าหลัง
คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า รับการตีตกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว ระบุเงื่อนไขสำคัญในการผลักดันโครงการต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจ เชื่อรถไฟรางคู่ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันได้ไม่แพ้รถไฟความเร็วสูง วอนประชาชนอย่ามองว่าเราจะล้าหลังเพราะต้องศึกษาให้ความคุ้มทุนให้รอบคอบ
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมีผลทำให้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวตกไปซึ่งส่งผลให้โครงการต่างๆที่อยู่ภายใต้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกพับไปด้วยนั้น ในส่วนของภาคธุรกิจและประชาชนหลายคนมีความเป็นห่วงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นอาจส่งผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศและอาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันในด้านธุรกิจกับต่างประเทศ
ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การที่กระทรวงการคลังขอใช้อำนาจในการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนในเรื่องการขนส่งนั้นเป็นยุทธศาสตร์ในด้านการลงทุนที่มุ่งจะลดต้นทุนในด้านการขนส่งของประเทศ เพราะเราต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูงหากเทียบต่อจีดีพีและหากเปรียบเทียบกับประเทศละแวกเพื่อนบ้านต้นทุนของเราก็ยังสูงกว่า
“แน่นอนว่าการตีตกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านจะส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้ามองในแง่การไม่ลงทุนในทันทียอมรับว่าเราจะเสียโอกาสจริง”
ดร.ณดา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีบางโครงการยังไม่ได้รับการศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเรายังไม่ได้เข้าไปศึกษาและพิจารณาว่ามีความเร่งรัดขนาดนั้นหรือไม่ ซึ่งบางทีรถไฟความเร็วสูงอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดในการแข่งขัน เราอาจจะมีด้านสาธารณสุข หรือการศึกษาที่อาจจะต้องลงทุนหรือพัฒนามากกว่าระบบการขนส่งด้วยซ้ำ ดังนั้นเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องทุ่มเงินสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการขนส่งทั้งหมดก็ได้
เมื่อถามว่าการไม่มีรถไฟความเร็วสูงจะทำให้การพัฒนาประเทศชะงักหรือไม่ ดร.ณดา กล่าวว่า เราอาจจะเสียโอกาสทางการแข่งขันแต่ทั้งนี้รถไฟรางคู่มีความจำเป็นต่อระบบการขนส่งมากกว่ารถไฟความเร็วสูง ดังนั้นความสำคัญอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญว่าควรจะพัฒนาอะไรก่อนหรือหลัง ส่วนความคิดที่ว่าการตีตกพ.ร.บ.ร่างเงินกู้ 2 ล้านล้านไปแล้วไม่ได้ลงทุนวันนี้เราจะล้าหลังนั้นอยากให้มองในแง่ที่ว่าเราควรจะหันมาศึกษาสิ่งเรานี้ให้รอบคอบอีกครั้งว่าเส้นทางไหนที่คุ้มค่าแล้วค่อยมาดำเนินการอีกครั้ง ณ วันนี้ควรมาพิจารณาว่าโครงการไหนที่มีความสำคัญจัดลำดับแล้วเอาไปเสนอในงบประมาณรายจ่ายประจำปี จัดลำดับให้ชัดเจน และหากรัฐบาลตั้งใจที่จะลงทุนและพัฒนาศักยภาพในด้านการขนส่งจริงก็เอาโครงการที่มีอยู่เดิมไปเสนอสู่งบประมาณรายจ่ายประจำปีและทยอยทำไปเรื่อยๆซึ่งการกระทำแบบนี้จะไม่ไปกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะจนเกินไป
คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวอีกว่า สิ่งที่จำเป็นต้องลงทุนในลำดับแรกมากกว่ารถไฟความเร็วสูงคือรถไฟรางคู่ ซึ่งระบบรางคู่เป็นโครงการที่เคยได้รับการพิจารณาและกำหนดกรอบของการลงทุนไปเรียบร้อยแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้หาแหล่งเงินทุนแล้วรัฐบาลก็หยิบโครงการนี้เข้ามาแนบท้ายผนวกเข้าไปกับร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านจึงทำให้ดูเสมือนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับรถไฟระบบรางคู่จริงๆ ซึ่งรัฐบาลแต่ละสมัยจะเห็นแผนโครงการรถไฟรางคู่เป็นแผนแม่บทใหญ่ที่มีความสำคัญอยู่แล้ว เพียงแต่การเดินกลยุทธิ์ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรภายใต้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้มีผลกระทบต่อรถไฟรางคู่
“แม้ไม่มีรถไฟความเร็วสูงหากเราผลักดันให้เกิดการสร้างรถไฟรางคู่ได้อย่างไรศักยภาพในการพัฒนาประเทศของเรารวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศเราก็ยังสู้ได้ไม่มีปัญหา แต่เงื่อนไขสำคัญในตอนนี้คือเราต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
ภาพจากwww.uasean.com