ถอดรหัสบึ้มถังดับเพลิงโผล่กรุง แค่ก๊อปจากชายแดนใต้!
การต่อสู้กันทางการเมืองรอบนี้ มีการก่อความรุนแรงด้วยการใช้ "วัตถุระเบิด" ไม่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ส่วนใหญ่ระเบิดที่ถูกนำมาใช้เป็น "วัตถุระเบิดแบบมาตรฐาน" หรือที่ใช้ทางราชการทหาร-ตำรวจ เช่น ระเบิดขว้างชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอ็ม 26 เอ็ม 61 เอ็ม 67 อาร์จีดี-5 หรือแม้แต่เอ็ม 79 ที่ต้องยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิด
แม้ระเบิดมาตรฐานจะน่ากลัว แต่การเก็บกู้ ระวังป้องกัน หรือค้นหาพยานหลักฐานทั้งแหล่งที่มาและกลุ่มบุคคลที่คาดว่าน่าจะนำมาใช้ ดูจะยังพอมีความเป็นไปได้ เพราะรูปแบบของระเบิดและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่เรียนรู้มา
แต่วัตถุระเบิดที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ "ระเบิดแสวงเครื่อง" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Improvised Explosive Device (IED) ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดที่ประกอบขึ้นจากวัสดุที่หาได้ทั่วๆ ไป จึงมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ตายตัว บางครั้งมาในรูปสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระป๋องน้ำอัดลม หรือกล่องนม ทำให้บางทีไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่าเป็นระเบิด
ยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสะพรึงของมันก็คือ "วิธีจุดระเบิด" ที่มีหลายวิธี เช่น ตั้งเวลา ดึง สะดุด หรือใช้รีโมทคอนโทรล ทั้งยังสามารถต่อวงจรซ้อนเพื่อลวงเจ้าหน้าที่หรือป้องกันการเก็บกู้ จึงเพิ่มอันตรายให้มากขึ้นไปอีก
ระเบิดแสวงเครื่องถูกใช้มากในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีระเบิดเกิดขึ้น 2,889 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่องเกือบทั้งสิ้น!
กล่าวสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ในห้วงกว่า 4 เดือนที่มีการชุมนุมของ กปปส. มีการใช้ระเบิดแสวงเครื่องอยู่ 2 ชนิด คือ "ไปป์บอมบ์" หรือระเบิดที่ประกอบใส่ท่อพีวีซี คนร้ายใช้ปาใส่บ้านของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำ กปปส.เมื่อวันที่ 28 ก.พ.57 กับ "ระเบิดถังดับเพลิง" ซึ่งพบแล้ว 2 ครั้ง 3 ลูก
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ.57 พบระเบิดถูกนำไปวางไว้บริเวณโคนเสาไฟฟ้า หน้าสำนักงานประปาสาขานนทบุรี แยกสนามบินน้ำ ถนนติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ใกล้จุดชุมนุมของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่ชุมนุมปิดล้อมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่
ระเบิดที่พบประกอบใส่ถังดับเพลิงขนาดเล็ก น้ำหนักเพียง 2.2 กิโลกรัม ภายในบรรจุปุ่ยยูเรียผสมน้ำมันเบนซิน ข้อโซ่รถจักรยานยนต์ เศษขวดเครื่องดื่มชูกำลัง และระเบิดซีโฟร์น้ำหนัก 1/4 ปอนด์เป็นตัวช่วยเพิ่มแรงดันระเบิด จุดชนวนด้วยเชื้อประทุ ต่อกับวงจรไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่ขนาด 9 โวลต์เป็นตัวจุดระเบิด
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 มี.ค.57 พบระเบิดแสวงเครื่อง 2 ลูก น้ำหนักรวม 15 กิโลกรัม บริเวณด้านหน้าสำนักงานอัยการสูงสุด 1 ลูก และริมกำแพงศาล ด้านหน้าสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ริมถนนรัชดาภิเษก อีก 1 ลูก
จากการตรวจสอบพบว่า ระเบิดทั้ง 2 ลูกมีลักษณะคล้ายกัน คือใช้เทปพันสายไฟมัดนาฬิกาผูกติดไว้กับถังดับเพลิง
ประเด็นที่สร้างความตระหนกตกใจก็คือ มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) ว่า ระเบิดถังดับเพลิงที่พบทั้ง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งหลัง 2 ลูก มีลักษณะคล้ายวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้! ทำให้หลายคนคิดต่อไปว่ากลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ได้ขยายอิทธิพลขึ้นมาปฏิบัติการในเมืองกรุงแล้วหรือ?
พ.อ.กฤตภาส เครือเนตร ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย (ฉก.อโณทัย) ซึ่งรับผิดชอบภารกิจทำลายวัตถุระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองทัพบก (ทบ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังดับเพลิงที่ริมกำแพงศาล ถนนรัชดาภิเษก และสำนักอัยการสูงสุด ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างกัน โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น
จากการตรวจสอบสารประกอบระเบิดทั้งสองลูกที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ พบว่าไม่เหมือนกับระเบิดที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย แต่เป็นความพยายามทำให้เหมือน โดยจุดที่แตกต่าง ประกอบด้วย
1.สารประกอบระเบิดที่พบ ทั้งดินระเบิด และดินขยายการระเบิด ไม่เหมือนกัน มีความพยายามผสมให้เหมือน แต่ไม่ถูกส่วน
2.รูปแบบการประกอบระเบิดก็แต่ต่างกัน ที่ชายแดนใต้ใช้นาฬิกาตั้งเวลาแบบดิจิตอล ส่วนที่พบในกรุงเทพฯ เป็นนาฬิกาแบบเข็ม
"พิจารณาจากองค์ประกอบของระเบิดหลายจุดแล้ว แตกต่างจากระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสิ้นเชิง" พ.อ.กฤตภาส ยืนยัน
ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด ฉก.อโณทัย กล่าวอีกว่า ระเบิดแสวงเครื่องที่พบในกรุงเทพฯ หากมีการจุดระเบิดขึ้น การทำงานของระเบิดคาดว่าคงไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้ประกอบระเบิดพยายามจดจำและลอกเลียนแบบให้เหมือนกับระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่รู้วิธีการประกอบจริงๆ หรือเรียนรู้มาจากกลุ่มมือระเบิดในสามจังหวัด เชื่อว่าระเบิดที่ถูกนำมาวางทั้งสองลูกนี้ เป็นเพียงการข่มขู่มากกว่าที่จะต้องการให้เกิดระเบิดขึ้นจริงๆ
ส่วนระเบิดแสวงเครื่องที่พบและมีลักษณะเหมือนกับที่หน้าศาลและสำนักอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก คือ ระเบิดที่หน้าสำนักงานประปานนทบุรี พ.อ.กฤตภาส บอกว่า น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ ระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีกรณีไหนที่เกี่ยวข้องกับระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดระดับปรมาจารย์จาก "ค่ายสีกากี" กล่าวเช่นเดียวกันว่า ระเบิดที่พบในกรุงเทพฯประกอบขึ้่นอย่างหลวมๆ ง่ายๆ เหมือนไม่ได้ตั้งใจจะให้ระเบิดจริง แต่ตั้งใจข่มขู่มากกว่า ถือว่าแตกต่างอย่างมากกับระเบิดที่ชายแดนใต้
มีรายงานว่าสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กำลังเร่งแกะอุปกรณ์ต่างๆ ของวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่พบ เพื่อตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้ง แต่เชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังมีระเบิดแสวงเครื่องโผล่กลางกรุง ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลออกมาโจมตีทันทีว่าเกี่ยวโยงกับ กปปส. หนำซ้ำก่อนหน้านี้ยังมีการปล่อยข่าวอย่างเป็นระบบว่า กปปส.นำผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นการ์ด และพยายามกล่าวอ้างว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า กลุ่มนิยมความรุนแรง หรือ "ฮาร์ดคอร์" ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และแฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุมของ กปปส.
อย่างไรก็ดี มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยระบุตรงกันว่า ไม่มีกลุ่มก่อความไม่สงบจากชายแดนใต้เข้าไปเกี่ยวพันกับการชุมนุม!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ถังดับเพลิงที่หน้าศาลยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดริมถนนรัชดาภิเษก จากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ