ดร.บรรเจิด เสนอเปิดช่องพิเศษ มีส.ส.กลุ่มอาชีพ อุดจุดอ่อนระบบรัฐสภาไทย
ปฏิรูปพรรคการเมือง “สุเทพ” ลั่นต้องไม่มีเงินนอกระบบ นำมาใช้ทางการเมืองโดยเด็ดขาด ขณะที่นักวิชาการ เสนอทั้งเลือกนายกฯ โดยตรง เลิกกม.พรรคการเมือง มีส.ส.กลุ่มอาชีพเพิ่มเข้ามา ให้เป็นช่องทางพิเศษเพื่อเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่หลากหลาย
วันที่ 19 มีนาคม 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) จัดเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 5 มวลมหาประชาชนเดินหน้าเปลี่ยนประเทศ เรื่อง “การปฏิรูประบบการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ” ณ ศูนย์เยาวชนลุมพินี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวเปิดเวทีตอนหนึ่งถึงการปฏิรูปประเทศเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ควรดูเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ต้องมองถึงภาพรวมของการเมืองในประเทศไทยด้วย
สำหรับเจตนารมณ์ของ กปปส. ต่อการปฏิรูประบบการเมืองนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า 1.เราต้องการให้ระบบการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง 2.ขณะที่พรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคการเมืองของครอบครัว กลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เช่น อาจมีการเขียนกฎหมายพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ออกแบบใหม่พรรคการเมืองที่จะเป็นของประชาชนจริงๆ ส่วนจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง อาจเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่มีแนวความคิดเดียวกัน เช่น เป็นประชาชนประมาณ 5-10% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในประเทศ เป็นต้น
นายสุเทพ กล่าวถึงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองอีกว่า ก็จะต้องมีระเบียบ ระบบ หรือกฎหมายกำกับควบคุมอย่างเข้มงวด ต้องไม่มี “เงินนอกระบบ” นำมาใช้ทางการเมืองโดยเด็ดขาด เพราะจะเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
“เรื่องที่ต้องขบคิดต่อไป คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิส) ยังมีความจำเป็นต้องมีหรือไม่ จากที่เคยวาดฝันอยากได้คนดีคนเก่งเข้ามาทำงาน แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิส ยังมีคนเลวอยู่ในบัญชีรายชื่อสามารถนั่งชูคอได้ มีอาชีพไม่เปิดเผย เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลที่พรรคต้องการนำมาใช้ รวมทั้งส.ส.ปาร์ตี้ลิส ที่ผ่านมายังไม่ต้องรับผิดชอบกับใครเลย เพราะไม่ผูกพันกับประชาชน”
สำหรับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสุเทพ กล่าวว่า ก็ต้องทบทวนอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็น ‘ศาล’ (รอให้คนฟ้องก่อนจะมีการพิจารณา ไม่ลงมือสืบสวน ระงับยับยั้งทันทีที่เกิดเหตุ) มากกว่าทำตัวเป็น ‘ตำรวจ’ รวมถึงความเป็นอิสระของ ส.ส. และ ส.ว.ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกันด้วย เพราะเรามีประสบการณ์จริงที่เป็นต้นทุน เพื่อออกแบบหาทางออกที่เหมาะสมกับประเทศไทยได้
ขณะที่ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การปฏิรูปการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง สิ่งจำเป็นที่ต้องทำคู่ขนานกันไป คือ การทำให้ประชาชนเข้มแข็งทางการเมือง ขณะเดียวกันก็ เสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ใช้เขตเลือกตั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งทั้งหมด มีกลไกควบคุม ตรวจสอบ ถอดถอน โดยองค์กรอิสระเหมือนเดิม รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์ร้องเรียนนายกฯ ที่กระทำสิ่งไม่ถูกต้องได้ รวมถึงนายกฯ ความรับผิดชอบทางแพ่ง เช่น โครงการจำนำข้าว เป็นต้น
ด้านดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวถึงระบบการเมืองไทย ไม่มีระบบพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ซึ่งจุดผิดพลาด คือการมองว่า พรรคการเมืองจะเข้มแข็งโดยกฎหมาย จึงมีการออกแบบให้มีการสังกัดพรรค สุดท้ายแทนที่พรรคการเมืองจะเข้มแข็ง กลายเป็นเจ้าของพรรคการเมืองเข้มแข็งเสียเอง
ดร.บรรเจิด มีข้อเสนอปฏิรูปพรรคการเมืองว่า ควรยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ปล่อยให้การพัฒนาทางการเมืองเป็นไปอย่างอิสระ กกต.ไปคุมในบางเรื่อง ในกิจกรรมบางเรื่องที่ใช้อำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ โค่นล้มระบอบการปกครอง หรือกระทบต่อกฎหมาย เป็นต้น
ส่วนการเสนอนโยบายของพรรคการเมือง ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ต้องเสนอนโยบายที่บอกที่ไปที่มา ความเป็นไปได้ งบประมาณของนโยบาย มีรายได้มาจากไหน การจัดการจะทำอย่างไรด้วย
“ขณะที่การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองได้โหวตกัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่อยู่ส่วนกลางเป็นหลัก เพื่อให้เกิดระบบประชาธิปไตยในการได้มาซึ่งสมาชิก”
ดร.บรรเจิด กล่าวถึงโครงสร้างสถาบันการเมืองของไทย ที่เป็นระบบผูกขาดรวมศูนย์โดยพรรคการเมือง ทำให้อำนาจรัฐสภาถูกควบคุมโดยเจ้าของพรรคได้ ดังเช่นกรณีของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หรือเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อีกทั้ง จุดอ่อนระบบรัฐสภาไทย คือการขาดตัวแทนผลประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น ตัวแทนชาวไร่ ชาวนา กรรมกร แรงงาน ดังนั้นต้องยกเลิกการสังกัดพรรค และมีส.ส.กลุ่มอาชีพเพิ่มเข้ามา ให้เป็นช่องทางพิเศษเพื่อเป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่หลากหลาย เชื่อว่า ท้ายสุดจะทำให้สภาไทยมีความเข้มแข็งขึ้น
ส่วนนายคมสัน โพธิ์คง ตัวแทนจากกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ กล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูประบบพรรคการเมือง เพื่อสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็งก่อน โดยต้อง “ยกเลิก” กฎหมายพรรคการเมือง และตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำต้องห้ามของพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองขึ้นมาแทน
ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ นิด้า กล่าวถึงการปฏิรูประบบการเมือง พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง ก่อนอื่นต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า จะปรับแบบเล็ก ใหญ่ หรือจะรื้อเปลี่ยนแบบสิ้นเชิงไปเลย หากจะปฏิรูปแบบใหญ่ ก็ต้องยอมรับว่า ใช้เวลานาน ซึ่งควรแบ่งเป็นเฟส เช่น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมไปถึงการแก้วัฒนธรรมทางการเมือง ทำอย่างไรให้การชุมนุมเคลื่อนไหวเสร็จ มีโครงสร้างรองรับให้ประชาชนทำงาน กำกับตรวจสอบ ติดตามการทำงาน เช่นในต่างประเทศ