‘กรมควบคุมมลพิษ’เผยปี 56 คนไทยทิ้งขยะ 26 ล้านตัน เทียบเท่าใบหยก 139 ตึก
กรมคุมมลพิษเผยปี 56 ไทยมีขยะมูลฝอยสูง 26 ล้านตัน เทียบเท่าตึกใบหยก 2 ต่อกัน 139 ตึก ‘สงขลา’ แชมป์ผลิต-สะสม มากที่สุด เตรียมแก้ปัญหาดันวาระแห่งชาติ ‘วิเชียร’ ระบุเช้านี้พบค่าฝุ่นละอองไฟไหม้บ่อขยะ ปากน้ำ เฉลี่ยรายชั่วโมง 22 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เตือนเจ้าหน้าท่ีดับไฟสวมชุดเเน่นหนากันกรดซัลเฟอร์ไดออกไซต์ซึมร่างกาย
วันที่ 19 มีนาคม 2557 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดแถลงข่าวสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2556 และแนวทางการดำเนินงานในปี 2557 ณ ห้องประชุม 302 อาคารกรมควบคุมมลพิษ
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงสถานการณ์ขยะมูลฝอยรอบปีที่ผ่านมาว่ามีปริมาณสูงถึง 26.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2 ล้านตัน หรือมีปริมาณเท่ากับการนำตึกใบหยก 2 จำนวน 139 ตึกมาเรียงต่อกัน ซึ่งขณะนี้มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั้งหมด 2,490 แห่ง เป็นสถานที่มีการกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 466 แห่งเท่านั้น ทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยสะสมตกค้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 19.9 ล้านตัน
“จังหวัดที่เกิดวิกฤตปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยมากที่สุด คือ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เเละหากมองเฉพาะปัญหาขยะมูลฝอยสะสม จังหวัดที่เกิดวิกฤตปัญหาการจัดการมากที่สุด คือ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และเพชรบุรี” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว และว่าจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยดีที่สุด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี เชียงใหม่ เเละหนองคาย
สำหรับผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3Rs นั้น นายวิเชียร ระบุว่า ได้เน้นการคัดแยกและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ แต่ข้อมูลปีที่ผ่านมามีเพียง 5.1 ล้านตัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ หากพิจารณาจากอัตราการผลิตขยะ/คน/วัน ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิม ปี 2551 เท่ากับ 1.03 กก./คน/วัน ปัจจุบันอยู่ที่ 1.15 กก./คน/วัน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังกล่าวถึงของเสียอันตรายว่า จากการประมาณการเกิดขึ้นทั่วประเทศ 2.65 ล้านตัน โดยเป็นของเสียจากภาคอุตสาหกรรม 2.04 ล้านตัน และมาจากชุมชน 0.61 ล้านตัน ซึ่งเกือบครึ่งอยู่ในภาคตะวันออก รองลงมาคือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง และยังพบการลักลอบทิ้งกากของเสียในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ดังเช่น ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตาม ยังพบการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในปี 2556 มากกว่า 10 ครั้ง
ส่วนของเสียอันตรายจากชุมชน มาจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 65 เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ซึ่งถือว่ามีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี กลับถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป โดยคาดว่าในอนาคต การจัดการซากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะในยุคโทรทัศน์ดิจิตอลที่ผู้บริโภคจะทิ้งโทรทัศน์เครื่องเก่าเพื่อซื้อใหม่ จนอาจกลายเป็นภาระของอปท. ซึ่งไม่มีสถานที่กำจัดถูกต้อง
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ด้านมูลฝอยติดเชื้อนั้นมีปริมาณ 50,481 ตัน โดยการจัดการมูลฝอยติดเชื้ออย่างถูกต้องจากสถานบริการการสาธารณสุขขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน ร้อยละ 75 ของปริมาณมูลฝอยติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลเผากำจัดเองโดยเตาเผาของโรงพยาบาลอย่างน้อย 142 แห่ง
“จะผลักดันการจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การเสริมสร้างสังคมรีไซเคิล การจัดระบบเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การรวมกลุ่มของอปท. การแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้เอกชนมีส่วนร่วมในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs)” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว
นายวิเชียร ยังกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด กรณีไฟไหม้บ่อขยะ จ.สมุทรปราการ อีกว่า กรมควบคุมมลพิษเปรียบเหมือนคนรับกรรม ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการบกพร่อง แต่ชาวบ้านมักเข้าใจผิดว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบขององค์กร
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศบริเวณห่างจากบ่อขยะที่เกิดเหตุ 1 กม. เมื่อเวลา 06.00 น. เฉลี่ยราย 1 ชั่วโมง มีค่าปริมาณฝุ่นละออง 22 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ทั้งนี้ คงต้องรอดูผลเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงอีกครั้งหนึ่ง แต่หากจะให้ระบุเลยตอนนี้คงไม่สามารถทำได้ เพราะจำเป็นต้องอ้างอิงตัวเลขตามหลักวิชาการ
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังระบุถึงความกังวลว่าน้ำที่ฉีดดับไฟนั้นจะเป็นบ่อเกิดมลพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ ขณะนี้กำลังให้สำนักจัดการคุณภาพน้ำลงพื้นที่ตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องใช้ฉีดน้ำเพื่อดับไฟให้หมดก่อน ส่วนผลกระทบด้านอื่นที่จะเกิดขึ้นตามมาจะหาทางจัดการต่อไป
“ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟนั้นต้องสวมชุดป้องกันมาตรฐาน มิใช่จะสวมเพียงหน้ากากอย่างเดียว เพราะสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นกรด สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ ส่วนประชาชนที่ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว แนะนำให้อพยพออกจากพื้นที่ในรัศมี 1.5 กม. แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ให้ปิดบ้านมิดชิด ทั้งนี้ ยืนยันว่าหน้ากากกันฝุ่นธรรมดาไม่สามารถจะป้องกันฝุ่นละอองดังกล่าวได้” นายวิเชียร ทิ้งท้าย
ผู้สือข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากกรณีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ (ข้อมูล ณ เวลา 14.00 น.) พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองลดลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากฝุ่นควันลดความหนาแน่นลง ประกอบกับทิศทางลมไม่ได้พัดฝุ่นควันเข้าสู่ที่ตั้งของหน่วยตรวจวัด
ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) |
|||||||
เวลา |
mobile 2 |
mobile 5 |
mobile 6 |
สมุทรปราการ |
คลองจั่น |
บางนา |
บางพลี |
14.00 น. |
29 |
67 |
- |
46 |
36 |
33 |
35 |
ภาพประกอบ:www.em-group.co.th