ปตท.ฟ้อง กคป.บุกรุกสนง.ใหญ่เรียกค่าเสียหาย 37 ล.-ค่าล้างตู้ปลา 2 หมื่น
ปตท.ฟ้อง กคป.ปิดสำนักงานใหญ่เรียกค่าเสียหาย 37 ล้าน ค่าล้างตู้ปลา - ซื้อปลา 2 หมื่น หน.ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคยันทหารควบคุมพื้นที่ ด้านบิ๊กบริหารบอกไม่ทราบเรื่อง
สำนักข่าวอิศราwww.isranews.org รายงานว่า เมื่อเช้าวันที่ 18 มี.ค.2557 ที่ผ่านมา นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้โพสต์ในเฟสบุ๊คระบุว่า ถูกบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพร้อมแกนนำหรือผู้นำการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) พร้อมนายทศพล แก้วทิมา หมอระวี มาศฉมาดล และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ข้อหาบุกรุกเข้ามาในบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. เพื่อใช้เป็นสถานที่ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2557 เรียกค่าเสียหาย 37,060,000 ล้านบาท
นายอิฐบูรณ์ ระบุว่า ปตท.กล่าวหา กคป.ทำให้ ปตท. ไม่สามารถเข้าใช้อาคารและพื้นที่ทั้งหมดในสำนักงานใหญ่เพื่อดำเนินงานตามปกติได้ เป็นเหตุให้ปตท. ต้องปิดอาคารสำนักงานใหญ่ เนื่องจากเกรงว่า เครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) จะบุกรุกเข้าไปในตัวอาคารที่ทำการของ ปตท. อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งข้อมูลทางการค้า จึงเรียกค่าเสียหาย
1.ความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวม 5,370,000 บาท แบ่งเป็น
1.1 ค่าซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพื้นที่สำนักงาน ปตท. 500,000 บาท
1.2 ค่าใช้จ่ายในการอบโอโซนฆ่าเชื้อทุกอาคาร 1,100,000 บาท
1.3 ค่าล้างบ่อน้ำพุ พร้อมเติมน้ำใหม่ 100,000 บาท
1.4 ค่าล้างตู้ปลาและซื้อปลาใหม่ 20,000 บาท
1.5 ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ พร้อมปรับสภาพน้ำของระบบบำบัด 100,000 บาท
1.6 ค่างานซ่อมแซมประตูรั้ว 50,000 บาท
1.7 ค่าซื้อตู้เย็นใหม่ทดแทนของเก่า 120 ตู้ รวม 1,800,000 บาท(ตู้ละ 15,000 บาท)
1.8 ค่าทำความสะอาดตู้กดน้ำเย็น 120 ตู้ รวมเป็นเงิน 150,000 บาท(ตู้ละ 1,250 บาท)
1.9 ค่าซ่อมแซมตู้ไฟฟ้าตามแนวรั้ว 300,000 บาท
1.10 ค่าซ่อมแซมกล้องวงจรปิด 100,000 บาท
1.11 ค่าตรวจสภาพอากาศ 450,000 บาท
1.12 ค่าต้นไม้ยืนต้นที่ได้รับความเสียหาย 700,000 บาท
2.ความเสียหายจากการขาดรายได้จากการปิดปั๊มน้ำมัน ปั๊ม LPG เสียโอกาสจากกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่อเมซอน ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านจิฟฟี่ นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 9 ก.พ.57(28 วัน) เป็นเงินรวม 19,930,000 บาท จึงขอคิดค่าขาดรายได้วันละ 710,000 บาท (ตั้งแต่ 13 ม.ค.57 จนถึงวันฟ้องคือ 13 ก.พ. 57) เป็นเงินรวม 22,770,000 บาท
และ 3.ความเสียหายจากการที่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่าใช้สถานที่อื่นแทน สนง.ใหญ่ ปตท. ค่าใช้จ่ายในการติดต่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ ค่าเดินทางของพนักงาน ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าโรงแรมหรือที่พักพนักงาน ค่ารปภ.ที่เพิ่มขึ้น เป็นเงิน 7,800,000 บาท ในส่วนนี้เป็นเงินวันละ 280,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.จนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 8,920,000 บาท รวมค่าเสียหาย 3 รายการ 37,060,000 บาท
นายอิฐบูรณ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีดังกล่าวว่า ก่อนถูกฟ้องร้อง มีตัวแทนจาก ปตท. อ้างว่ามาเจรจา ซึ่งคาดว่าคงเป็นการมาดูตัวว่าจะฟ้องร้องใคร
“วันที่เขามาดูตัวว่าจะฟ้องใครคือ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยที่เจตนาของเขาคือวันนั้น เขามาในนามการเจรจา มารับข้อเรียกร้องของเราไป ซึ่งในวันนั้น เราก็ขอให้ตัวแทน ปตท. นำข้อเสนอของเราไปยื่นต่อกระทรวงพลังงาน รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดการฟ้องร้องเราจึงมองว่าเขาคงไม่มีจุดประสงค์ที่จะเจรจาตั้งแต่ต้น แต่เขามีเจตนามาดูตัวว่าจะฟ้องใคร” นายอิฐบูรณ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เจ้าหน้าที่ ปตท.ที่มาเจรจาในวันนั้น คือใคร และข้อเรียกร้องของนายอิฐบูรณ์ คืออะไรบ้าง
นายอิฐบูรณ์ตอบว่า จำไม่ได้ ว่าเจ้าหน้าที่ ปตท. คือใคร ส่วนข้อเรียกร้องที่ยื่นไปในวันนั้น มีประเด็นสำคัญที่เรียกร้อง อาทิ ให้ลดราคาน้ำมันลงลิตรละ 5 บาท, ยุติการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี, ยกเลิกประกาศแก้ไข พ.ร.บ.โตรเลียม และยกเลิกการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน
“ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ ไม่ใช่หน้าที่ของ ปตท.เลย แต่วันนั้นกลับมีเจ้าหน้าที่ตัวแทน ปตท . มากับตัวแทนของ ศอรส. แต่ไม่มีตัวแทนรัฐบาลมา ดังนั้น ดูเจตนาเขาแล้ว เขาก็ไม่คิดจะเจรจาตั้งแต่แรก เขาเพียงแต่มาชี้เป้า มาดูหน้าดูตา ถ่ายรูป และไปจิ้มว่าจะฟ้องใคร เพราะเราไม่ได้แต่งตั้งผู้ประสานงานของเราเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทั้ง 4 คนนี้ที่ถูกฟ้อง คือผู้ที่เป็นตัวแทนที่ขึ้นไปเจรจาหาทางออกในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แล้วเขาก็กล่าวหาว่าเราเป็นแกนนำ ทั้งที่วันนั้น เป็นวันที่ ศอรส. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) มาขอเจรจา เราก็เลยยื่นข้อเรียกร้องไป เพื่อหวังให้เขานำไปหารือกับรัฐบาลกับนายกรัฐมนตรี” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
นายอิฐบูรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท. ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมายื่นหมายในวันที่ 15 มีนาคม 2557 โดยวันที่ศาลรับฟ้องคือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 คดีหมายเลขดำที่ 557/2557 นอกจากนี้ ปตท.อ้างว่าเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมมาในวันที่ 13 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันแบงคอก ชัตดาวน์นั้น เป็นเหตุให้ ปตท. ต้องปิดสำนักงาน แต่การชุมนุมอย่างเป็นทางการของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานที่หน้า สำนักงาน ปตท. นั้น เริ่มขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2557 เป็นเวลาหลังจากวัน แบงคอก ชัตดาวน์ (ปิดกรุงเทพฯ) ถึง 2 สัปดาห์ ดังนั้น การที่ปตท.ปิดสำนักงาน ต้นเหตุจึงไม่ได้มาจากการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานแต่อย่างใด
“จริงๆ แล้ว การที่ ปตท. เขาปิดสำนักงานไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย และสิ่งที่เขาฟ้องมาเราก็ยืนยันเจตนาได้ว่า เหตุที่เราเข้าไปใช้พื้นที่นี้ชุมนุม เพราะเราคิดว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความปลอดภัยสำหรับมวลชน แล้วการเข้าไปอยู่ของเราก็ไม่ได้เข้าไปทำล้างทำผลาญอะไรของ ปตท.เลย เราเข้าไปโดยดูแลรักษาความสะอาด ต่างๆ ซึ่งตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้น ความเสียหายของพื้นที่ที่เขาลากมาอ้างนั้น ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ในส่วนอาคารของ ปตท. โดยพื้นที่นั้น อยู่ในพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้น ถ้า ปตท. เห็นว่ามีความเสียหายบริเวณนั้น ก็น่าจะไปฟ้องกองทัพบก เพราะเป็นพื้นที่ควบคุมของเขา แต่กลับมาฟ้องเราเป็นจำเลย” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ติดต่อไปยังนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ว่าทราบเรื่องที่ ปตท. ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายอิฐบูรณ์และผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ รวม 4 ราย เป็นจำนวนเงิน 37 ล้านหรือไม่ โดยนายบวร กล่าวว่า ไม่รู้เรื่องเลย ต้องลองสอบถามนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลข่าวสารของ ปตท.
“แต่ตอนนี้ผมเองก็ไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ที่ไหนกัน เพราะว่าสำนักงานใหญ่ ปตท. ปิดทำการมาตั้งแต่มีการชุมนุม” นายบวรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันเดียวกันได้โทรศัพท์ไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย