เพื่อไทยยันศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยเลือกตั้งเป็นโมฆะ
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการขอใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ ยันศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยและการดำเนินการเป็นไปอย่างมีพิรุธ
ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็น กรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นั้น ล่าสุด 18 มีนาคม 2557 พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ โดยชี้แจงรายละเอียดดังนี้
1. พรรคขอคัดค้านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ไม่มีอำนาจที่จะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพราะอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 มาตรา 14 (1) นั้น เฉพาะเมื่อเห็นว่าบทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ตามคำร้องแม้จะอ้างว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่คำร้องเป็นเรื่องขอให้วินิจฉัยการกระทำของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีประเด็นใดๆ เลยที่ชี้ให้เห็นว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้
2เมื่อพิจารณาพฤติกรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรชี้ให้เห็นว่าการใช้ทฤษฎีสมคบคิด (ConspiracyTheory) เพื่อมุ่งล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตั้งแต่แรก เริ่มจากการที่กลุ่ม กปปส.ประกาศไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง และขัดขวางกระบวนการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ กกต.ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งกลับเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ในที่สุดก็จัดการเลือกตั้งแบบไม่เต็มใจทำ ปล่อยให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งหลายประการ อันเป็นเหตุให้มีการนำมาเป็นประเด็นยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งให้ครบถ้วน แทนที่ กกต.จะดำเนินการ กลับส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ผู้ตรวจการแผ่นดินรู้ว่าตนเองไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่ก็ยื่นคำร้องไป ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็รับคำร้องที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะรับไว้ได้ กระบวนการทั้งหมดเป็นการทำงานสอดรับกันเพื่อล้มการเลือกตั้ง ส.ส.ตามพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ได้
3.พรรคเห็นว่าการล้มการเลือกตั้งด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคมมากขึ้น เป็นการทำลายหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการล้มล้างสิทธิของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการขยายเขตอำนาจของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยคิดแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรก็ถือว่าเป็นที่สุด และผูกพันองค์กรอื่น ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิติรัฐ และจะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อระบบยุติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรง
5.พรรคเพื่อไทยยอมรับต่อการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเฉพาะที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น พรรคจะไม่ยินยอมต่อการกระทำใดอันเป็นการนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะการกระทำที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยไม่สุจริตเพื่อทำลายล้างกันทางการเมือง หรือการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล กลลวง เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของบุคคลบางกลุ่ม
6.พรรคจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยที่เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พรรคพร้อมเสมอสำหรับการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตทางการเมืองของตนเอง โดยจะไม่ยินยอมให้อำนาจการตัดสินใจนี้ไปอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระใดเป็นการเฉพาะ
7.การเลือกตั้งที่มีปัญหาเกิดจากการขัดขวางของกลุ่ม กปปส.และคนของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการละเลยต่อหน้าที่ของ กกต. ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ จะถือเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้ายของประเทศไทย และต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะหากพรรคการเมืองใดรู้ว่าตนจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งก็จะออกมาขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
8. เหตุผลที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ว่าเรื่องการรับสมัคร 28 เขตเลือกตั้ง ที่ยังไม่สามารถทำได้ การเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรม การเปลี่ยนสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบ หรือข้ออ้างที่ว่าการนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้รอไปก่อน โดยที่ยังมีการเลือกตั้งไม่ครบถ้วนนั้น พรรคเห็นว่าปัญหาต่าง ๆดังกล่าว มีกฎหมายรองรับในการแก้ปัญหาได้ คือ
- กรณี 28 เขตเลือกตั้ง ยังไม่สามารถสมัครได้ ถือว่ายังไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ กกต.ก็สามารถออกประกาศเพื่อให้มีการรับสมัคร และลงคะแนนเลือกตั้งในเขตนั้นได้ จะอ้างว่าไม่มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 มิได้ เพราะพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.วันเดียวกันอยู่แล้ว คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
- ข้ออ้างว่า มีการเปลี่ยนสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้านั้น ทุกฝ่ายก็ทราบปัญหาดีว่า มีการขัดขวางการสมัคร ซึ่ง ผอ.เขตเลือกตั้งมีอำนาจตามกฎหมายในการประกาศเปลี่ยนสถานที่รับสมัครได้ และพรรคการเมืองทุกพรรคก็ทราบ และไม่มีพรรคใดคัดค้าน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ส่งผู้สมัครอยู่แล้ว
- ข้ออ้าง เรื่องการนับคะแนนนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้มีการนับคะแนนเมื่อการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นเสร็จสิ้น การนับคะแนนจึงเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมายทุกประการ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้
ด้วยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว และถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และนอกเหนืออำนาจ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าวโดยขอให้ กกต.ได้จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยเร็วต่อไป
ทั้้งนี้แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยยังระบุว่า การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้เป็นไปอย่างลุกลี้ลุกลนและมีพิรุธ เช่น การสั่งให้รัฐบาลทำคำชี้แจง ทั้ง ๆที่รัฐบาลไม่มีหน้าที่ และบังคับให้ต้องส่งคำชี้แจงมายังศาลภายในเวลา 16.30 น.ของวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2557 ทั้ง ๆที่ส่งเอกสารให้รัฐบาลเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 และแม้รัฐบาลจะขอเลื่อนการชี้แจงออกไปถึง 17.00 น. ก็ไม่ยอม สรุป คือให้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อทำคำชี้แจง
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การเคลื่อนไหวของ 6 องค์กรอิสระ เป็นเพียงฉากหนึ่งของขบวนการโค่นล้มประชาธิปไตย ซึ่งมีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 นั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนตัวเล่นให้ดูสมจริงสมจังมากขึ้นเท่านั้น ทั้ง 6 องค์กรเหล่านั้น ไม่ทำตามหน้าที่ที่พวกตนมีอยู่อย่างเป็นกลาง และเที่ยงธรรม แต่กลับมีท่าทีเหมือนที่จะผลักดันประเทศให้เข้าสู่สภาพสุญญากาศ อันเป็นความต้องการของ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์
พรรคเพื่อไทยขอเรียนว่า จากพฤติกรรมและท่าทีของ 6 องค์กร ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต.นั้น เป็นที่น่าเคลือบแคลงเป็นอย่างมากว่า เพราะเหตุใดผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจง ทั้ง กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ที่บอยคอตและขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ กกต.กลับไม่ดำเนินการใด ๆเลย แต่กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยซึ่งปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาของระบอบประชาธิปไตยและกฎหมายทุกประการ กลับถูกจ้องเล่นงาน และหาเรื่องโจมตีได้ทุกเรื่อง ถึงแม้การเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์จะเป็นความบกพร่องหรือหน่วงเหนี่ยวของ กกต. และคนของพรรคประชาธิปัตย์ จนเวลาล่วงเลยไปไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้ ก็พยายามโยนว่าเป็นความผิดของรัฐบาล เหมือนกับจะเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เพื่อหาทางลงให้ กปปส. และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง หรือทำให้เกิดสุญญากาศ เพื่อนำไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 หรือการรัฐประหารต่อไป