สัญญาใจสำคัญกว่าดับไฟใต้?
ไม่ผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาบอกทำนองว่าตนเองมีสิทธิ์ส่งใครลงไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ก็ได้ เพราะท่านเป็น ผบ.ทบ.
และแม้คนที่มีข่าวว่าได้รับการเสนอชื่อให้ทำหน้าที่นี้ต่อจาก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล ที่จะขยับไปกินอัตราพลเอกในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก จะเป็นนายทหารที่ไม่ได้เติบโตจากกองทัพภาคที่ 4 และอาจจะเรียกได้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนกรานว่าในการปรับย้าย ไม่มีใครรู้ดีกว่า ผบ.ทบ. และทหารไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียว แต่ต้องทำได้ทุกอย่าง ทุกที่
ข้อความที่ยกมานี้เป็นคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มี.ค.2557 หลังถูกถามถึงบัญชีปรับย้ายนายทหารกลางปีที่มีการปรับเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยการให้ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 1 มานั่งเป็นแม่ทัพดับไฟใต้
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีอะไรผิด แต่ก็คงไม่สามารถสั่งปิดปากคนวิจารณ์ได้ และเสียงวิจารณ์นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากภายในกองทัพเองด้วย เพราะเรื่องของเรื่องเกี่ยวกับการตั้ง พล.ท.วลิต เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ มีที่มาที่ไปซับซ้อนพอสมควร
เริ่มจาก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพคนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย.ปีนี้ ตามธรรมเนียมต้องขยับขึ้นเป็นพลเอก ทำให้ต้องคัดเลือกแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ซึ่งมีรายงานว่า พล.ท.สกล ได้เสนอชื่อ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นทหารเหล่าม้าจากกองทัพภาคที่ 3 ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดย พล.ต.ปราการ เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา และเป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงด้านความรู้ความสามารถ
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ เสนอชื่อ พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เนื่องจากมีสัญญาใจกันไว้ว่าจะหาตำแหน่งแม่ทัพให้!!!
"สัญญาใจ" ที่ว่านี้ เกิดจาก พล.ท.วลิต ซึ่งเป็น "น้องรัก" สายบูรพาพยัคฆ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพลาดหวังจากเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 มาถึง 2 ครั้งซ้อน ทั้งเมื่อครั้งที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ ต.ค.2555 (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.) และครั้งที่ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) โยกจากตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก ไปนั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปีที่แล้ว และดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน
เป็นการพลาดหวังทั้งๆ ที่ พล.ท.วลิต เมื่อครั้งครองยศพลตรี และเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว-โรงเรียนสตรีวิทยา กระทั่งถูกระเบิดจนขาหัก ขณะที่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสนาธิการ พล.ร.2 รอ.(ภายหลังได้รับการปูนบำเหน็จเป็นพลเอก) เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกัน
ชื่อของ พล.ท.วลิต จึงติดอยู่ในกลุ่มนายทหารที่ถูกคนเสื้อแดงขัดขวางกดดันไม่ให้นั่งตำแหน่งสำคัญ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามสนับสนุนมาตลอดก็ตาม กระทั่งมาได้จังหวะในปีนี้ แม้จะต้องไปไกลถึงกองทัพภาคที่ 4 แต่ก็ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคลียร์สัญญาใจไปได้ระดับหนึ่ง
เรื่องนี้ถือเป็นสัญญาลูกผู้ชาย เพราะเมื่อครั้งที่ พล.อ.ไพบูลย์ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ของ พล.ท.วลิต ได้รับการเสนอชื่อเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ เคยเรียกทั้งคู่มากอดคอเคลียร์ใจกันมารอบหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ดี การเสนอชื่อ พล.ท.วลิต ไปดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งมีภารกิจสำคัญต้องรับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกวิจารณ์พอสมควรว่าให้ความสำคัญกับ "สัญญาใจ" มากกว่างานดับไฟใต้ เพราะ พล.ท.วลิต นับว่าเป็น "คนหน้าใหม่" ในบริบทปัญหาสามจังหวัดชายแดน
ขณะที่นายทหารซึ่งเติบโตมาในกองทัพภาค 4 หรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่า บ้างก็ถูกเตะออก บ้างก็ให้รอไว้ก่อน เช่น พล.ท.กิตติ อินทสร (ตท.14) รองแม่ทัพภาคที่ 4 แคนดิเดตอันดับ 1 เมื่อปีที่แล้ว ก็ถูกโยกไปเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว (อัตราพลโท) หรือ พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย (ตท.15) อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 กับ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว (ตท.16) อดีตเสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ก็ยังรอจ่ออยู่ในตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 4
นี่ยังไม่นับภารกิจสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเป็นพรรคการเมืองใดก็ต้องสานต่อ ฉะนั้นนายทหารที่จะนั่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 หากมีประสบการณ์ด้านการพูดคุยเจรจาก็น่าจะส่งผลดี อย่างเช่น พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว รองแม่ทัพ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพชุดที่มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเจ้าภาพด้วย
ยังดีที่ พล.ต.ชรินทร์ ไม่ถูกโยกออกไปจากกองทัพภาคที่ 4 เหมือน พล.ท.กิตติ เมื่อปีที่แล้ว จึงยังพอจะช่วยสานงานได้อยู่
ที่สำคัญปัญหาภาคใต้ ณ วันนี้ ไม่ได้มีแต่สถานการณ์ความไม่สงบ แต่ยังมีปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองของชนกลุ่มน้อยประเทศรอบบ้านไทย ไม่ว่าจะเป็น "โรฮิงญา" หรือล่าสุดคือกลุ่มมุสลิมที่สงสัยว่าเป็น "ชาวอุยกูร์" จากเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ที่โยงถึงเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วย
ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 จึงมีภาระหนักอึ้ง และต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างสูงในการจัดการปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าว ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า พล.ท.วลิต จะทำไม่ได้ แต่การเลือกใช้ "คนนอกพื้นที่" อาจต้องเสียเวลามานั่งเรียนรู้งาน อย่างไรก็ดี ก็มีบางเสียงแย้งว่าการจัดการปัญหาด้านความมั่นคงในปัจจุบันอยู่ในมือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งหมด ซึ่ง ผบ.ทบ.ในฐานะ ผอ.รมน.ควบคุมเบ็ดเสร็จ ฉะนั้นตั้งใครไปทำหน้าที่ไหนก็เหมือนกัน
ก็ไม่ทราบว่าข้อโต้แย้งลักษณะนี้ฟังขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ นายทหารที่เติบโตจากกองทัพภาคที่ 4 จะรู้สึกอย่างไร เพราะจู่ๆ ก็โดนนายทหารจากกองทัพภาคอื่นมานั่งเป็นแม่ทัพคนละปีๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีนโยบายให้นั่งอย่างน้อยคนละ 2 ปีเพื่อความต่อเนื่องในการปฏิบัติ
หากดูเส้นทางที่ผ่านมาของ พล.ท.วลิต และก้าวต่อไปของนายทหารผู้นี้ แน่นอนว่าคงไม่หยุดอยู่ที่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 นานนัก เพราะเป้าหมายของเขาย่อมไกลกว่านั้น
ขณะเดียวกันก็มีเสียงเรียกร้องจากประชาคมต่างๆ ในพื้นที่มาตลอดว่าให้ถอนทหารจากภาคอื่นออกไป เพราะไม่มีความเข้าใจในภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แล้วเปิดทางให้ทหารในกองทัพภาคที่ 4 ได้แสดงบทบาทในการดูแลพื้นที่ของตนเองมากกว่านี้
แต่ผลของการปรับย้ายกลางปี ย่อมสะท้อนว่าเสียงเรียกร้องเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจจากผู้นำกองทัพแม้แต่น้อยเลย...
แล้วอย่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะสั่งปิดปากคนวิจารณ์ หรือไม่อยากได้ยินคนตั้งคำถามได้อย่างไร?
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ http://goo.gl/02oEyi