กปปส.ถกปฏิรูปตำรวจต้องแยกนครบาล-ภูธรออกจากส่วนกลาง
เวทีระดมความเห็นกปปส.ถกปฏิรูปตำรวจเน้นกระจายอำนาจบริหารแยกนครบาล-ภูธรออกจากส่วนกลาง ให้บริหารงบประมาณด้วยตนเอง ย้ำต้องแก้กฎหมายตำรวจเพื่อให้เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง ส่วนกระบวนการยุติธรรมให้เน้นป้องปรามแทนปราบปราม
วันที่ 17 มีนาคม 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.) จัดเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 4 เรื่อง “การปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ณ ศูนย์เยาวชนลุมพินี โดยมีนายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เป็นประธานในการเสวนาครั้งนี้
พล.ต.อ.ไกรสุข สินศุข อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การบริหารงานของตำรวจในขณะนี้ยังเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนบน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังเกตได้ว่า ตำรวจทุกจังหวัดยังขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหากเปรียบเทียบก็เหมือนกับสินค้าที่ผูกขาดมานาน ขายให้ใครก็ต้องบังคับหรือจำเป็นต้องซื้อ ดังนั้นการปฏิรูปก็คือการปรับปรุงสินค้าผูกขาดให้ดีขึ้น
"อย่างแรกที่คงต้องทำคือ การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ควรแยกกองบัญชาการตำรวจภูธรทั้ง 9 ภาค และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกจากส่วนกลางเพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้องค์กรทั้งสองที่แยกออกมาเปรียบเสมือน "นิติบุคคล" เพื่อให้การบริหารแคบและกระชับ นอกจากนี้ตำรวจยังสามารถติดต่อกับชาวบ้านได้โดยตรงและสามารถที่จะบริหารงบประมาณของตนเองในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเองได้"
พล.ต.อ.ไกรสุข กล่าวถึงการบริหารปัจจุบันมีการแทรกแซงจากทางการเมืองไปสู่การแต่งตั้งตำรวจและเบี่ยงเบนผู้ที่รับราชการไม่มีโอกาสได้เติบโต คนที่ไต่เต้าก็แทรกข้ามตำแหน่งได้ทำให้มีปัญหาในการบริหาร ดังนั้นกฎหมายตำรวจจึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง
อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปฏิบัติงานของตำรวจในเรื่องการสืบสวนและสอบสวนยังปนไว้อยู่ด้วยกัน ควรมีการแยกให้ชัดเจน โดยสามารถเอาเทคโนโลยียุคใหม่มาใช้เพื่อนำไปสู่การหาผู้ต้องหาได้โดยง่าย ส่วนงานที่ไม่ใช่งานตำรวจก็ไม่ควรให้ตำรวจทำ เช่น งานรับแจ้งบัตรประชาชนหาย แจ้งโฉนดที่ดินหาย เป็นต้น
"หน่วยงานอย่างกรมที่ดินน่าจะสามารถจัดการเองได้ เพื่อให้สายตรวจได้ทำงานอย่างเต็มพื้นที่ รวมถึงควรยกเลิกบางตำแหน่งที่มีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว ทั้งตำรวจที่ดิน ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ เป็นต้น เพื่อที่จะได้นำกำลังที่มีไปใช้ในงานที่สำคัญและให้ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง"
พล.ต.อ.ไกรสุข กล่าว และว่า การตรวจสอบตำรวจที่ผ่านมามีคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ก็ไม่ได้ผล ดังนั้นควรมีองค์กรของประชาชนเข้าร่วมด้วยแต่อาจจะต้องกำหนดมาตรการให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการกลั่นแกล้ง ทั้งนี้แม้เราจะมีข้อเสนอหลายอย่างในเรื่องการปฏิรูป แต่ตำรวจก็มีวัฒนธรรมองค์กรเคยชินมายาวนาน ความคิดเห็นอาจจะไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การยัดเยียดแต่อาจต้องหาแนวทางอื่นร่วมด้วย
“ถึงแม้เราจะปฏิรูปตำรวจให้เป็นคนดีแต่หากไม่มีโครงการสร้างพลงเมืองให้เป็นคนดีอยู่ภายใต้กฎหมายก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันคือสถาบันการศึกษาต้องสอนให้เด็กรู้จักหน้าที่พลเมือง รวมถึงการคัดเลือกตำรวจที่ฝ่ายหนึ่งมาจากโรงเรียนเหล่าตำรวจทหาร บางส่วนมาจากผู้ที่จบมหาวิทยาลัย ดังนั้นการได้คนมาเป็นตำรวจก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องปฏิรูปซึ่งคงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้ดีที่สุด”
ด้านนายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า เราต้องเข้าใจกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาของไทยก่อน คือ ส่วนใหญ่เป็นการเน้นเอาคนเข้าคุก ซึ่งเราทำมาเป็นร้อยปี และพบว่ากฎหมายอาญาที่มีมากกว่า 350 ฉบับนั้นบทลงโทษเน้นไปที่การจำคุก เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดการสอบสวนจึงเน้นไปแนวทางนี้ทั้งหมด ซึ่งผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การสั่งจำคุกมากๆเป็นการเพิ่มภาระให้แก่รัฐ ถ้าเป็นโทษปรับรัฐไม่ต้องเสียอะไรเลย
"ดังนั้นเป้าหมายของการปฏิรูปคือต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งและให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขและยังเป็นการลดการละเมิดสิทธิ์ของประชาชนโดยบุคคลจากระบบกระบวนการยุติธรรมให้หมดไป และเราต้องสร้างกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โปร่งใสปราศจากการทุจริตประพฤติมิชอบ"
ทั้งนี้ นายภิญโญ ได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วยว่า
1.จะต้องนำหลักกระบวนกยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้ โดยเน้นการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทในกระดับชุมชนก่อนคดีขึ้นสู่ศาล
2.ปรับกระบวนการยุติธรรมที่เน้นปราบปรามเป็นป้องปราม โดยพิจารณาบทลงโทษที่เหมาะสม คือเน้นปรับเป็นหลัก บริการสังคมและคุมประพฤติเป็นมาตรการเสริม
3.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการการบังคับใช้กฎหมาย โดยปฏิรูปโครงสร้างตำรวจและระบบงานสืบสวนสอบสวน ปฏิรูประบบพิจารณากลั่นกรองและการฟ้องคดีของอัยการ ให้มีการพิจารณาและสั่งฟ้องคดีโดยคณะกรรมการและมีกลไกตรวจสอบซ้ำ
และ 4.จัดตั้งองค์กรและกลไกให้ความช่วยเหลือประชาชนในทางกฎหมายและการฟ้องร้องคดี โดยให้กระทรวงยุติธรรมจัดให้มีองค์กรช่วยเหลือประชาชนในทางกฎหมายในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น