'ดร.เสรี' เตือนกลางปี 'เอลนิโญ' จ่อเเล้งหนักกระทบพื้นที่เกษตร
กรมชลฯ ห่วงน้ำไม่พอใช้ เหตุแล้งหนัก เตรียมหยุดส่งทำนาปรังเขตชลประทาน ‘ดร.เสรี’ เตือนกลางปีไทยเจอ ‘เอลนิโญ’ ทำฝนทิ้งช่วง ระบุมี.ค.ปีหน้า น้ำจะน้อยกว่าเดิมอีก เเนะควรจัดโซนนิ่งเกษตรจริงจังลดผลกระทบ
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์น้ำในฤดูเเล้งว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 5,885 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44% เขื่อนสิริกิติ์มีประมาณน้ำ 4,605 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 48% คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงเฉลี่ย 25% ซึ่งทั้งสองเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำน้อยตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้งแล้ว ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการนำน้ำส่วนสำรองไว้สำหรับทุกกิจกรรมในฤดูฝนมาใช้ก่อน จนมีการใช้น้ำเกินแผนที่กรมชลประทานวางไว้จากเดิม 5,300 ล้านลบ.ม.
ส่วนข้อกังวลจะกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมนั้น อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เกษตรกรได้ใช้น้ำสำรองดังกล่าวเพื่อทำนาปรังแล้ว ซึ่งในเขตพื้นที่ชลประทานปลูกข้าวเกินกว่า 100% ขณะที่การทำนานอกเขตชลประทานปลูกข้าวเกิน 50% โดยเฉลี่ยชาวนาปลูกข้าวเกิน 80% ซึ่งกรณีนี้หากยังมีการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมมากขึ้น กรมชลประทานจะระงับการส่งน้ำ เพื่อให้เกษตรกรหยุดการทำนาปรังก่อนและรอทำในต้นฤดูฝนอีกครั้งตามแผนงานที่เตรียมไว้
“พื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานมีเพียง 29 ล้านไร่ จากทั้งหมด 130 ล้านไร่ ซึ่งไม่มีปัญหาภัยแล้ง แต่สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานอีก 100 ล้านไร่ ที่คาดว่าจะมีปัญหาภัยแล้งนั้น เกษตรกรจะไม่ทำนากันอยู่แล้ว” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว และว่า อาจจะมีบางพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติทำนาปรังบ้าง แต่น้ำที่ค้างในแม่น้ำลำคลองมีปริมาณน้อย ฉะนั้นโอกาสที่จะมีปัญหาด้านภัยแล้งคงมีได้ทั่วไป เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติขาดการบริหารจัดการ
เมื่อถามว่าจะส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือไม่ นายเลิศวิโรจน์ ระบุว่า น้ำที่จะนำมาผลิตประปายังมีอยู่ ซึ่งไม่สามารถปล่อยให้ขาดแคลนได้ แต่ในกรณีที่มีการนำน้ำสำรองช่วงต้นฤดูฝนใช้ปริมาณมากจริง ๆ จะกระทบเพียงภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ยืนยันว่าน้ำอุปโภคบริโภคของคนกรุงเทพฯ ยังมีสำรองอยู่
ด้านดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งของไทย ยังน่ากังวล โดยแบ่งได้ 3 ระยะ คือ
ระยะสั้น มีการนำน้ำสำรองในฤดูฝนมาใช้เกินแผนที่วางไว้ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.พิจิตร มีแผนการใช้น้ำถึงสิ้นเดือนเมษายน 2557 ไม่เกิน 5,300 ล้านลบ.ม. แต่ปัจจุบันนี้ใช้ไป 5,600 ล้านลบ.ม. ทั้งที่ยังเหลืออีกเดือนครึ่ง ฉะนั้นจะไม่มีน้ำให้ชาวนาใช้ทำนาปรัง รอบที่ 2 แน่นอน เพราะจะต้องกักเก็บไว้สมทบกับน้ำฝนในการทำนาปี
ระยะกลาง การที่คาดหวังว่า ในฤดูทำนาปีจะมีน้ำฝนนั้น ปรากฏว่าอาจเกิดปรากฎการณ์เอลนิโญประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และจะมีผลประมาณ 3-5 เดือน ซึ่งตรงกับฤดูฝนของไทยพอดี จึงอาจทำให้ฝนทิ้งช่วงได้
ระยะยาว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกลายเป็นภัยคุกคามที่หนักหนาสาหัส น้ำในฤดูแล้งช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม จะมีปริมาณน้อยลงกว่าเดิมอีก
เมื่อถามว่า ภัยเเล้งเกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดหรือไม่ ดร.เสรี กล่าวต่อว่า ปลายปี 2556 ไทยจะมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก แต่เพื่อป้องกันน้ำท่วม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จึงมีคำสั่งให้ปรับเกณฑ์การระบายน้ำออกจากอ่างมากขึ้น แต่ภายหลังเมื่อเริ่มมีภัยแล้งเกิดขึ้น กรมชลประทานจึงปรับแผนการระบายน้ำให้น้อยลง เเต่ก็ช่วยได้เพียงเล็กน้อย
"เเต่ที่หนักหนาสาหัส คือ การขาดนโยบายการบูรณาการภาคเกษตรกรรมที่ชัดเจน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ควรกำหนดว่าจะให้มีผลผลิตข้าวเท่าไหร่ ส่งออกเท่าไหร่ บริโภคภายในเท่าไหร่ เพาะปลูกพื้นที่ใดบ้าง จะต้องควบคุมให้ได้ ซึ่งหากปล่อยให้เกษตรกรปลูกข้าวเกิน นอกจากราคาตกต่ำเเล้ว น้ำจะไม่มีให้ใช้ด้วย ดังนั้นจึงควรให้มีการจัดทำเเผนการใช้จ่ายน้ำให้ตรงข้อเท็จจริงตามความต้องการของเกษตรกรด้วย ทั้งนี้ รวมถึงพืชชนิดอื่น" ดร.เสรี กล่าว