ภราดร : ฮาร์ดคอร์ป่วนเมืองกับกลุ่มป่วนใต้ใช้ยุทธวิธีเดียวกัน
จังหวะนี้ต้องเรียกว่า "นับถอยหลัง" แล้ว สำหรับการนั่งในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
ล่าสุดมีข่าวจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่าจะให้สลับตำแหน่งกับ ถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ภายหลังรัฐบาลแพ้คดีถวิลในศาลปกครอง ทำให้ต้องคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้ และผลกระทบก็เกิดกับเลขาธิการ สมช.คนปัจจุบันอย่าง พล.ท.ภราดร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้ก่อปัญหาโดยตรง เพราะ พล.ท.ภราดร ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ต่อจากถวิล หรือได้ตำแหน่งเพราะถวิลโดนย้าย
แต่เมื่อมีโอกาสได้พบ พล.ท.ภราดร เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเจ้าตัวยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม และอาจฮัมเพลง "ปล่อยให้มันเป็นไป" อยู่ในใจเสียด้วยซ้ำ...
พล.ท.ภราดร นับเป็นเลขาธิการ สมช.ขวัญใจนักข่าวจำนวนไม่น้อย เพราะมีบุคลิกเข้าถึงง่าย ให้สัมภาษณ์ง่าย แม้หลายครั้งจะถูกวิจารณ์ว่าพูดมากเกินไป แต่เจ้าตัวเคยแย้มพรายให้ฟังว่า เป็นยุทธวิธีการทำงานในยุคข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก ฉะนั้นแทนที่จะเป็นผู้ตามแก้ข่าว เลขาฯสมช.ขอเป็นผู้นำในการให้ข่าวเสียเอง กลายเป็นผู้กำหนดวาระข่าว ทั้งยังทำตัวเป็นกันชนลดแรงกระแทกระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่างๆ ด้วย
วิธีการแบบนี้ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ย่อมขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละคน
แต่ในจังหวะของการ "นับถอยหลัง" บนเก้าอี้เลขาธิการ สมช. มีภารกิจหนึ่งที่หลายคนเป็นห่วง เพราะได้นำทั้งตัวและตำแหน่งไปผูกติดเอาไว้ นั่นก็คือการร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้กับผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่ง พล.ท.ภราดร ไปลงนามเอาไว้ และได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย รวมทั้งประสานงานผ่านมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก
หลายคนหวั่นว่าถ้า พล.ท.ภราดร ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนเป็นเลขาธิการ สมช. อาจกระทบกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ หนำซ้ำ ถวิล เปลี่ยนศรี ว่าที่เลขาธิการ สมช. ก็แสดงท่าทีชัดเจนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยแบบเปิดเผยเช่นที่ผ่านมา
ทว่าเมื่อสอบถามประเด็นเหล่านี้กับ พล.ท.ภราดร กลับพบว่าเจ้าตัวไม่ได้กังวลใดๆ เลย...
"รัฐบาลจะมอบให้ใครรับผิดชอบก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเลขาฯสมช. สำหรับกระบวนการพูดคุยนั้นเร็วๆ นี้ต้องเดินต่อ เพราะช่วงที่ผ่านมาที่เงียบหายไป เป็นแค่หยุด ไม่ได้เลิก ส่วนรัฐบาลจะมอบให้ใครเป็นหัวหน้าคณะ ก็เป็นอำนาจของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ก็ได้"
"ส่วนที่คุณถวิลไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นไร เพราะการพูดคุยเป็นอำนาจและเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงไม่มีปัญหา รัฐบาลอาจไม่ใช้เลขาฯสมช.ก็ได้"
พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมายังมีการประสานงานและสื่อสารกันตลอด การพูดคุยครั้งต่อไปจะมีกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมด้วย
"ได้สื่อสารกันว่าเมื่อสถานการณ์ในประเทศเบาลง (ปัญหาชุมนุมทางการเมือง) ก็คงเคลื่อนต่อ เราอธิบายไปว่านโยบายเราชัด ฉะนั้นเดินหน้าต่อเนื่องแน่นอน เขาก็เชื่อใจ มีสัญญาณตอบรับมาตลอด แม้ยังไม่ชัดว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่จะเพิ่มเข้ามา แต่ก็ขอให้เริ่มด้วยบีอาร์เอ็น" พล.ท.ภราดร กล่าว พร้อมขยายความว่า ความเชื่อใจที่ว่านั้นมาจากมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก และบีอาร์เอ็นที่ร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทย
ส่วนที่บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะไม่ร่วมกระบวนการพูดคุยอีกต่อไปนั้น พล.ท.ภราดร บอกว่า ต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นยังไม่เป็นเอกภาพ กลุ่มที่เห็นต่างจึงต้องทำไอโอ (ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร)
เมื่อซักถึงข่าว นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ซึ่งน่าจะเกี่ยวโยงกับการที่บีอาร์เอ็นมีแถลงการณ์ไม่ร่วมกระบวนการพูดคุยแล้วนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ทราบว่านายฮัสซันกลับมาแล้ว โดยได้รับข้อมูลนี้จากทางการมาเลเซีย
ต่อข้อถามว่ามีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้ให้รวมกลุ่มและภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยโดยใช้ชื่อเดียว คล้ายๆ สมัชชาประชาชนมลายูปาตานี เรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงมองอย่างไร พล.ท.ภราดร กล่าวว่า คงพยายามใช้ชื่อเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ เพราะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น ยังไม่มีเอกภาพ แม้แต่พูโลเองก็มี 3 กลุ่ม แต่เราให้ 2 เก้าอี้ ก็ต้องไปคุยกันมาให้ได้ว่าจะส่งใครเป็นตัวแทน
เมื่อถามอีกว่า ทำไมสถานการณ์ในพื้นที่ช่วงนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์เกิดขึ้นกับประชาชนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ความรุนแรงที่ยังปรากฏอยู่เป็นกลุ่มที่พึงประสงค์ไม่ให้เกิดการพูดคย จึงต้องฉวยโอกาสนี้แสดงศักยภาพ
"อีกอย่างตอนนี้ในพื้นที่เกิดเหตุรุนแรงจากมูลเหตุความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่นและเรื่องส่วนตัวเยอะมาก ส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว คือคนที่ขัดแย้งกันมักไม่แจ้งตำรวจ เพราะพอไปแจ้งแล้ว ถ้าอีกฝ่ายเป็นอะไรไป ตัวเองจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยทันที ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายอาจมีคู่กรณีหลายคน ฉะนั้นจึงไม่มีการแจ้งความ แล้วก็ไปจัดการกันเอง อันนี้กำลังเป็นปัญหา กรณีของ นายเจะมุ มะมัน (บิดาของเด็กๆ ที่ถูกยิงเสียชีวิต 3 ศพเมื่อต้นเดือน ก.พ.) ก็เป็นแบบนี้"
พล.ท.ภราดร ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไม่ว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จะเกิดจากการล้างแค้นกันเอง หรือเป็นคดีความมั่นคงที่กระทำโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ผลมักไม่แตกต่างกัน คือมีการปล่อยข่าวว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทฤษฎีแบบนี้ถูกนำมาใช้ที่กรุงเทพฯ โดยกลุ่มนิยมความรุนแรง หรือ ฮาร์ดคอร์ ซึ่งส่วนใหญ่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ด้วย
"พวกนี้ไม่ใช่ กปปส. ไม่ใช่เนื้อเดียวกันกับ กปปส. เป็นกลุ่มเห็นต่าง แต่เชื่อในยุทธวิธีรุนแรง และทำกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เขาหวังสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความรุนแรง ให้รัฐบาลใช้กำลังจัดการ ถ้าไม่ได้ผลก็บอกว่ารัฐบาลหน่อมแน้ม จับกุมใครไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลเกิดจับกุมได้ หรือเริ่มจับทางได้ ก็จะปฏิบัติการข่าวสารโต้กลับว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายทำ ถือว่ารัฐบาลโดน 2 เด้ง"
"การเลือกใช้ยุทธวิธีแบบนี้ ถ้าผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก สถานการณ์รุนแรงจะเกิดน้อย แต่ถ้าผู้ชุมนุมเริ่มลดน้อย ก็จะเสี่ยงเกิดความรุนแรงเพื่อป้ายสีรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากเป็นทางเดียวที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ เหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการสร้างสถานการณ์ป้ายสีรัฐ ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น ป้ายสีรัฐไว้ก่อนเลย จากนั้นก็รอดู ถ้ารัฐจับกุมใครไม่ได้ ก็ด่าว่ารัฐคุ้มครองความปลอดภัยให้ไม่ได้ แต่ถ้ารัฐจับผู้ก่อเหตุได้ ก็อ้างว่าเป็นการจับแพะ และการก่อเหตุรุนแรงก็ไม่สนว่าเป้าหมายเป็นฝ่ายใด"
พล.ท.ภราดร ทิ้งท้ายว่า สมช.และรัฐบาลเข้าใจทฤษฎีนี้ จึงต้องเข้มแข็งมากๆ ไม่ปฏิบัติไปตามเกมที่ถูกยั่ว และการวางแผนรับมือต้องใช้ความเข้าใจ