“ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ขาดเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะหรือไม่ 19 มี.ค.นี้
“ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ขาดเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะหรือไม่ 19 มี.ค.นี้ หลังนัด “กกต.-รบ.” แจงในช่วงเช้า ตกบ่ายมีคำวินิจฉัยทันที บอกเหตุผลทั้ง 5 ประเด็น มีข้อยุติหมดแล้ว
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5-4 รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะหรือไม่ ตามคำร้องของายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคำร้องให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะหรือไม่ ในช่วงบ่ายวันที่ 19 มีนาคม 2557 ภายหลังที่ในช่วงเช้าศาลรัฐธรรมนูญนัดให้ผู้ร้องมาชี้แจงคำร้อง และนัดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาล ได้ชี้แจงข้อมูลทั้งหมด
“ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องดังกล่าวในทันที เนื่องจากได้ตรวจสอบในข้อเท็จจริงหมดแล้ว และในคำร้องมีเหตุผลทั้ง 5 ประเด็น ซึ่งมีข้อยุติหมดแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ในคำร้องมีเหตุผล 5 ประเด็น ดังนี้ 1.การเลือกตั้งทั่วไปมิได้กระทำขึ้นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เนื่องจาก 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ไม่มีผู้สมัครทำให้การเลือกตั้งทั่วไปมี 2 วัน วันแรกมี 347 เขตเลือกตั้ง อีกวันมี 28 เขตเลือกตั้งซึ่งกรณีดังกล่าว นอกจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ยังขัดกับหลักการของประชาธิปไตยแบบผู้แทน และย่อมส่งผลให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งต่างวาระกัน มีฐานทางกฎหมายและความชอบธรรมของการเป็นผู้แทนที่แตกต่างกัน
2.การดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป มิได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จากกรณีรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองซึ่งไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ ได้ไปแจ้งความไว้ที่กองปราบหรือ สน.ดินแดง ซึ่งไม่ใช่สถานที่รับสมัครเลือกตั้งตามที่ กกต.ได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้าไว้ กรณีดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติให้ตัวแทนพรรคการเมืองได้สิทธิในการจัดสลากหมายเลข ทั้งที่มิได้ดำเนินการตามประกาศของ กกต. นอกจากนี้ ในการรับสมัคร ส.ส.เขต บางจังหวัดยังมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้มีจำนวนถึง 16 เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว
3.การนับคะแนนเสียงเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งหลังสิ้นสุดระยะเวลาลงคะแนนในวันที่ 2 ก.พ.2557 ทำให้ผู้ที่จะมาเลือกตั้งหลังวันดังกล่าวทราบผลการเลือกตั้งก่อนการลงคะแนน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงและเกิดความไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ขัดต่อหลักความเสมอภาคและโอกาสที่ทัดเทียมกันของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
4.การให้นับคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ทำให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไปที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 20 และ 27 เม.ย.2557 เป็นอันไร้ผลเพราะบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะกลายเป็นบัตรเสียตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
และ 5.กกต.ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลและที่มีสมาชิกดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยมีการออกประกาศหลายฉบับที่มีผลโดยตรงต่อการทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง