อธิการบดีปัญญาภิวัฒน์ชี้สื่อคือสะพานเชื่อมโยงอาเซียน ต้องวิเคราะห์ ตีโจทย์ให้แตก
อธิการบดีสถาบันปัญญาภิวัฒน์แนะสื่อไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ต้องรายงานข้อเท็จจริง พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์ได้ ย้ำ 'เห็นก่อน เห็นไกล เห็นกว้าง เห็นลึก เห็นหลาก' ได้เปรียบ
วันที่ 14 มีนาคม 2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ชมรมนักข่าวอาเซียน และ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดประชุมใหญ่วิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2557 “ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์” ครั้งที่ 6 ตอน Asean Journalism and Education โดยมีนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน
จากนั้น มีการบรรยายพิเศษโดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในหัวข้อ “โอกาสของสื่อและการศึกษาด้านสื่อในประชาคมอาเซียน”
รศ.ดร.สมภพ กล่าวตอนหนึ่งว่า อาเซียนบนเส้นทางที่มุ่งสู่ประชาคมอาเซียนโดยทั่วไปคนมักนึกถึงแต่เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งแท้จริงแล้วในการมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนนั้นยังมีอีกสองเสาหลักที่สำคัญ คือเสาที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ในด้านการเมืองและความมั่นคง และเสาของเรื่องสังคมและวัฒนธรรม
"แต่สาเหตุที่ AEC ถูกกล่าวถึงมากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นสิ่งที่มีรูปธรรมในการขับเคลื่อนและจับต้องได้มากที่สุด สาเหตุที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากในการมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนนั้นจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายใน 5 เรื่องดังต่อไปนี้ เรื่องแรกการค้าเสรี 2.การลงทุนเสรี 3.การเคลื่อนย้ายภาคบริการ 12 สาขา 4.การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี 5.การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ8สาขา"
รศ.ดร.สมภพ กล่าวอีกว่า พลังของAEC มีพลังการขับเคลื่อนที่มุ่งสู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือ ความขัดแย้งและการเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานผลิตเดียวกันหรือฐานดีมานเดียวกันทางตลาด ข้อสำคัญของเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายจะส่งผลให้กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ประเทศลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม รวบรวมทรัพยากรธรรมชาติมาขาย
“จากการที่มีโอกาสได้ไปเป็นวิทยากรและลงพื้นที่ในหลายประเทศของอาเซียนเชื่อว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแน่นอนภายใต้แรง สภาวการณ์นี้คือ 7 ปฏิวัติใน CLMV คือ ปฏิวัติมอเตอร์ไซค์ ปฏิวัติร้านโชว์ห่วย ปฏิวัติเครื่องใช้ไฟฟ้า ปฏิวัติสินค้าอุปโภคบริโภค ปฏิวัติการเกษตร ปฏิวัติอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า และการปฏิวัติการก่อสร้าง ถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า”
อธิบดีสถาบันปัญญาภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปฏิวัติการเกษตร ซึ่งจะเน้นไปในเรื่องการทำนาประเทศพม่าจะมีการพัฒนาการเกษตรไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศยังว่างเปล่า เป็นพื้นที่ที่รอการพัฒนาร่วม120 ล้านไร่ ฉะนั้นพม่าจะมีการพัฒนาใน 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการวางแผน การขับเคลื่อน และการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร ซึ่งการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้านจะเชื่อมโยงมายังประเทศไทยที่เราจะต้องแปลงด้านลบให้มาเป็นด้านบวก
อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ฝากความหวังได้อีกกลุ่มในคือสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความหลากหลายนี้ให้เข้าหากัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเรียนภาษาไทยและสนใจประเทศไทยมากขึ้น เราเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย
“หน้าที่ในการรายงานความจริงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำแต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องข้อมูลที่เป็นจริงคือเรื่องวิเคราะห์สถานการณ์ แต่การวิเคราะห์อย่างถูกต้องจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราตีโจทย์ให้แตก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆในแง่มุมที่หลากหลายและหลากมิติ รวมถึงการรายงานข่าวอย่างมีประสิทธิภาพด้วย”
รศ.สมภพ กล่าวย้ำในตอนท้ายในเรื่องสิ่งที่สื่อต้องพัฒนาว่า ในมุมมองตนเองนั้นมองว่า สื่อจะต้องพัฒนา 5 เรื่อง โดยต้องสร้างความสามารถในการเห็นก่อนให้ได้ คือ มองเห็นปัญหาและโอกาสก่อนคนอื่น เห็นไกลคือการเห็นถึงความเป็นมาของความสำคัญเพื่อที่จะได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ คือมองอย่าง see for future เห็นกว้างคือต้องพัฒนาเรื่องมุมมองในด้านต่างๆ อย่างเศรษฐกิจ อย่ามองแต่ เรื่องดัชนีชี้วัด แต่ให้ดูแนวโน้มเรื่องอื่นๆด้วย เห็นลึกกับวิชาชีพที่เราทำ รายงานข่าวอะไรต้องรู้ข้อมูลอย่างแท้จริง เห็นหลากมิติคือการมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของปัญหา เพราะมิติมันเกี่ยวโยงกัน เมื่อเรามองเห็นแล้วจะทำให้เราเกิดความสามารถในการวิเคราะห์ข่าวได้อย่างลึกซึ้งและจะมีประโยชน์ต่อผู้เสพข่าวสารทุกคน