15 ปี กระจายอำนาจ พบท้องถิ่นเล็กเกินแบกรับภารกิจขนาดใหญ่ได้
ดร.จรัส ชี้ 15 ปีกระจายอำนาจ พบมีหลายท้องถิ่นรับภารกิจไปแล้วส่งคืน เหตุถูก “บอนไซ” ยันแนวคิดจังหวัดปกครองตนเองขจัดความซ้ำซ้อนเชิงโครงสร้าง หน้าที่ และก้าวข้ามข้อจำกัดลงได้ ด้าน ถวิล ไพรสณฑ์ ระบุ งานนี้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบาย เชื่อฝ่ายปกครองพร้อมอยู่แล้ว
วันที่ 14 มีนาคม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) จัดเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 เรื่อง "การกระจายอำนาจ สู่จังหวัดปกครองตนเอง" ณ อาคารศูนย์เยาวชนสวนลุมพินี โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวเปิดเวทีตอนหนึ่ง ถึงการปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย มาเป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว แต่การกระจายอำนาจการปกครองที่ลงไปถึงประชาชนจริงๆ ยังมีปัญหาและอุปสรรคมาก โดยเฉพาะการพัฒนานอกพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดความลักลั่น ความไม่เท่าเทียม ทั้งในด้านโอกาส งบประมาณ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
นายสุเทพ กล่าวว่า ประชาชนต้องการสิทธิในการปกครองตนเอง หมายถึง การให้จังหวัดปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งนักวิชาการและองค์กรต่างๆ มีการขบคิดถกเถียงจนได้ข้อสรุปที่เกือบสมบูรณ์ กระทั่งมีร่างพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว
ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความจำเป็นต้องมีการกระจายอำนาจ ก็เนื่องมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้การบริหารจัดการทั้งหลายล้มเหลว ขณะเดียวกันระบอบประชาธิปไตยตัวแทนที่อยู่ภายในระบบรัฐรวมศูนย์ก็จะล้มเหลวไปด้วย ไม่มีการถ่ายโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่น
“ส่วนท้องถิ่นเอง 15 ปีที่ผ่านที่มีการกระจายอำนาจ ก็พบว่า มีขนาดที่เล็กเกินไปที่จะรองรับภารกิจขนาดใหญ่ได้ มีหลายท้องถิ่นรับภารกิจไปแล้วส่งคืนรัฐบาลกลาง เพราะว่า ถูกบอนไซให้มีแต่หน้าที่ แต่ไม่มีงบประมาณ ทรัพยากร อีกทั้งยังติดที่ระบบการคลังที่รัฐบาลกลางไม่ได้กระจายอำนาจทางการคลัง พึ่งงบฯ รัฐบาลกลาง ”
ดร.จรัส กล่าวถึงแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง คือการจัดตั้ง องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัด ที่เกิดจากการรวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และส่วนภูมิภาค รวมเป็นองค์กรเดียวกัน ตามความหมายนี้จะไม่มี “ราชการส่วนภูมิภาค” อยู่ในแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะสามารถขจัดความซ้ำซ้อนในเชิงโครงสร้างและหน้าที่ วันนี้ อบจ.กับท้องถิ่น ทำงานซ้ำซ้อนกับภูมิภาคอยู่ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่แพง รวมทั้งยังสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของการกระจายอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบันได้
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงอำนาจหน้าที่จังหวัดปกครองตนเองในอนาคต จังหวัดสามารถจัดบริการสาธารณะในพื้นที่ได้กว้างขวาง ยกเว้นอยู่ 4 เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางเรื่อง คือ ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบการเงินการคลัง กระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ดร.จรัส กล่าวถึงตำรวจด้วยว่า อนาคตจะไปอยู่ที่จังหวัด โดยเฉพาะงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งจะมีการแยกส่วนไหนสามารถที่จะไปอยู่กับจังหวัดได้ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ จังหวัดสามารถทำร่วมกับรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลางได้ด้วย
สำหรับเรื่องการเงินการคลัง ดร.จรัส กล่าวว่า จังหวัดจะมีระบบการเงินการคลัง มีระบบงบประมาณที่เป็นอิสระ ใช้ระบบบัญชี ตามมาตรฐานการบัญชีตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำได้เหมือนเดิม
“ขณะที่รายได้ภาษีที่เก็บจากจังหวัด บางจังหวัดเก็บภาษีได้หลักร้อยล้านบาท ขณะที่บางจังหวัดเก็บภาษีได้เป็นแสนล้านบาท ดังนั้นในอนาคตจังหวัดที่เก็บภาษีได้น้อย จะมีศักยภาพเก็บภาษีได้หลักพันล้านบาท โดยจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีใหม่ ให้จังหวัดมีส่วนแบ่งรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล สรรพสามิต และภาษีทรัพยากรธรรมชาติ” ดร.จรัส กล่าว และว่า ขณะที่หน้าที่การเก็บภาษียังคงเป็นของกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต เหมือนเดิม และนอกจากรายได้ของจังหวัดปกครองตัวเองจะมาจากภาษีแล้ว ยังมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลกลางอีกด้วย
ดร.จรัส กล่าวว่า ณ วันนี้แต่ละจังหวัดมีงบฯ ที่จัดสรรผ่านกระทรวง ทบวง กรม ลงไปยังจังหวัด แต่ละจังหวัดได้ประมาณ 1.5 – 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นงบฯ ที่รัฐบาลกลางต้องจัดสรรอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้น เพียงแค่จัดสรรลงไปที่จังหวัดโดยตรงด้วยเงินเท่าเดิม
“แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองไม่ได้เพิ่งมาทำ แต่มีการศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว จากความคิดกลายเป็นงานวิจัย มีการระดมสมองกว่า 20 จังหวัด ทดลองทำ กระทั่งกำลังมีกฎหมายรองรับแล้ว”
ขณะที่นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการปกครองส่วนกลาง (กระทรวง ทบวง กรม) ส่วนภูมิภาค (จังหวัด อำเภอ) และส่วนท้องถิ่น (ตำบล หมู่บ้าน) ซึ่ง หากภูมิภาคหายไป ไม่ได้หมายความว่า ข้าราชการต่างจังหวัดจะกลับกรุงเทพฯ เพียงแต่เป็นสถานภาพจากข้าราชการส่วนภูมิภาค เป็นข้าราชการส่วนกลาง และบทบาทอำนาจหน้าที่ลดลง ผ่องถ่ายอำนาจให้ท้องถิ่น
“เราเพียงแต่กระจายอำนาจ ไม่ได้ประกาศอิสรภาพ ส่วนการไม่มีภูมิภาค ก็ยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ ซึ่งการทำหน้าที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย ทำงานใกล้ชิดตำรวจและฝ่ายปกครองมากขึ้น” นายพงศ์โพยม กล่าว และว่า ดังนั้น จังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ.2557 จึงไม่ได้ไปแตะต้องกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.จัดการตนเอง ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มจังหวัดจัดการตนเอง เปิดช่องกลุ่มจังหวัดที่มีความพร้อมในรูปแบบมณฑล เช่น มณฑลอันดามัน มณฑลศรีวิชัย มณฑลล้านนา สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีแผนพัฒนากำหนดการพัฒนาที่ไม่ได้กำหนดจากส่วนกลาง แต่จะกำหนดจากฐานวัฒนธรรม ฐานทรัพยากร และวิถีชีวิตของเขา โดยจะมีจีดีพีวัดเศรษฐกิจท้องถิ่นเอง มีมหาวิทยาลัยในมณฑลนั้น
ส่วนการกระจายอำนาจท้องถิ่น นพ.ชูชัย กล่าวด้วยว่า ต้องควบคู่กับการตรวจสอบประเมินผล ไม่ให้มีการทุจริตมากมาย โดยเฉพาะการกระจายอำนาจต้องไปในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน
สำหรับนพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงการกระจายอำนาจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในงานสาธารณสุขที่ให้พื้นที่จัดการตนเอง มีให้เห็นแล้วที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และสถานีอนามัย พร้อมกับเชื่อว่า แนวคิดกระจายอำนาจสามารถทำได้ภายในไม่เกิน 3-5 ปี
สุดท้ายนายถวิล ไพรสณฑ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบาย พร้อมกับเชื่อว่า ฝ่ายปกครองมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานของกระทรวงมหาดไทยได้โอนให้ท้องถิ่นเกือบหมดแล้ว แต่ของกระทรววง ทบวง กรมอื่นยังมีปัญหามากในการถ่ายโอน ทั้งๆที่เป็นมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจ
"การเปลี่ยนแปลงเรื่องกระจายอำนาจครั้งนี้เป็นเรื่องยากมาก แต่ไม่มีสถานการณ์ใดเหมาะสมเท่าครั้งนี้ ทำครั้งนี้ไม่สำเร็จ ก็ไม่มีทางสำเร็จอีกแล้ว"
ทางออกประเทศไทย"หมอประเวศ" แนะปฏิรูปชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
ปฏิรูปจังหวัดจัดการตนเอง ‘ไพโรจน์ พลเพชร’ ชี้พลเมืองต้องตื่นรู้
เตรียมจัดเวทีล่ารายชื่อ ดันกม.จังหวัดปกครองตนเองเข้าสภาฯ