"คำนึง ชำนาญกิจ" สตรีดีเด่นส่งเสริมสันติภาพ จาก "เหยื่อ" สู่ "ผู้ช่วยเหลือ" ที่ชายแดนใต้
วันสตรีสากล 8 มี.ค.ปีนี้ มีสตรีจากชายแดนใต้ได้รับรางวัลจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ หลายคน แต่ที่เป็นจุดสนใจมากที่สุดเพราะเป็นสตรีจากพื้นที่ขัดแย้ง ย่อมหนีไม่พ้นรางวัล "สตรีดีเด่นด้านส่งเสริมสันติภาพ" ที่สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้คัดเลือก
โดยผู้หญิงที่คว้ารางวัลในปีนี้ คือ คำนึง ชำนาญกิจ อาสาสมัครเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงที่สามารถก้าวข้ามประสบการณ์จริงที่เป็นฝันร้ายในชีวิต มายืนด้วยลำแข้งของตนเองได้อย่างแข็งแรง และยังแบ่งปันกำลังใจ ทุ่มเทแรงใจแรงกายช่วยเหลือเพื่อนร่วมชะตาคนอื่นๆ ด้วย
"การทำงานที่ผ่านมาไม่ได้คิดถึงรางวัลอะไร เพราะทำด้วยความตั้งใจของเรา รางวัลที่ได้รับเป็นความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า และเป็นรางวัลที่ต้องมอบให้กับเพื่อนๆ ในเครือข่ายทุกคน หากไม่มีเครือข่ายก็ไม่มีเรามายืนตรงจุดนี้ ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด" คำนึงเปิดใจเมื่อถูกถามถึงรางวัลที่ได้รับ
เรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคำนึง เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 ก่อนหน้านี้เธอเปิดร้านขายอาหารบนถนนโรงอ่าง ในตัวเมืองปัตตานี แม้เธอจะไม่ใช่คนพื้นที่ เพราะพื้นเพมาจาก จ.นครศรีธรรมราช แต่เธอก็อยู่ปัตตานีกับสามีมาอย่างสงบสุขนานกว่า 30 ปี กระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้น และพบถุงพลาสติกซึ่งภายในบรรจุอุปกรณ์ประกอบระเบิดในถังสีหลังร้านของเธอ ทำให้สามีและลูกชายของเธอถูกจับกุมในข้อหาเป็นผู้ผลิตวัตถุระเบิด โชคยังเข้าข้างอยู่บ้างเมื่อต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องสามี และศาลยกฟ้องลูกชาย เพราะไม่พบลายนิ้วมือของคนในครอบครัวของเธอบนวัตถุพยาน
"ยังจำวันนั้นได้ดี วันที่ 19 มิ.ย.2550 ตอนนั้นประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง เราอยู่กันในบ้านทุกคน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารประมาณ 30 นายอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกมาปิดล้อมบ้าน เขาบอกว่าพบอุปกรณ์ประกอบระเบิดในถังสีที่อยู่หลังร้าน แล้วเอาตัวสามีกับลูกชายไปแถลงข่าวออกสื่อทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ว่าทั้งสองคนเป็นผู้ต้องหา"
"เราต้องหาเงินประกัน 5 แสนบาท เราก็ต้องไปหยิบยืมจากญาติพี่น้อง เดินเรื่องขอความเป็นธรรมจากทุกหน่วยงาน ยื่นคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว เพราะสามีเป็นโรคหอบ เขาอยู่ในเรือนจำ 2 เดือนก็ได้ประกันตัวออกมา 12 วัน แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง ส่วนลูกชายอยู่ในเรือนจำ 3 เดือน จึงได้ประกันตัวออกมา โดยใช้เงินประกันอีก 5 แสนบาทที่ยืมเขามาเช่นกัน รวมเป็น 1 ล้าน" คำนึงเล่าถึงเหตุการณ์วันชีวิตเปลี่ยน
เมื่อเหตุร้ายมาเยือน ลูกค้าที่เคยอุดหนุนก็เริ่มหดหาย ด้วยความหวาดระแวงจึงไม่กล้าเข้าร้าน เธอขายของไม่ได้ รายได้ลดฮวบจนเปิดร้านต่อไม่ได้อีก จากที่เคยมีรายได้หลักพันต่อวัน ก็ลดลงจนไม่ได้เลย การประกันตัวลูกชายออกมาสู้คดี ทำให้มีค่าใช้จ่ายก้อนโตตามมา เธอต้องจ่ายค่าทนายอีก 2 แสนบาทด้วยการกู้ยืมนอกระบบ แล้วเอาโฉนดที่ดินไปจำนองธนาคารเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด เหลือเงินไม่มากเป็นค่าเดินทางตามประเด็นไปขึ้นศาลที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา เพราะเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมสามีกับลูกชายย้ายไปทำงานที่นั่น
กระทั่งวันที่ 23 มิ.ย.2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์อ้างไม่สมเหตุผล หลังจากนั้นไม่นานคดีก็สิ้นสุด
"เจ้าหน้าที่เขาไม่ลงมาขึ้นศาลที่นี่ อ้างว่าผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาต เราก็ต้องขึ้นไป ค่าใช้จ่ายก็เยอะ แต่ต้องไปเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และทวงถามความยุติธรรมให้สามีและลูก ต้องปิดร้าน ขายบ้าน เอาบ้านจำนองธนาคารไว้ 4 แสนบาท พอไม่มีคนเข้าร้านก็ไม่มีรายได้ ผ่อนไม่ทัน ยอมขายบ้านไปถูกๆ เอาเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายต่างๆ มาซื้อที่ดินที่ หมู่ 2 บ้านปะกาฮะรัง (อ.เมืองปัตตานี) ที่มีน้ำท่วมตลอดเวลาฝนตกหนัก แต่ก็ยอมทนอยู่มาจนทุกวันนี้" คำนึงบอก
บ้านที่เธอและครอบครัวอาศัยอยู่ในปัจจุบันที่ปะกาฮะรัง เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซ้อน ท่วมทุกครั้งที่ฝนตกหนัก บ้านเธอจึงไม่พ้นจากความทุกข์นี้ บางครั้งน้ำท่วมสูงถึงหน้าอก เจ้าของที่ดินไว้วางใจโอนชื่อให้ก่อน แล้วเธอนำโฉนดไปจำนองธนาคาร เอาเงินมาจ่ายค่าบ้านจนหมด เธอจึงยังต้องผ่อนบ้านกับธนาคารต่ออีกเดือนละ 2 พันบาท
ชีวิตของคำนึงทุกวันนี้ เปลี่ยนจากแม่ค้าขายข้าวแกงไปทำการเกษตรแบบพอเพียง ด้วยการปลูกกล้วย ข้าวโพด เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา คำนึงวาดหวังอยากได้ที่ทำมาค้าขายในอาชีพที่ถนัดเช่นเดิม คือขายอาหาร แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก
"อัลลอฮ์ให้เราทุกอย่างในการทำมาหากิน แม้เป็นอาชีพที่ไม่ถนัด แต่ก็จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ตอนนี้เริ่มดีขึ้น สามีทำงานรับเหมาทำประปา ลูกชายคนโตทำงานและมีครอบครัว ส่วนลูกชายคนเล็กก็จบมัธยมปลายแล้ว"
"อยากให้คนทำผิดได้รับรู้ว่า การสูญเสียศักดิ์ศรีโดยไม่ได้ทำผิดมันเจ็บปวดแค่ไหน สายตาของสังคมตัดสินเราไปแล้วจากข่าวที่ได้รับ การสูญเสียโอกาสในการทำมาหากินและอีกหลายอย่างในชีวิต แม้จะเยียวยาอย่างไรก็ไม่เท่ากับทำความจริงให้ปรากฏ หาความเป็นธรรมมาพิสูจน์ให้ชัด เราถึงจะยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกับคนอื่นอีกครั้ง”
ปัจจุบัน คำนึงทำงานประสานกับหลายภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรงและคดีความมั่นคงให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
"เราต้องสู้ เรียกร้องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา การเป็นคนกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดคือสิ่งที่ทำอยู่ เพื่อเชื่อมความเข้าใจของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านให้ตรงกัน เราได้ส่งเสียงของผู้หญิงในพื้นที่ให้ดังสู่สังคม ให้ได้รับรู้โดยความนุ่มนวลว่ามีเรื่องจริงอีกมากในพื้นที่ที่อยากสื่อสารออกไป"
"เรื่องของสันติภาพเป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ เก่งคนเดียวไม่ได้ ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกองค์กรต้องมาช่วยกันผลักดัน เมื่อมีความขัดแย้งให้ถอยออกมาก่อน แล้วค่อยหาวิธีพูดคุย หากคุยไม่ได้ให้หาคนกลางมาช่วยเพื่อลดความขัดแย้ง ต้องมีความหวังว่าสันติภาพต้องเกิดในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ขอให้ใจของแต่ละคนลดทิฐิ ลดความโกรธแค้น ความเกลียดชัง เพื่อให้เกิดสันติภาพในใจ ในครอบครัว ลดความขัดแย้งในครอบครัว ให้ครอบครัวแข็งแรง สังคมก็จะแข็งแรงได้ เหมือนเราจะทำเรื่องยาเสพติด แต่ถ้าลูกหรือคนในครอบครัวเรายังติดยาแล้วใครจะเชื่อ จึงต้องทำให้ครอบครัวดีก่อนแล้วขยายไปยังส่วนอื่น"
ความจริงอันเจ็บปวดที่เธอและครอบครัวได้รับ โดยเฉพาะกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เธอเข้าใจผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จึงทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้น เพราะเชื่อมั่นว่าเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นอีกมากมายในดินแดนปลายด้ามขวาน...