อดีตรองปลัดคลังชี้ขอใช้งบกลาง จ่ายหนี้จำนำข้าวต้องเซ็นเอกสารก่อนเบิกเงินออก
อดีตรองปลัดคลังย้ำเบิกงบกลางไปใช้หนี้จำนำข้าวต้องชี้แจงและเซ็นเอกสาร ย้ำดุลพินิจอยู่ที่นายกฯ มอบใครดูแลแทน ระบุศาลรธน.ตีตกพ.ร.บ. กู้ 2 ล้านล้านไม่ใช่เหตุเอามาอ้างประเทศเดินถอยหลัง
หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติให้รัฐบาลใช้งบกลาง 20,000 หมื่นล้านบาทมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาในวันที่ 4 มีนาคม 2557 กว่า1สัปดาห์ที่ผ่านมาการเซ็นเบิกเงินยืมทดลองราชการในครั้งนี้ยังไม่มีทีท่าว่าใครจะเป็นผู้ลงนามเพื่อนำเงินออกมาจ่ายให้กับชาวนา ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ ต่างก็อ้างว่าไม่เกี่ยวข้อง
ล่าสุดนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า การนำงบกลาง 2 หมื่นล้านบาทมาจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนาไม่จำเป็นต้องรอกรมฯ มาเซ็นเอกสารเพื่อนำเงินออกมาจากกระทรวงการคลัง เพราะเป็นช่องทางการยืมเงินปกติ ไม่ใช่กู้เงินซึ่งกระทรวงการคลังสามารถนำงบก้อนนี้โอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และนำไปเบิกจ่ายให้กับชาวนาได้ทันที เพียงแต่ต้องรอหนังสือต้นเรื่องมาจากคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ประเด็นที่สังคมยังสงสัย คือ การนำงบกลางมาใช้นั้นไม่จำเป็นต้องเซ็นเอกสารจริงหรือไม่
นายสมหมาย ภาษี อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีดังกล่าวว่า เงินที่เป็นงบกลางนั้นเป็นงบที่กระทรวงต่างๆ สามารถขอไปใช้ได้หากมีเหตุจำเป็น แม้กระทรวงคลังเดือนร้อนก็สามารถของบกลางนี้ไปใช้ได้ เนื่องจากงบกลางคืองบที่ตั้งไว้เพื่อเหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง หากกระทรวงไหนประสงค์จะใช้ก็มาทำการชี้แจ้งและเบิกงบไป โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะมอบหมายให้รัฐมนตรีหรือสำนักนายกดูแลหรืออนุมัติแทนก็ได้
อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลรักษาการณ์จึงไม่มีอำนาจและต้องทำเรื่องขอใช้ผ่านไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อกกต.อนุมัติงบดังกล่าวแล้ว การจะเบิกใช้อย่างไรก็ต้องมีการเซ็นเอกสารเพราะจ่ายก็ต้องดูใครรับผิดชอบ
"ปกติผู้รับผิดชอบคือนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง ส่วนที่ข้าราชการหรือหน่วยงานไม่กล้าเซ็น เพราะเขากลัวว่าจะมีความผิดในภายหลัง ซึ่งจริงๆแล้วประเด็นเรื่องงบกลางเป็นไปตามกฎหมายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ผิดอะไรอยู่แล้ว จะเบิกจ่ายอย่างไรก็ต้องเซ็น นายกรัฐมนตรีอาจจะมอบให้ใครดูแลหรือเซ็นแทนก็ได้ซึ่งเป็นเรื่องภายใน”
ส่วนเรื่องกรณีศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาตีตกพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการทำให้การพัฒนาประเทศชะงักหรือไม่เดินหน้า อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง มองว่า จะมีเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ประเทศก็พัฒนาไปได้ไม่เท่าไร เพราะเงินอาจจะสูญหายไปในเรื่องกระบวนการที่มิชอบได้ ทั้งนี้จากการประท้วงก็ทำให้การพัฒนาประเทศชะงักอยู่แล้ว เพราะเรามีรัฐบาลที่อ่อนแอ ดังนั้นต้องหารัฐบาลที่มีความเข้มแข็งเข้ามา "แก้มือ" ให้เขาได้ทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเชื่อว่า อาจจะทำให้เราพัฒนาประเทศได้มากกว่า ปล่อยให้พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทเกิดขึ้น และอาจจะตกอยู่ในภาวะที่จะเกิดเรื่องมิชอบเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นจะเอาเรื่องนี้มาอ้างว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศไม่พัฒนาไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อดีตปลัดพาณิชย์ เชื่อรบ.คืนเงินไม่ทัน 31 พ.ค. ชี้ใช้เวลานานกว่าจ่ายหนี้ชาวนาครบ
กกต.ไฟเขียว ให้งบกลาง 20,000 ล้าน ชำระหนี้ชาวนา