10 ปีทนายสมชาย...ยูเอ็นจี้ไทยเร่งสางคดี
คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ออกแถลงการณ์จี้รัฐบาลไทยเร่งสางคดี "ทนายสมชาย" หลังผ่านมา 10 ปียังหาตัวคนผิดไม่ได้ หวั่นเจ้าหน้าที่ยุติสอบสวน ย้ำไม่ใช่แค่เยียวยาแล้วจบ นักกฎหมายย้อนอดีตเมืองไทย "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" เพียบในเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ด้านคณะทำงานนักนิติศาสตร์สากลจี้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการอุ้ม "อังคณา" ลุ้นศาลฎีกาไขความจริงให้ปรากฏ
คณะทำงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ในวาระ 10 ปีการถูกบังคับให้สูญหายของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เมื่อวันพุธที่ 12 มี.ค.57 ใช้หัวข้อว่า "10 ปีหลังจากการหายตัวไปของทนายสมชาย ครอบครัวของเขายังคงรอคอยความจริงและความยุติธรรม" โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งทำความจริงให้ปรากฏ พร้อมเร่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ได้โดยยึดมั่นกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม และรายงานผลความคืบหน้าให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ
ทั้งนี้ คณะทำงานฯยังแสดงความกังวลต่อการสืบสวนสอบสวนคดีที่ไม่คืบหน้า และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอาจยุติการสอบสวน นอกจากนั้นการที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียหาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการปลดเปลื้องภาระหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิ่มความพยายามและไม่ปล่อยให้เกิดการลอยนวลของผู้กระทำผิด
แฉ"อุ้มหาย"อื้อปมขัดแย้งการเมือง
วันเดียวกัน คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (จีพีเอฟ) ร่วมจัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "10 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายโดยถูกบังคับ" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมเสวนาหัวข้อ "ประเทศไทยกับการเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย" ว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายเทียบเท่ากับการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการรู้เห็นเป็นใจของรัฐ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและเทียบเท่าการก่ออาชญากรรม
ทั้งนี้ การบังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและอย่างหนักทั่วโลก จนทำให้เกิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย แต่ในประเทศไทยได้ตระหนักในประเด็นดังกล่าวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 9 ม.ค.55 รัฐบาลไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญาฯ
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยเอง ทุกครั้งที่มีความขัดแย้งการเมือง ก็จะเกิดการบังคับให้สูญหายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดือนตุลาฯ 2516 และ 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 35 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 53 การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในปี 56-57 และไม่ว่าจะในรัฐบาลของทหารหรือพลเรือน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ก็มีการละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนไม่แพ้กัน เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ยังขาดสำนึกในหลักสิทธิมนุษยชน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล พบการทุจริตและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง
จี้ออกกฎหมายเฉพาะ-อย่าแค่แก้ของเก่า
นายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐโดยรัฐหรือพนักงานของรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือเพื่อความมั่นคง จำเป็นต้องใช้วิธีการและวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะถ้าใช้วิธีที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น การอุ้มหาย ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง
ส่วนการอนุวัตกฎหมายในประเทศเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายนั้น ทราบว่ารัฐบาลเตรียมดำเนินการด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะควรยกร่างกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะมากกว่า เนื่องจากมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น การลงโทษเจ้าพนักงานของบรัฐที่ละเมิดอนุสัญญาฯฯ การเยียวยา และการคุ้มครองผู้เสียหายหรือครอบครัวผู้เสียหาย
"ไอซีเจ"ซัดไทยล้มเหลวหาตัวคนผิด
ในงานเดียวกัน ไอซีเจ และจีพีเอฟ ยังได้ร่วมกันเปิดตัวรายงานที่ชื่อ "10 ปีอันไร้ซึ่งความจริง : สมชาย นีละไพจิตร และการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย" โดยนายแซม ซาริฟี ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ไอซีเจ กล่าวว่า การดำเนินการทางกฎหมายในคดีทนายสมชายที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี ถือเป็นความบกพร่องในการติดตามและแสวงหาเบาะแสของคดี ทั้งยังพบความผิดปกติหลายประเด็น อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับว่านายสมชายได้เสียชีวิตแล้ว แต่ศาลปฏิเสธไม่รับฟังข้อมูล, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่าแฟ้มรายงานการสอบสวนคดีทนายสมชายหายไป แต่ภายหลังอ้างว่าพบแฟ้มคดี เป็นต้น
ทั้งนี้ การบังคับให้บุคคลสูญหายกรณีทนายสมชาย และความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ถึงปัญหาในการอำนวยความยุติธรรมเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในประเทศไทย และการบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย แต่รัฐบาลยังไม่ให้สัตยาบัน โดยระหว่างที่รอการให้สัตยาบันนั้น รัฐบาลไทยต้องงดเว้นการกระทำที่เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ ที่กำหนดให้รัฐภาคีกำหนดให้การสูญหายนั้นเป็นฐานความผิดอาญา และต้องปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในฐานะเหยื่อ
"ที่ผ่านมาแม้จะมีการจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัว และยอมรับว่าคุณสมชายเป็นบุคคลสาบสูญ แต่กรณีที่รัฐบาลไทยไม่สามารถคลี่คลายการบังคับให้สูญหายของคุณสมชายได้ ถือเป็นการขัดต่อประกาศเจตจำนงและคำมั่นที่รัฐเคยให้ไว้หลายครั้งว่าจะทำความจริงให้ปรากฏ และขัดต่อเจตจำนงที่รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือน มี.ค.51 ด้วย" นายซารีฟี กล่าว
เสนอ4ข้อเรียกร้อง-อังคณาลุ้นศาลฎีกา
สำหรับรายงานที่ไอซีเจ ได้จัดทำขึ้น ระบุถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้เร่งดำเนินการดังนี้ 1.ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย 2.ออกกฎหมายให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นฐานความผิดอาญา และกำหนดโทษที่สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำผิด
3.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ และพันธกรณีของรัฐ พร้อมกำหนดให้มีการเยียวยาและการชดเชยที่มีประสิทธิผลตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่ไร้มนุษยธรรม
และ 4.ให้นางอังคณาและครอบครัวเข้าถึงการเยียวยาและได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงของเหตุที่ทำให้เกิดการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนการคืบหน้าการสอบสวนของดีเอสไอ
ด้าน นางอังคณา กล่าวว่า ขณะนี้คดีทนายสมชายถูกนำขึ้นสู่ศาลฎีกา เชื่อว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาจะเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวขอเรียกร้องสังคมไทยว่าอย่าละทิ้งประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดความเป็นมนุษย์ อย่าเพิกเฉยต่อการละเมิดหลักนิติธรรม เพราะอาจกลายเป็นผลกระทบต่อกระบวนการประชาธิปไตยของไทยได้
แอมเนสตี้ชี้ชัดรัฐเอี่ยว"อุ้มสมชาย"
วันเดียวกัน องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยค้นหาว่าทนายสมชายอยู่ที่ใด และมีชะตากรรมอย่างไร พร้อมให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งให้ทางการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายโดยทันที
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่าการหายตัวไปของทนายสมชาย ถือได้ว่าเป็น "การบังคับบุคคลให้สูญหาย" ซึ่งเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่กระทำตามคำสั่ง หรือได้รับความสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ
อนึ่ง เมื่อเดือน เม.ย.47 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกจับกุมฐานเป็นผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย แต่เนื่องจากกฎหมายไทยไม่มีฐานความผิดกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย จึงไม่มีการตั้งข้อหาดังกล่าว และเนื่องจากไม่สามารถหาศพของทนายสมชาย จึงทำให้ไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อตำรวจได้ คงตั้งข้อหาเพียงปล้นทรัพย์และการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
เดือน ม.ค.49 เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งใน 5 นาย คือ พ.ต.ต.เงิน ทองสุข ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี ส่วนตำรวจอีก 4 นาย ศาลยกฟ้อง และสามารถกลับไปรับราชการตำรวจได้โดยไม่ถูกลงโทษ
ต่อมา วันที่ 11 มี.ค.54 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีประเด็นสงสัยว่าพยานจำหน้าจำเลยได้จริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โดย พ.ต.ต.เงิน นั้นหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาจากอุบัติเหตุโคลนถล่มที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตั้งแต่เมื่อกลางเดือน ก.ย.51 ท่ามกลางความกังขาของผู้เสียหายในคดี เพราะไม่มีใครพบศพ ปัจจุบันคดีอยู่ในศาลฎีกา
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศงานเวทีเสวนาสาธารณะ "10 ปีทนายสมชาย นีละไพจิตร สูญหายโดยถูกบังคับ" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณ :
1 ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น
2 เนื้อหาข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น