วงเสวนา กปปส.ชี้แก้คอร์รัปชั่นอย่าแค่วิ่งไล่จับคนทำผิด ต้องทำลายโครงสร้างทุจริตด้วย
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ย้ำตัวการสำคัญของปัญหาคอร์รัปชั่น คือ นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ ด้านอดีตเลขาธิการป.ป.ท.ชี้ถ้ามัวแต่ไล่จบคนทุจริตแต่ไม่คิดหาวิธีทำลายโครงสร้างก็แพ้เหมือนเดิม นักวิชาการเห็นพ้องผู้นำประเทศต้องเอาจริง
12 มีนาคม 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จัดเวทีระดมความเห็นมวลมหาประชาชนเดินหน้าเปลี่ยนประเทศ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ”ปฏิรูประบบตรวจสอบ ปลุกสำนึกคนไทย ขจัดภัยคอร์รัปชัน” ณ ศูนย์เยาวชนลุมพินี กรุงเทพมหานคร
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงปัญหาการทุจริตพัฒนามาจากการฉ้อราษฏร์บังหลวง การฉ้อราษฏร์คือการรีดไถ่ขมขู่ ส่วนบังหลวงคือการหาค่าคอมมิชชั่น และสิ่งเหล่านี้พัฒนามาสู่การทุจริตในระดับนโยบาย ตัวละครเดิมที่มีเพียงเจ้าหน้าที่กับบุคคลที่ถูกรีดไถ่ วันนี้กลายมาเป็นตัวละคร 3 ตัวสำคัญของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน คือ 1.นัการการเมือง 2.ข้าราชการ 3.พ่อค้าหรือนักธุรกิจ หากตัวละคร3 ตัวนี้ไม่ร่วมมือกัน คอร์รัปชันนโยบายเกิดขึ้นได้ยาก
“และที่สำคัญคือสังคมของเราอยู่ภายใต้โครงสร้างอุปถัมภ์ มีการร้องขอให้ช่วยทำให้เพื่อขอเป็นหนี้บุญคุณแล้วคนไทยมักมองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของน้ำใจ ดังนั้นต้องแยกได้ว่าน้ำใจกับบุญคุณที่มีควรอยู่แค่ไหน”
ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเรื่องของการทุจริตนั้นสิ่งสำคัญคือการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ คือเราต้องมีความรู้พอที่จะจับได้ว่านโยบายอะไรมีความแปลกจะส่อไปในทางทุจริต ประการที่สองต้องมีคนและระบบตรวจสอบ มีการลงโทษจริงจังรวดเร็วและหนัก ประเด็นสุดท้ายคือการบิดเบือน บิดเบือนนโยบายซึ่งการบิดเบือนนี้ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา สูญเสียศักยภาพในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
ด้านดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองคณบดีคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากพูดเรื่องคอร์รัปชันต้องดูเรื่องข้อมูลและมุมมองจากต่างประเทศในเรื่องดัชนีชี้วัดเพราะเปรียบเสมือนกระจกส่องประเทศได้บานหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องปัญหาการทุจริตในหน่วยงานและเป็นหน่วยงานที่มีโอกาสทุจริตมากที่สุดในประเทศคือพรรคการเมือง ยุทธศาสตร์ในเรื่องการแก้ปัญหาเราเน้นเรื่องปราบปรามมากเกินไป คนที่ทำงานปราบปรามได้ดิบได้ดี แต่คนทำงานป้องกันไม่ก้าวหน้า
"เรามีกฎหมาย มีองค์กรปรามปรามและป้องกัน แต่ทำไมการทุจริตจึงยังสูงขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพจะต้องเติมเสริมเข้าไป และต้องมองมุมใหม่ ต้องมององค์กรอื่นเพิ่มเติมในการเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบและต้องมีพลังมากกว่าทำงานแบบแอคทีฟ ไม่ทำงานแบบวันเดย์บายเดย์"
ขณะที่นายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในเรื่องการทุจริตนั้นวันนี้เราต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ คือ อย่ามองแค่ว่า การแก้ปัญหาทุจริตจะต้องวิ่งไปเอาคนทุจริตมาลงโทษเพียงอย่างเดียวถ้าคิดแบบนี้แพ้เลย เราต้องคิดใหม่ว่าวันนี้เราจะทำลายระบอบโครงสร้างของการทุจริตได้อย่างไร
1.ต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเพื่อกระจายงบประมาณจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นบริหารลดการใช้อำนาจจากส่วนกลาง
2.ปรับเปลี่ยนแนวคิดของประชาชน
3.เน้นการตรวจสอบโดยภาคประชาชนให้มากขึ้น
4. สร้างมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เช่นให้ข้าราชการนักการเมืองแจ้งบัญชีทรัพย์สินตรวจสอบภาษีย้อนหลัง หรือในคดีการทุจริตที่มีความรุนแรงให้ศาลพิจารณาต่อเนื่องและมีกำหนดเวลาสอบสวนอย่างชัดเจน ให้อำนาจสืบสวนด้วยวิธีพิเศษเช่นการดักฟังโทรศัพท์เป็นต้น
ส่วนรศ.ดร.ต่อกระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมย์ (วสท.) กล่าวถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาทุจริตว่า รัฐต้องสนับสนุนและเพิ่มบทบาทภาคประชาชนและธุระกิจให้มีมากขึ้น ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจแต่ละหน่วยลงต้องร่วมใจกันคิดสร้างมาตรการ ปฏิรูปตนเองให้สามารถป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันในแต่ละหน่วยของตน และที่สำคัญคือผู้นำทางการเมืองในอนาคตต้องเป็นผู้นำคนสำคัญในการปราบปรามคอร์รัปชันให้เกิดผลสำเร็จ คือต้องสามารถจัดการได้ทั้งคนของฝ่ายตนเองและบุคคลอื่น
นอกจากนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เอกสารผลงานวิจัยที่นักวิชาการส่งไปให้ไม่เคยได้รับความสนใจจากนักการเมือง
"ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เอกสารผลงานวิจัยที่นักวิชาการส่งไปให้ไม่เคยได้รับความสนใจจากนักการเมือง ดังนั้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มี 5 แนวทาง 23 ข้อ ที่เป็นการเสนอเมนูที่สามารถเลือกนำปฏิบัติได้เลย
สำหรับข้อเสนอ 5 แนวทางในการกำจัดปัญหาทุจริตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ได้แก่ 1.เราต้องพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 2.สร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั้งในด้านงบประมาณและบุคคลากร 3.สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่นเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ 4.ผลักดันมาตรการเรื่องความโปร่งใสที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Global Anti-Corruption Program ของ UNODC และ 5.รณรงค์เรื่องคุณธรรมจริยธรรม
ด้านนพ.พลเดช ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ปัญหาในการจัดการเรื่องคอร์รัปชั่น ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน เห็นว่า ควรเร่งดำเนินการในทันที 5 ข้อ คือ
1.สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐแบบยกแผง ใช้การตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับกลุ่มนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้ประชาชนทราบ ดำเนินการลงโทษคดีทุจริต 10 คดีตัวอย่าง และต้องจัดให้มีพระราชบัญญัติข้อตกลงคุณธรรม
2.สิ่งที่สภานิติบัญญัติควรทำ เช่นเรื่องพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนป้องกันทุจริต พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ร.บ.องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค หรือการกำหนดเวลาในการจัดการคดีที่คั่งค้าง
3.สิ่งที่ป.ป.ช.ควรทำ คือจัดการคดีพอกหางหมูให้แล้วเสร็จ มีระเบียบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและการให้สินบนนำจับ
4.สิ่งที่ก.ก.ต.ควรทำคือ แก้ไขพ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยไม่บังคับให้ส.ส.สังกัดพรรค ดุลพินิจการโหวตของส.ส.ตามมติพรรค ความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ปัญหาเรื่องนายทุนเจ้าของพรรค เป็นต้น
และสุดท้ายสิ่งที่ภาคประชาชนควรทำ คือการขยายพลังต่อยอดมวลมหาประชาชนและคว่ำบาตรทางสังคมกับการทุจริตคอร์รัปชัน