เปิดแนวคิดปฏิรูปเวทีกปปส.นักวิชาการVSประชาชนเหมือนหรือแตกต่าง?
เมื่อวันที่10 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.) จัดเวทีขึ้นครั้งแรก ระดมความเห็นในประเด็น “แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง” ซึ่งเป็น 1 ใน 6 หัวข้อที่ถูกหยิบยกเอามาพูดคุยในเวทีครั้งนี้ ซึ่งเป้าหมายที่ กปปส.ตั้งไว้ คือ ไม่อยากให้เป็นเพียงการเริ่มนับหนึ่งที่ล้มครั้งแล้วครั้งเล่าแบบที่ผ่านๆ มา
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการเครือข่ายรับใช้การปฏิรูป เริ่มต้นวงเสวนาด้วยการฉายภาพกรอบแนวคิดของการปฏิรูปว่า ในการขับเคลื่อนปฏิรูปในวันนี้เพื่อให้สังคมคนไทยอยู่เย็นเป็นสุขด้วยกัน โดยทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึง 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่ ดังนี้
1.สังคมไม่ทอดทิ้งกัน 2.สังคมเข้มแข็ง คือเราจะให้คนที่อ่อนแอนกลับมาเข้มแข็งได้อย่างไร และ 3. คือสังคมคุณธรรม
"นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่เราจะต้องใช้เป็นกรอบความคิดว่าจะช่วยกันต่อจิ๊กซออย่างไรเพื่อไม่ให้เป้าหมายของเราตกหล่น และถ้าเราจะแก้ไขเรื่องยากจนกับความไม่เท่าเทียมกัน เราต้องแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มคนยากจน คือคนที่เป็นเกษตรกร กลุ่มแรงงานเป็นหลัก 2.กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เร่ร่อน ไร้บ้าน ติดยา ติดคุก คนที่ไร้สัญชาติ คนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆของรัฐ และ3. กลุ่มบอบบาง คือกลุ่มเด็กที่เป็นอนาคตของประเทศ หรือแม้กระทั้งกลุ่ม ผู้สูงอายุ ผู้พิการ"
ดังนั้นนโยบายในการปฏิรูปที่เราจะต้องพูดถึง ต้องไม่ลืมคนทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นนี้
“ถ้าเราจะมุ่งไปสู่สังคมเข้มแข็ง เราต้องมองจากฐานไปสู่ยอดและทุกส่วนจะต้องมีความเข้มแข็งเท่ากันหมด สำหรับฐานนั้นคือชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ ฐานในระดับกลางก็คือระบบกลไกหน่วยงานต่างๆ สุดท้ายคือยอดเพราะเจเดีย์คือ คุณภาพคุณธรรมศีลธรรม ซึ่งจะเป็นกรอบแนวคิดที่เราต้องตรวจสอบและช่วยกันเติมเต็มสิ่งต่างๆเข้าไป”
สำหรับการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเลื่อมล้ำนั้น "ประยงค์ ดอกลำไย" รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ดิน โดยชี้ให้เห็นว่า ทำไมถึงต้องมีการปฏิรูปที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน
"เนื่องจากที่ดินและทรัพยาการถูกครอบครองจากคนกลุ่มหนึ่งของประเทศ และหากที่ดินถูกครอบครองโดยคนไม่กี่คน ที่ดินก็จะเกิดการกระจุกตัวและทำให้กลุ่มเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึงที่ดิน
จากข้อมูลแล้วประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชน เพราะมีที่ดินในประเทศที่ประชาชนครอบครองถึง 130 ล้านไร่ แต่ผลการศึกษาล่าสุดในปี 2555 พบว่า โฉนดที่ดิน 20 ล้านฉบับมีบุคคล 5 ลำดับที่ถือโฉนดมากที่สุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลข้อเท็จจจริงทั้งหมด และคนที่มีเยอะมากสุดรายแรกของประเทศคือครองอยู่ 6.3 แสนไร่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ทั้งนี้เรื่องของที่ดิน โฉนด บัญชีทรัพย์สินเป็นสิ่งที่ต้องแสดงสถานะเพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจในอำนาจของการปฏิรูป
รองผอ.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ดินยังปรากฎชัดเจนว่า เมื่อนำที่ดินของส.ส.ในสภาฯ ทั้งหมดมารวมกัน พบว่า "พรรคประชาธิปัตย์มีที่ดินรวมกันเยอะกว่าพรรคเพื่อไทย" ขณะที่เฉลี่ยมูลค่าทั้งสภาอันดับหนึ่งก็ยังเป็นของพรรคประชาธิปัตย์
แต่หากมองในแง่ของมูลค่าที่ดินพรรคเพื่อไทยจะมีมูลค่าที่ดินเยอะกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าที่ดินยังมีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มการเมือง
นายประยงค์ ยังอธิบายผลการศึกษาในเรื่องที่ดินว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีที่ดินเอกสิทธิ์ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ถึง 30 ล้านไร่ ซึ่งเป็นการทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นยกตัวอย่างในการปฏิรูปอย่างง่ายเพียงนำที่ดินเอกสิทธิ์ครึ่งหนึ่งที่ถูกปล่อยทิ้งร้างในแต่ละปีมาให้เกษตรกรจะสามารถสร้างผลผลิตและรายได้เป็นมูลค่า127,000 ล้านบาท
อีกทั้งปัญหาสำคัญคนที่มีที่ดินน้อยสุดและคนที่มีที่ดินมากสุด มีการถือครองต่างกัน 325 เท่า ส่งผลให้เกิดปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน ราคาที่ดินแพง การกระจุกตัวของที่ดินส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มไปบุกรกที่ดินของรัฐมากขึ้น และ 1 ใน 4 อยู่ในที่ดินที่ผิดกฎหมาย
“ทางออกของปัญหาที่กล่วมาทั้งหมด "หัวใจ" จึงอยู่ที่การปฏิรูปที่ดิน ต้องมีการกระจายที่ดินที่เป็นธรรมใช้มาตรการมีเยอะจ่ายเยอะ มีเยอะแต่ไม่ใช่ประโยชน์เก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุกๆ 3 ปี ออกพ.ร.บ.ภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เมื่อเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าแล้วให้นำภาษีที่ดินมาตั้งเป็นธนาคารที่ดินเพื่อเป็นกลไกให้ชนชั้นกลางและกลุ่มเกษตรกรได้เข้าถึง คล้ายๆกับการตั้งกองทุนสสส. และสุดท้ายคือการให้มาตรการว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ได้ โดยอาจจะออกเป็นพระราชบัญญัติป้องกันไม่ให้มีการขายเพื่อไม่ให้คนรวยมาหว่านซื้อที่ดินอีก นี่คือทางออกที่จะต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม”
ด้านนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาปฎิรูป กล่าวถึงกองทุนยุติธรรมในประเทศไทยว่า เรามีระเบียบกระทรวงการคลังโดยมีเงินให้กองทุนยุติธรรมปีละ 25 ล้านบาทที่จะช่วยเหลือคนยากคนจนที่ไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีค่าธรรมเนียมศาล และต้องเข้าคุกในข้อหาบุกรุกที่ดินทำกิน เนื่องจากที่ดินจำนวนมากไปอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย
"สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเหลื่อมล้ำให้คนในประเทศ สมัชชาปฏิรูปดำเนินการเรื่องนี้มา 3 ปี แต่คนในประเทศไม่เคยรู้เลย ซึ่งในปีหนึ่งๆ กองทุนยุติธรรมช่วยเหลือคนโดนจับได้น้อยมาก แม้เราจะมีพระราชบัญญัติกองทุนทดแทนค่าเสียหายปีหนึ่งใช้เงิน 200-300 ล้านบาท แต่ก็ยังช่วยได้ไม่ถึง30% แล้วจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้ลดลง
ในต่างประเทศคนยากคนจนที่โดนจับ หากเป็นคนดีประพฤติดีเขาให้ประกันตัวเลยไม่ต้องใช้เงินในการประกัน แต่ประเทศไทยใช้เงินเป็นตัวชี้วัดในทุกเรื่อง ดังนั้นประเด็นตอนนี้คือจะหาวิธีให้กองทุนนี้ไปเยียวยาช่วยเหลือได้อย่างไร"
นพ.ชูชัย ได้ยกตัวอย่างในประเทศแถบยุโรปที่ให้คนในประเทศเข้ามาช่วยเหลือคนยากจนที่ไม่มีเงินประกัน โดยเขาจะให้คนที่มีกำลังในการชำระเงินมาทำสัญญา สัญญาละ 3 ยูโรหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 130 บาทแล้วเอามาช่วยเหลือคนที่ไม่มีเงินประกันตัวออกไป ทั้งนี้ผลการศึกษาในประเทศก็พบว่า หากเราจะทำลักษณะคล้ายๆกับประเทศในโซนยุโรปนั้น อาจจะนำเอาเงินในส่วนของกรมธรรม์ต่างๆมาใช้ เนื่องจากกรมธรรม์ทั้งหมดในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ 53 ล้านกรมธรรม์ หากเรานำเงินจากกรมธรรม์ 53 ล้านกรมธรรม์นี้มากรมละ 50 บาทต่อปี เราจะมีเงิน 2,500-2,700 ล้านบาทต่อปี มาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่ไม่มีเงินประกันตัวจากการจับกุม
ที่ผ่านมาเราเห็นน้ำใจคนไทยในหลายๆเรื่อง ดังนั้นโครงการต่างๆจะประสบความสำเร็จได้ด้วยการผนึกกำลังของคนทั้งประเทศ
ขณะที่นางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้ความสำคัญกับ "การปฏิรูประบบประกันสังคม" ภายใต้หลักการต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ มีหลักประกันทางสังคม มีความชอบธรรมเข้าสู่ระบบประกันอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่รัฐบาลต้องคุ้มครองตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานไทย คือกฎหมายประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้ารับการรักษาพยาบาล จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ และควรให้กฎหมายประกันสุขภาพมีความเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆด้วย เช่น กฎหมายแรงงาน อีกทั้งไม่ควรกำหนดเงื่อนไขของจำนวนวันและโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนจะเข้ารับการรักษา
“เรื่องสำคัญที่ต้องปฏิรูปเรื่องระบบประกันสังคม คือ ต้องเป็นองค์กรอิสระที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้จากพี่น้องที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องมีมืออาชีพมาบริหารจัดการกองทุนสิทธิให้กับผู้ประกันตน องค์กรอิสระนี้ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ในเรื่องโครงสร้างต้องการให้โปร่งใส และมีความชัดเจน โดยต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมบริหาร"
ส่วนนางสุวัฒนา ศรีภิรมย์ กรรมการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การเรียกร้องความไม่เหลื่อมล้ำ สร้างสังคมอย่างไรให้เข้มแข็ง สิ่งสำคัญอยู่ที่การจัดการบริหารให้กลุ่มแรงงานมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งกองทุนการออมจะเป็นเครื่องมือในการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งได้อย่างชัดเจน แต่เครื่องมือนี้กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่มีอำนาจหน้าที่ไม่ยอมลงนามในกฎกระทรวงทั้ง 8 ฉบับ ทั้งๆที่ผ่านเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติเรียบร้อยแล้ว
นี่ถือเป็นการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ กองทุนการออมแห่งชาติคือกองทุนสำหรับภาคประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในแรงงานนอกระบบ ไม่ได้อยู่ในกองทุน และนี่เป็นกองทุนที่รัฐบาลจะได้ทำหน้าที่ในการเก็บออมและดูแลแทนนายจ้าง
“ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องว่าการออมต้องทำให้มีการดำเนินการโดยเร็ว เพราะกองทุนนี้มีความพร้อมที่จะเปิดมีพระราชบัญญัติกองทุนการออมชัดเจน มีโครงสร้างชัดเจน มีการกำหนดเงินงบประมาณไว้แล้วตามกฎหมาย หากเปิดกองทุนแล้วกองทุนนี้จะสามารถดำเนินการได้ในตัวของมันเอง”
นอกจากนี้นายวันชัย บุญประภา เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูปนั้นตนอยากให้มีการปฏิรูปของสลาก เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าเงินจากกองสลากเข้าไปสู่ระบบงบประมาณจำนวน1.4หมื่นพันล้านบาท ซึ่งเราไม่รู้ว่าเงินจำนวนนี้พอเข้างบประมาณแล้วเอาไปใช้จ่ายอะไร
หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย พบว่า เงินจากสลากเขาไม่ได้เข้างบประมาณ เพราะไม่ใช่ภาษีประเทศปกติ แต่เขาเอามาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดังนั้นการปฏิรูปวงการสลากเราต้องนำเงินไปสู่กระบวนการโดยแบ่งเป็น 3 ก้อน ดังนี้
- ก้อนแรกใช้เพื่อกองทุนตามกฎหมาย เช่นวัฒนธรรม กีฬา 30%
- ก้อน2 กระทรวงพัฒนาความมั่นคง เกี่ยวกับเด็ก ผู้สูงอายุ 35%
และก้อน 3 จัดต้องกองทุนส่งเสริมภาคประชาสังคม 35%
ทั้งนี้ ในเวทีระดมความเห็นที่เกิดขึ้น นอกจากกลุ่มตัวแทนจากภาคนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในด้านต่างๆได้มาแสดงความเห็นและแนวทางการปฏิรูปในเบื้องต้นแล้ว ทั้งภายในและภายนอกห้องประชุมยังรายล้อมไปด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเวทีกันอย่างต่อเนื่อง
พันตรีดำรงค์ สินประเสริฐ ทหารนอกราชการ ที่มาร่วมฟังในเวทีปฏิรูปครั้งนี้ของกปปส. มีมุมมองที่แตกต่าง อยากเห็นการปฏิรูปเรื่องพลังงานและที่ดิน ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องนำเข้าไปในเวทีการปฏิรูป เพราะยังมีผลประโยชน์ในเรื่องของกลุ่มทุน
"แม้จะปฏิรูปเรื่องอื่นได้เสร็จสิ้น หากไม่เข้าไปปฏิรูปพลังงานก็ยังคงถือว่า ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงอยากให้กปปส.นำเรื่องปฏิรูปพลังงานงานเข้าไปวางแผนการปฏิรูปในทันที โดยเชื่อว่าการปฏิรูปสามารถทำพร้อมกันไปได้ในหลายๆเรื่องๆ ในขณะที่รอพิจารณาเรื่องอื่นๆก็สามารถหยิบยกเรื่องต่อๆไปมาหารือได้เลยโดยที่ไม่ต้องรอผลในเรื่องแรกๆที่ได้พูดไปแล้ว และมั่นใจว่าเวลาในการปฏิรูปจะไม่เกินเวลาตามที่กปปส.ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น"
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายเกรงว่ าถ้ายิ่งปฏิรูปหลายเรื่องพร้อมกันจะทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลที่เข้ามาใช้เวลานานเกินไปนั้น พันตรีดำรงค์ กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดก็ยืดเยื้อมานานแล้ว หากคิดจะเดินปฏิรูปประเทศถึงเสียเวลาก็ต้องทำ ถ้าคิดจะปฏิรูปทั้งทีต้องทำให้ดีไปเลย
“ยืนยันตรงนี้ว่า การที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน เราไม่ได้หมายถึงว่าต้องไปยึดปตท. เพียงแต่เราต้องการให้การบริหารของปตท.มีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศอย่างเป็นธรรมเท่านั้น แล้วรัฐบาลที่มาทำหน้าที่เราไม่ขอเรียกว่ารัฐบาลเฉพาะกิจ แต่คือรัฐบาลที่จะมาทำหน้าที่แก้วิกฤติให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปประเทศเพียง 6 เรื่องยังไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มการปฏิรูปพลังงานที่เป็นหัวใจสำคัญเข้าไปด้วย”
อีกความเห็นหนึ่งของคุณลุงที่เข้าร่วมกับเวทีกปปส.มาตั้งแต่ที่แรก เห็นว่า หัวข้อการปฏิรูปที่ดินจะต้องมีการปฏิรูปไปพร้อมๆ กับเรื่องอื่นๆ เพราะที่ดินคือหัวใจของปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความยากจน
"วันนี้หลายคนไม่มีที่ดินทำกิน สำหรับผมแล้ว อยากให้มีการเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า ใครมีที่เยอะก็ต้องจ่ายภาษีเยอะ แล้วภาษีก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งคนที่เอาที่ดินไปถือครองไว้แล้วไม่ทำประโยชน์ยิ่งต้องเก็บแพง"
ทั้งนี้เขาอยากเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนตื่นตัวและออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกฎหมายต่างๆโดยภาคประชาชนโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน หากการปฏิรูปที่ดินไม่เกิดขึ้นถือว่า การเรียกร้องครั้งนี้ยังไม่สำเร็จและอาจจะต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ
“เรื่องที่ดินอาจจะฝากความหวังไว้กับนักการเมืองได้ยาก ถ้าสู้มานานขนาดนี้ยังไม่เกิดขึ้นผมจะไม่กลับบ้านจะสู้จนกว่าจะสำเร็จ ถ้าวันนี้ยื่นเสนอกฎหมายไปหมื่นคนไม่ผ่าน ก็เสนอไปที่สองหมื่น สามหมื่นจนกว่าจะผ่าน ดูว่าเสียงประชาชนกับคนในรัฐสภาใครมีอำนาจมากกว่ากัน”
อย่างไรก็ตาม แม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.จะออกมาชี้แจ้งเหตุผลที่ไม่ได้นำเรื่องปฏิรูปที่ดิน และพลังงานเข้ามาพูดคุยไปแล้วในช่วงเปิดเวที แต่กลุ่มประชาชนทั้งฝั่งที่เป็นแนวร่วมของกปปส.ก็ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การปฏิรูปที่ดินและพลังงานจะเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน
ภาพจากmorning-news.bectero.com