หมอประเวศชี้ ฝรั่งติดหล่มปัญหาพัฒนากระจุกตัว แบบ 99 : 1
หมอประเวศชี้ ฝรั่งติดหล่มปัญหาพัฒนากระจุกตัว แบบ “99 : 1” ชี้ ‘แม่ฮ่องสอน-กระบี่ สู่กาญจนบุรีโมเดล’ สร้างจุดเปลี่ยนประเทศ ด้วยการทักทอเครือข่ายท้องถิ่น ตัวตั้งจัดการศึกษา ดึง“ภาคธุรกิจ-รัฐ-ประชาสังคม’
วันที่ 11 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมราชศุภมิตร จ.กาญจนบุรี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี จัดงานเสวนา “โครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้เด็กและเยาวชนไทยของจังหวัดกาญจนบุรี” ขึ้น โดยมีแกนนำกรณีศึกษาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่พัฒนาเป็นสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดกระบี่ที่พัฒนาเป็นสภาการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ชาวจังหวัดกาญจนบุรีกว่า 150 คน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราชฎรอาวุโส กล่าวว่า คนเมืองกาญจบุรี คนกระบี่ และคนแม่ฮ่องสอนได้สะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ต้องเริ่มจากท้องถิ่น ซึ่งจุดสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยก็คือการคืนอำนาจให้กับประชาชนจัดการตนเอง โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งในทุกระดับ โดยใช้การศึกษาเข้าเป็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ เนื่องจากประเทศไทยมีต้นทุนทรัพยากรและความหลายหลายทางชีวภาคและวัฒนธรรมที่สูงกว่าประเทศอื่น
“ในขณะที่ฝรั่งกำลังติดปัญหา 99 ต่อ 1” คือ การพัฒนาติดอยู่กับเพียงกลุ่มคนเปอร์เซนต์เดียว เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แต่คนไทยพยายามสร้างสังคมเข้มแข็งในทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสมานความเข้าใจให้คนได้ทั้งแผ่นดิน วันนี้ได้เห็นการจัดการตนเองของกระบี่ในรูปสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ แม่ฮ่องสอนในการตั้งสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนกาญจนบุรีจะใช้พลังการขับเคลื่อนในท้องถิ่น ส่วนผลจะออกมาเป็นรูปใดนั้นก็ต้องอยู่กับความต้องการของท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง ซึ่งการถักทอเป็นเครือข่ายในลักษณะนี้จะสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายในการทำความดีที่ครอบคลุมทุกตารางนิ้วในประเทศไทย”
ขณะที่นายชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนลึกๆ นั้น การศึกษาสร้างความผิดหวังให้กับภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด เพราะบุคลากรที่ถูกผลิตมาในตลาดแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมเป็นอันดับแรก สำหรับการตั้งสภาการศึกษานั้น ก็เพื่อจะช่วยกันพัฒนาคนของเราให้สามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชากรโลกได้ กระบี่ในอีก 12 ปีข้างหน้า เราจะทำให้ “กระบี่เป็นเมืองหน้าอยู่” (Krabi: the Quality City) จากพลังเอกชน พลังประชาสังคมทุกภาคส่วน
ด้านนายรุ่งโรจน์ คำมาสาร นายกสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความเฉพาะสูงมาก มีความห่างไกล แรงบันดาลใจสำคัญจึงมาจากชาวแม่ฮ่องสอนทนเห็นความไม่พร้อมทางโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานไม่ไหว จึงพยายามตั้งสมาคมฯขึ้น เพื่อระดมความเห็นในการจัดการศึกษาของจังหวัดและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงในการศึกษา เพราะหากหวังพึ่งส่วนกลางเพียงอย่างเดียว งานจะขับเคลื่อนได้ช้าและอาจไม่ตรงความต้องการของท้องถิ่น เราหวังจะมีสมาคมเพื่อช่วยก่อเกิดเป็นแบบแผนในพื้นที่ ใครจะเข้ามาช่วยก็จะมีทิศทางเดียวกัน ในการจัดการศึกษาในระดับต่างๆต่อไป
ส่วนนายสรรเพชร ศลิษฎ์อรรถกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ภาคเอกชนจำเป็นต้องเข้ามาเป็นเครือข่ายหลักของสภาการศึกษา เพราะเด็กในวันนี้ไม่ใช่แค่เรียนรู้ในห้องเรียนแล้วจะทำงานได้จริง แต่อนาคตเด็กต้องทำงานในองค์กรได้ ฉะนั้นต้องมีการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียน และโลกภายนอก เด็กจึงจะสามารถเอาชีวิตการทำงานไปใช้ในการเรียน และนำการเรียนมาใช้ในการทำงานได้จริง ภาคการศึกษาจึงต้องปรับหลักสูตรให้เข้ากับวิชาชีพต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากปล่อยให้ภาคการศึกษากับภาคธุรกิจต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างเดิน บุคลากรที่ถูกผลิตออกมาก็จะไม่ได้รับการเจียระไนให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของตลาด จึงมีการพูดคุยกันถึงเรื่องโครงการ “1 มหาวิทยาลัย หรือ 1 วิทยาเขต” ที่จะจับมือกับองค์กรภาคเอกชนในการจัดการศึกษาร่วมกัน เพื่อให้เด็กจบแล้วมีทักษะและสามารถทำงานได้จริงในท้องถิ่น