ชัชชาติ : “รถไฟความเร็วสูง” ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นเรื่อง “ประเทศชาติ”
“…การไม่เห็นด้วย คัดค้าน หรือแสดงความเห็น ข้อกังวล เกี่ยวกับ พ.ร.บ. นี้ เป็นสิ่งที่ดี และรัฐบาลใหม่ควรนำไปปรับปรุง ในขั้นตอนการดำเนินโครงการ แต่ขอให้ความเห็นต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงครับ อย่าอยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชัง อคติ การสร้างความกลัว เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การเมือง แต่คืออนาคตของประเทศครับ…”
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติกำหนดให้วันที่ 12 มีนาคม 2557 มีการนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติคดีที่ประธานศาลรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นเรื่องของให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท (พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน) ว่ามีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรค 1 และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ รมว.คมนาคม โพสต์เฟซบุ๊กผ่านแฟนเพจชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” โดยสรุปประเด็นต่าง ๆ ในส่วนที่ พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน ที่เกี่ยวของกับกระทรวงคมนาคมไว้ ดังนี้
“ในวันที่ 12 มีนาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สร้างอนาคตไทย หรือ ที่เราอาจจะคุ้นกับชื่อ พ.ร.บ.สองล้านล้าน
ในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ผมขออนุญาตสรุปประเด็นต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมไว้ดังนี้ครับ
ถาม: พ.ร.บ. นี้คืออะไร ?
ตอบ: เป็น พ.ร.บ. ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ในการกู้เงินเพื่อมาใช้ลงทุน ในโครงการก่อสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งระบบรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพ ท่าเรือ ถนนสี่เลน มอเตอร์เวย์ ด่านศุลกากร สถานีขนส่งสินค้า ในวงเงินไม่เกินสองล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 ปี (ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ เป็นการเตรียมกรอบวงเงินไว้)
ถาม: ทำไมไม่ใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปกติ ?
ตอบ: ในการทำโครงการขนาดใหญ่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง สีเขียว สีม่วง ก็ไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ ในการดำเนินการ แต่จะใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ และทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านงบประมาณรายปี การออกเป็น พ.ร.บ. ต่างหาก ทำให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการที่สำคัญนี้ จะมีแหล่งเงินที่เพียงพอในการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด และ ไม่เกิดความล่าช้าเหมือนหลายๆ โครงการที่มีการอนุมัติมาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
ถาม: ต้องเป็นหนี้กันมากกว่า 50 ปี ?
ตอบ: การทยอยจ่ายคืนเงินกู้เป็นเรื่องปกติ หลายๆ โครงการในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ก็มีการทยอยจ่ายคืนเงินกู้ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม (แต่ไม่มีใครพูดถึง) ประเด็นที่สำคัญ ไม่ใช่ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ แต่เป็นเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ ที่ต้องคุ้มค่ากับการลงทุน
ถาม: โครงการไม่มีความพร้อม ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่คุ้มทุน ?
ตอบ: ทุกโครงการ ต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาความเป็นไปได้ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ EIA HIA การทำประชาพิจารณ์ และ ต้องมีการพิจารณาจาก กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ เสนอต่อ ครม. เพื่ออนุมัติเป็นรายโครงการ
ถาม: กู้มาเพื่อจะโกง ?
ตอบ: การดำเนินการโครงการ ต้องดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ทั้ง สตง. ปปช. ตามปกติ เหมือนๆ กับทุกโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับภาคเอกชน เพื่อจะเข้ามาร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการด้วย ถ้าเรากังวลเรื่องโกง ทางออกไม่ใช่การหยุดทำโครงการต่างๆ เพราะกลัวโกง แต่ทางออกคือต้องมาร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น
ถาม: การออก พ.ร.บ. นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยรัฐสภา ?
ตอบ: พ.ร.บ. นี้ ผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภา ตามขั้นตอน ในการดำเนินการ ต้องมีการทำรายงานเสนอรัฐสภาทุกปี และ สภาเองก็สามารถตรวจสอบการดำเนินการผ่านช่องทางของคณะกรรมาธิการต่างๆ การตั้งกระทู้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลตามปกติอยู่แล้ว
ถาม: การดำเนินการ ไม่เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ?
ตอบ: กรอบวงเงินที่เสนอใน พ.ร.บ. นี้ กระทรวงการคลังได้มีการพิจารณาแล้วว่า เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมกับสภาพวินัยทางการคลังของประเทศ ไม่เกินตัว แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่า เราต้องนั่งรถเมล์ไปตลอดชีวิต โดยไม่ให้สร้างรถไฟฟ้าได้ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี จะช่วยให้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีความเข้มแข็งขึ้น เพราะโอกาส จะกระจายลงสู่ชนบทมากขึ้น ต้นทุนการขนส่งลดลง สินค้ากระจายจากครัวเรือนสู่ตลาดได้สะดวกขึ้น ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น
ถาม: รถไฟความเร็วสูง มีต่างชาติเคยจะเสนอมาก่อสร้างให้ โดยไทยไม่ต้องเสียเงินเลย ทำไมต้องกู้มาสร้าง ?
ตอบ: ของฟรีไม่มีในโลก ผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีประเทศไหนมาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เราฟรีๆ เท่าที่ผมศึกษาเอกสาร เคยมีแนวคิดในการจะตั้งบริษัทร่วมทุน ไทย (51%) ต่างชาติ (49%) โดยให้บริษัทนี้ มีสิทธิ์พัฒนาที่ดินของรถไฟทั้งหมดตามแนวเส้นทาง (หลายหมื่นไร่) รวมทั้งได้สิทธิ์ในการเดินรถ การขายเครื่องจักรอุปกรณ์ การรับเหมาก่อสร้าง ผมว่าเป็นเงื่อนไขที่ไทยเสียเปรียบ และไม่ควรดำเนินการต่อ ส่วนใครจะเห็นว่าควรทำ ก็แล้วแต่แนวคิดของแต่ละคนครับ
พ.ร.บ. สร้างอนาคตไทยนี้ ผ่านหรือไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่จะเป็นผู้ดำเนินการโครงการต่างๆ ต่อไปครับ การไม่เห็นด้วย คัดค้าน หรือแสดงความเห็น ข้อกังวล เกี่ยวกับ พ.ร.บ. นี้ เป็นสิ่งที่ดี และรัฐบาลใหม่ควรนำไปปรับปรุง ในขั้นตอนการดำเนินโครงการ แต่ขอให้ความเห็นต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงครับ อย่าอยู่บนพื้นฐานของความเกลียดชัง อคติ การสร้างความกลัว เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่การเมือง แต่คืออนาคตของประเทศครับ”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก แฟนเพจชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ