สปสช.โชว์งาน 4 ปี คนจนลดค่าใช้จ่ายรักษา 3 เท่า สพศท.ดักคออย่าหมกเม็ดตั้งชุดใหม่
บอร์ด สปสช.แถลงครบวาระ 4 ปี คนไทยมีหลักประกันสุขภาพ 63.08 ล้านคน 99.24% โชว์ค่าใช้จ่ายรักษาครัวเรือนยากจนลงจาก 8 เป็น 2.5% พัฒนาบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ฝากบอร์ดใหม่สานต่อบริการใกล้บ้านในชุมชน ด้าน สพศท. ดักคอ สปสช.อย่าหมกเม็ดตั้งบอร์ดใหม่
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในเดือน ก.ค.54 นี้ คณะกรรมการฯชุดปัจจุบันจะหมดวาระลง หลังจากดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ประชาชนไทยมีหลักประกันสุขภาพ 63.08 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.24 ของประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศ 63.57 ล้านคน ยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ลงทะเบียนสิทธิ 484,658 คน และกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ 1,330,116 คน
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ตลอด 4 ปี ได้พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่สำคัญๆ เช่น การพัฒนาระบบบริการแพทย์แผนไทย เร่งรัดพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ สนับสนุนพัฒนาโรงพยาบาลตำบล (รพ.สต.) พัฒนาระบบบริการการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) ผู้ที่ได้รับลกระทบด้านบริการสุขภาพจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
ยกเลิกการจำกัดระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชประเภทผู้ป่วยในที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15 วัน ยกเลิกการจำกัดความคุ้มครองการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี พัฒนาระบบริการลดการรอคิวและเพิ่มการเข้าถึงบริการโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ให้บริการและบริหารจัดการวัคซีนไข้หวัด ให้บริการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในเด็ก และปลูกถ่ายหัวใจเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 รวมถึงการพัฒนาการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพงหลายรายการ
นพ.วินัย ยังกล่าวว่า ผลงานที่สำคัญๆของของคณะกรรมการชุดนี้ยังได้เห็นชอบให้สำรองจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก และพัฒนาข้อเสนอการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพของ สส.และ สว. รวมทั้งช่วยเหลือฉุกเฉินผู้ป่วยและหน่วยบริการในพื้นที่ประสบอุทกภัย
ทั้งนี้ผลการดำเนินด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลง โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาของครัวเรือนในชั้นที่ยากจนที่สุดปี 2535 เท่ากับร้อยละ 8 ของรายจ่ายครัวเรือน และลดลงมาเป็นร้อยละ 2.8 และ 2.5 ในปี 2545 และ 2549 ตามลำดับ ในส่วนอุบัติการณ์ของผู้มีรายได้น้อยที่เกิดจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ลดลงจาก ร้อยละ 4.4 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 2.5 และ 1.8 ในปี 2545 และ 2547 แต่หากพิจารณาจากเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย พบว่าอุบัติการณ์ดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 10 และ 8 ตามลำดับในช่วงเดียวกัน
นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นที่คณะกรรมการฯชุดนี้อยากฝากให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชุดต่อไปพิจารณา คือ การพัฒนาระบบการรักษาโรคที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย การลดภาระค่าใช้จ่ายจากการรักษาโรคราคาแพง และพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่จะเป็นบริการด่านแรกที่ใกล้ชิดประชาชนแบบใกล้บ้านใกล้ใจ สามารถดูแลสุขภาพชุมชนต่อเนื่องได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2555-2559 มีวิสัยทัศน์ว่า“ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งเสนอในคณะกรรมการชุดใหม่พิจารณาต่อไป
ด้านสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) แถลงการณ์เรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) อย่ารีบร้อนแต่งตั้งบอร์ดสปสช.ชุด ใหม่แทนชุดเก่าที่หมดวาระไปตั้งแต่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะเกรงว่าจะเกิดความไม่โปร่งใสเนื่องจากที่ผ่านมาไม่พบการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบว่าบอร์ดได้หมดวาระแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าอาจมีความพยายามตั้งพวกพ้องมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะง่ายต่อการควบคุม
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธาน สพศท. เปิดเผยว่ายังเหลือเวลาอีก 3 เดือนในการแต่งตั้งบอร์ด สปสช. ดังนั้นนายจุรินทร์จึงไม่ควรเร่งรีบ เพราะอาจจะตกเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม ส่วนตัวเห็นว่าควรที่จะให้รัฐมนตรีคนใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ที่สำคัญอยากให้มีการตรวจสอบการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนองค์กรต่างๆว่ามีความโปร่งใสและเหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้การประชุมบอร์ดสปสช.เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ทั้ง 30 คน ซึ่งมาจากภาคส่วนต่างๆครบแล้ว ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 4 คน ภาคประชาชน 5 คน ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังไม่มีการรับรอง เนื่องจากมีการยื่นหนังสือคัดค้านว่ารายชื่อบอร์ดบางส่วนเป็นบุคคลเดิมและดำรงตำแหน่งมาครบ 2 วาระแล้ว และยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลและรัฐมนตรีคนใหม่ ขณะที่นายจุรินทร์ ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ไม่ได้เข้าประชุมแต่อย่างใด
นายนิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ดสปสช. กล่าวว่าแต่ละภาคส่วนจะมีกระบวนการคัดเลือกตัวแทนของตัวเอง จากนั้นก็จะนำเสนอรายชื่อเพื่อรอสำนักงานฯ รับรอง แต่ในส่วนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะสรรหาได้ภายหลังเปิดประชุมบอร์ด สปสช.ชุดใหม่แล้ว คาดว่าเมื่อได้ร มว.สธ.คนใหม่จึงจะดำเนินการรับรองบอร์ดทั้ง 30 คน ได้ .
ที่มาภาพ : http://www.rd1677.com/branch.php?id=43831