ยุทธศาสตร์รักษ์ป่า จ.น่าน 'บัณฑูร' เเนะกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง
'บัณฑูร ล่ำซำ' เปิดยุทธศาสตร์ฟื้นฟูรักษาป่า จ.น่าน เป็นงานประจำปี ด้วยดาวเทียมไทยโชต ยันแต่ละตำบลต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพหลักแก้ไขปัญหา พร้อมฝากความหวังไว้ที่กลุ่มเยาวชน
วันที่ 10 มีนาคม 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ ‘รักษ์ป่าน่าน’ และทรงบรรยาย เรื่อง การสร้างสำนึกให้เด็กและเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดถวาย เพื่อหาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์ในการรักษาและฟื้นฟูผืนป่าในจังหวัดน่าน
ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพฯ กองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสนับสนุนการดำเนินงานโดยธนาคารกสิกรไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาฯ จ.น่าน
ทั้งนี้ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง ‘บริบทและยุทธศาสตร์ของการรักษาป่า’ ใจความตอนหนึ่งว่า คำว่า ยุทธศาสตร์ หมายถึง การกำหนดแผนที่ครอบคลุมทุกมิติของปัญหาที่ได้เผชิญอยู่ และดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปในทิศทางที่ตอบโจทย์ จึงจะสามารถเอาชนะปัญหาและถือเป็นยุทธศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องคิด
ซึ่งต้นเหตุของปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งในระดับประเทศ องค์กร หรือบุคคลก็ตาม จะต้องคิดว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่แก้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้จบ คงจะไม่ได้ผล ซึ่งแสดงว่า ยุทธศาสตร์นั้นไม่ได้ผล เกิดจากการไม่คิดให้ครบตั้งแต่ต้น
ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีป่าเสื่อมโทรม จ.น่านว่า ได้เผชิญกับปัญหาที่ถูกแอบซ่อนมานาน และได้มีหลายหน่วยงานเข้ามาจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือว่า เป็นป่าที่สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นป่าต้นน้ำ โดยพื้นที่แห่งนี้มีภูมิประเทศเป็นภูเขา 85% ที่ราบ 15% เเต่ป่าได้หายไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นการเก็บสถิติที่ชัดเจนและถูกต้องจะทำให้จัดการปัญหาได้ถูก เพราะหากนับต้นไม้เป็นไร่ ๆ จะหากันไม่เจอ จึงต้องใช้ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) วิเคราะห์ข้อมูลป่าเมืองน่าน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา
"ยุทธศาสตร์เป็นความพยายามที่จะเก็บล้อมปัญหาให้อยู่ในกรอบที่จับต้องได้ แล้วติดตามผลได้ ซึ่งต่อไปนี้เราจะติดตามผลการฟื้นฟูการรักษาป่า จ.น่านเป็นงานประจำปี ด้วยดาวเทียมไทยโชต”
นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องหาเจ้าภาพในการรับผิดชอบซึ่งควรมอบหมายให้แต่ละตำบลเป็นองค์กรหลักในการแก้ไขปัญหา สร้างความเป็นเจ้าของในระดับท้องถิ่นผ่านการกระจายอำนาจ ส่วนองค์กรอื่น ๆ นั้นให้มีหน้าที่ในการส่งเสริม โดยเฉพาะกำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายกอบต.) และประธานองค์กรชุมชน ต้องทำงานร่วมกันให้ได้ เพื่อความสามารถในการยับยั้งปัญหา
ที่สำคัญ จะต้องเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทุกการพัฒนานั้นจะต้องมีผู้สามารถรับช่วงต่อไปได้ เพราะในเมื่อสมัยเราเเก้ปัญหาป่า จ.น่าน ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องฝากความหวังไว้กับเยาวชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันจ.น่านมีพื้นที่ป่าสงวนเเห่งชาติ 6,435,792 ไร่ ถูกบุกรุกเพื่อปลูกพืชไร่ 1,543,519 ไร่ คงเหลือพื้นที่ป่านไม้ทั้งหมด 4,892,272.80 ไร่ .