เกษตรกร 35.92% ชี้นายกฯ ต้องรับผิดชอบ ติดค่าข้าวชาวนา
“นิด้าโพล” นำเสนอผลการสำรวจพฤติกรรม-ปัจจัยการทุจริตคอร์รัปชั่น พบ โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน บริหารจัดการน้ำ จำนำข้าว ปชช.เห็นด้วย อยากให้ทำ แต่กลับมีความเชื่อเป็นไปได้สูงจะเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น
วันที่ 10 มีนาคม 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) จัดสัมมนาเรื่อง ดัชนีชี้วัดสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ณ ห้องซาลอน B ชั้น 2 โรงแรมสวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพ
ช่วงหนึ่งของการสัมมนา ผศ.ดร. สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” นำเสนอผลการสำรวจพฤติกรรมและปัจจัยการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยพบว่า เรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น การขับรถผิดกฎจราจร ฝ่าไฟแดง ขับรถสวนทาง 54.70% ประชาชน ตอบว่า เคยทำ
31.39% เคยถูกรีดไถจากเเจ้าหน้าที่ของรัฐ, 26.87% รับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้นักการเมือง, 18.19% เคยแซงคิวผู้อื่น และ 13.24% เคยนำวัสดุอุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว เป็นต้น
ที่น่าสนใจ เมื่อสอบถามว่า ในอนาคตจะทำพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ และสามารถยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ พบว่า ยังมีคนตอบคำถามจะทำพฤติกรรมดังกล่าวในอนาคตและยอมรับได้กับพฤติกรรมและปัจจัยการทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2556 พบว่า 51.56% เห็นด้วย โดยให้เหตุผล เพราะต้องการระบบคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นในประเทศ ขณะที่อีก 35.07% ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นช่องทางของการเกิดคอร์รัปชั่น
ความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดการทุจริต พบว่า 74.78% เห็นว่า มีความเป็นไปได้จะเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านบ้านบาท
ผศ.ดร.สุวิชา กล่าวถึงทัศนคติประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการใหญ่ แต่กลับเชื่อว่า จะเกิดทุจริตกับงบประมาณจำนวนค่อนข้างมากนั้น ทั้งโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท บริหารจัดการน้ำ สรุปตกลงเราจะสนับสนุนคอร์รัปชั่นหรือไม่ ซึ่งทัศนคติแบบนี้เราต้องช่วยกันแก้ไข
สำหรับผลสำรวจการแก้ไขปัญหาจำนำข้าวในมุมมองเกษตรกร 31.13% เห็นว่า การคอร์รัปชั่น คือสาเหตุหลักที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนาได้, 18.42% เกิดจากการขายข้าวขาดทุน, 18.36% รัฐบาลขายข้าวไม่ได้ ทำให้ขาดสภาพคล่อง,15.03% เป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้
ที่เหลือ 12.89% โทษกปปส. คัดค้านการทำงานของรัฐบาล, รัฐบาลบริหารงานล้มเหลว และรัฐบาลขาดความรับผิดชอบ ขณะที่ 4.16% ตอบไม่แน่ใจและไม่ระบุ
ทั้งนี้เกษตรกร 35.92% เห็นว่า นายกรัฐมนตรี คือ ผู้ที่ควรรับผิดชอบจากการที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าข้าวให้แก่ชาวนาได้ รองลงมาคือ คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ควรรับผิดชอบ
แนวทางแก้ไข เกษตรกร 36.72% ให้รัฐบาลเร่งระบายข้าวในสต๊อก 28.88% รัฐบาลหาเงินกู้เพื่อมาจ่ายค่าข้าว 22.64% ให้รัฐบาลลาออกเพื่อหลีกทางรัฐบาลรักษาการมาแก้ไขปัญหา ที่เหลือเห็นว่า รัฐบาลควรคืนข้าวให้ชาวนา และควรแก้ไขปัญหากลุ่มที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล หารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกร
ผศ.ดร.สุวิชา กล่าวถึงความเห็นต่อการดำเนินนโยบายจำนำข้าวต่อด้วยว่า แม้เกษตรกร 43.04% จะบอกให้ยุติโครงการ แต่อีก 1 ใน 3 ของเกษตรกรกลับมีความเห็นให้ทำโครงการต่อไป 34.40% ให้ดำเนินการต่อไป แต่ปรับราคาให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก 18.24% ให้ดำเนินการแบบเดิม และ1.12% ให้ทำต่อไป แต่ต้องแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการ การตรวจสอบการทุจริต และเปลี่ยนเป็นระบบประกันราคาข้าวแทน