กลุ่มแรงงาน จวก 'ยิ่งลักษณ์' ไม่เข้าใจ ไม่แก้ไขปัญหาของผู้หญิง
ส.ว. ชี้ปฏิรูปคุณภาพชีวิตผู้หญิงทำงานรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายเน้นดูแลคนอ่อนแอ แทนอุ้มชูคนแข็งแรง ด้านกลุ่มเอ็นจีโอ มีนายกฯ หญิง 2 ปี พิสูจร์แล้ว ไม่เข้าใจปัญหา-ไม่ช่วยผลักดันนโยบาย วอนทุกคนต้องปฏิรูปและขับเคลื่อนด้วยตนเอง
วันที่ 8 มีนาคาม กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กรเครือข่ายอีก 26 องค์กร จัดโครงการ “ขับเคลื่อนวันสตรีสากล เพื่อปฏิรูปคุณภาพชีวิตผู้หญิงทำงาน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผู้หญิงเปรียบเสมือนนักเศรษฐศาสตร์ที่คอยจัดสรรทรัพยากรในด้านต่างๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัว ไม่ใช่เพียงแค่หุงข้าว ล้างจานเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการทำงานในระบบแรงงานหรือการดูแลไร่นาด้วย ขณะที่นโยบายของรัฐที่เป็นนโยบายสาธารณะ ก็มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางความเป็นไปในการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานผู้หญิง ซึ่งมีความจำเป็นที่เราจะต้องเร่งผลักดันสิ่งเหล่านี้ต่อไป
“ในภาคแรงงานผู้หญิงถือเป็นกำลังสำคัญ เป็นแม่ที่ต้องให้กำเนิดลูก แต่สังคมกลับไม่ให้ความใส่ใจกับผู้หญิง ไม่ให้ความสนใจกับอนาคตบ้านเมือง ทำให้เวลาในการเลี้ยงลูกสำหรับผู้หญิงในภาคแรงงานไม่มี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลควรให้ความใส่ใจกับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต”
นางสาวรสนา กล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องคือทัศนคติของผู้หญิงมักจะดูแลลูกที่พิการมากว่าปกติ ทัศนคตินี้เป็นคุณสมบัติความเป็นแม่ที่ให้ความสนใจกับคนที่อ่อนแอ แต่ปรากฏว่านโยบายของรัฐครอบงำด้วยวิธีคิดแบบผู้ชาย คือไม่ได้ใส่ใจในคุณภาพมากเท่าที่ควร หากยุทธศาสตร์รัฐบาลหรือนักการเมือง ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆเข้าใจคุณสมบัติของความเป็นแม่จะจัดสรรและพัฒนานโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานเลี้ยงเด็กต้องใกล้ที่ทำงานให้เลยโดยไม่ต้องเรียกร้อง
“ที่ผ่านมารัฐบาลมองนโยบายการพัฒนาประเทศแบบแนวดิ่ง คือ อุ้มชูคนแข็งแรงและหวังที่จะให้คนแข็งแรงไปดูแลคนอ่อนแอ" ส.ว.กทม. กล่าว และว่า ขณะที่แนวคิดแบบผู้หญิง คือ ดูแลคนอ่อนแอก่อนเพื่อให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้มากกว่า ทั้งนี้ 2 ปีที่ผ่านมาเรามีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง มีกองทุนสตรี แต่สิ่งเหล่านี้ก็ใช้สำหรับเป็นฐานเสียงทางการเมืองเท่านั้น หากรัฐบาลมีทัศนคติที่เข้าใจความสำคัญนโยบายต้องเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนโดยไม่จำเป็นต้องให้มาเดินขบวนเรียกร้อง ทำงาน8 ชั่วโมง พักผ่อน8 ชั่วโมง และเรียนรู้8 ชั่วโมง
ขณะที่นางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ร้อยปีของการต่อสู้ของผู้หญิง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต วันนี้เรามาเพื่อตอกย้ำตัวเองว่ากลุ่มผู้หญิงเปลี่ยนแปลงสิทธิตัวเองมากน้อยแค่ไหน กลไกของรัฐในเรื่องการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เลี้ยงเด็กที่เราขับเคลื่อนมานาน ณ วันนี้มีเพียงแค่ศูนย์เดียว 10 ปีก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะรัฐไม่ใส่ใจสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน การมีส่วนร่วมในไตรภาคีหรือภาคการเมืองต่างๆกี่เปอร์เซ็นที่มีผู้หญิงเข้าไปอยู่ร่วม ปัจจุบันนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ใหม่ อีกทั้งในระดับนโยบายต่างๆในเรื่องคุณภาพชีวิตผู้หญิงก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แรงงานหญิงถูกเลิกจ้างมากกว่าผู้ชายเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงการทำงานกับภาครัฐที่ผ่านมารัฐบาลมีอำนาจในการดูแลปัญหา แต่ยังไม่มีการแก้ไขตามที่เราต้องการ
“การที่ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง เรามีความมุ่งหวังว่าเขาจะเข้าใจประเด็นปัญหาของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายสิทธิผู้หญิงว่า นายกรัฐมนตรีจะมีความเข้าใจและช่วยแก้ไข ระเวลาผ่านมา 2 ปี กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย และการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานสตรีที่ผ่านมา 2 ปี นายกฯ ไม่มา ไม่เข้าใจปัญหาสังคมทั้งหมด เรายื่นข้อเรียกร้องไปรัฐไม่ได้รับ ไม่ได้แก้ไข และคนที่มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาแรงงานหญิงเลย”
นางวิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ในรัฐสภาแม้ว่าเราขับเคลื่อนข้อเรียกร้องต่างๆ เข้าไป หรือมีการยื่นหนังสือจัดเวทีร่วมกัน ก็ไม่ได้รับการสนใจ เพราะรัฐบาลคิดว่าเราอาจไปลดทอนอำนาจของฝ่ายบริหาร ตอนนี้พูดได้ชัดว่า เราไม่ได้มีตัวแทนของพวกเราไปเป็นไปตัวแทนในรัฐสภาจริงๆ ดังนั้นอย่าไปฝากความหวังกับส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง
ดังนั้นเราควรต้องมีบทบาทจะปฏิรูปการเมืองคุณภาพชีวิต 1.ต้องปฏิรูปตัวเองให้ตัวเองรู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิ 2.ผลักดันให้รัฐบาลมีกองทุนศูนย์เลี้ยงเด็ก สวัสดิการเด็ก ปฏิรูปเรื่องสุขภาพ ช่วยกันขับเคลื่อนการรักษาให้มีคุณภาพให้ดีที่สุดโดยไม่เลือกปฏิบัติ 3.ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ยังมีข้อจำกัดขับเคลื่อนสิทธิการรวมตัวของผู้หญิง การเลือกตั้ง การใช้สิทธิ ไม่ฝากความหวังอีกต่อไป เราต้องฝากความหวังกับตนเองและผู้หญิงทุกคนว่าเราจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงการต่อสู้ของกลุ่มแรงงานเริ่มขยับขยายไป ไม่จำกัดตัวเองในโรงงานแล้ว มีการขยายแรงงานไปสู่ภาคเกษตร แรงงานนอกระบบ มีความก้าวหน้ามีการเติบโต จนเรียกได้ว่า พวกเรากล้าหาญพอที่จะเสนอกฎหมายและร่างกฎหมายกันด้วยตนเอง ใครจะมีปริญญาตรี โท เอก นักกฎหมายที่เก่งแค่ไหน วันนี้ไม่ใช่คำตอบแล้ว เพราะกลุ่มแรงงานสามารถร่างกฎหมายด้วยตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาระดมเป็นกฎหมายภาคประชาชนมาไม่รู้กี่ฉบับ
"เราจึงไม่ได้หวังผลจากนักกฎหมายหรือนักการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามหากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาอาจจะส่งผลต่อกฎหมายหลายฉบับที่ยื่นเข้าไปแล้ว ดังนั้นในการขับเคลื่อนในการเสนอกฎหมายอยากให้ทุกคนมีความอดทนไม่ย่อท้อและต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจัง"
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานได้มีการประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันสตรีสากลโดยนางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี โดยมียุทธศาสตร์สู่การปฏิรูปชีวิตผู้หญิงทำงาน ประจำปี 2557 ดังนี้
1. นโยบายรัฐบาลจะต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิตและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีนโยบายในการดูแลคุณภาพชีวิตทุกภาคส่วนให้ดีขึ้น อาทิ ต้องให้มีค่าแรงเท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง มีข้อกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิแรงงานผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางด้านภาษี ปฏิรูปกองทุนพัฒนาสตรี คุ้มครองการถูกละเมิดเลิกจ้าง สนับสนุนกฎหมายส่งเสริมระหว่างเพศ
2.ทางด้านกฎหมาย ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม และมีสิทธิออกมติในการออกกฎหมายของประชาชนทุกฉบับที่สร้างความเสมอภาคทางเพศ ร่วมทั้งสนับสนุนการกระจายอำนาจและสวัสดิการทางสังคม
3.กลไกของการทำงาน ในระบบรัฐสภาต้องการกำหนดให้มีสัดส่วนอย่างเท่าเทียมในกลไกรัฐทุกระดับและต้องเอาจริงเอาจังในการติดตามบังคับใช้ ทั้งในเรื่องแรงงานนอกระบบในระบบ โดยเฉพาะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
4.สร้างความเข้มแข็งในองค์กรผู้หญิง โดยภาคประชาสังคมที่จะต้องเน้น รู้ รุก ร่วม โดยเรียนรู้เชื่อมโยงการทำงานอย่างยั่งยืน ติดตามตรวจสอบการบริหารกองทุนต่างๆที่เกี่ยวกับสตรี มีส่วนร่วมกับทางการเมืองและภาคประชาชน เคารพในคุณค่าสิทธิเข้าใจปัญหาและอย่าเลือกปฏิบัติ