นักวิชาการรุมตีแสกหน้า “สื่อไทยเป็นสินค้า” เรื่องชาวบ้านไม่ถูกนำเสนอ
ถอดบทเรียน 13 ปีความทุกข์คลิตี้ นักวิชาการรุมสับสื่อเมืองไทย “นิธิ”ตั้งคำถามทำไมสาวเปิดนมสีลมขายได้ แต่ชาวบ้านคลิตี้โดนสารตะกั่วขายไม่ได้ “รอง ผอ.สถาบันวิจัยสังคม” จวกข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์ “กก.สภาทนายฯ” ชี้สื่อบิดเบือนความจริงคลิตี้ “วรรณสิงห์” แนะสร้างสื่อทางเลือกใหม่
เมื่อเร็วๆนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนชนเผ่า โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายอจัดงานเสวนา “เสียงเพรียกจากคลิตี้: พื้นที่ศิลปะ พื้นที่ชีวิต พื้นที่ชุมชน บนหนทางสร้างเสียงให้คนสร้างเสียง”
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กรณีคลิตี้ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้หลายประการ ประการแรก คือคำถามว่ารัฐมีศักยภาพแค่ไหนในการควบคุมภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่กระบวนการอนุมัติ และการตรวจสอบ ประการที่ 2 คือข่าวกลายเป็นสินค้า ผลกระทบจากเหมืองแร่ถือเป็นภัยพิบัติ แต่ที่ผ่านมาสื่อไม่ให้ความสำคัญ แสดงว่าข่าวไม่มีมูลค่าสื่อจึงไม่สนใจ ปัจจุบันเราอยู่ในประเทศที่มีสื่อเป็นสินค้า 100% ไม่ใช่เพียงคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีเสียง แต่คนไทยทั้งประเทศไม่มีเสียง สาวเปิดนมที่สีลมขายได้ แต่เรื่องผลกระทบจากสารตะกั่วขายไม่ได้
ประการที่ 3 การใช้เงินแก้ปัญหาสังคม แท้จริงชาวบ้านคลิตี้ไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการให้ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และวิถีชีวิต ซึ่งรัฐต้องเป็นเจ้าภาพ หากไม่ลงทุนก็ต้องใช้เงินจากกลุ่มทุน เช่น การวางเงินประกันในอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะสามารถนำเงินดังกล่าวมาช่วยเหลือชาวบ้านได้เบื้องต้น ประการที่ 4 วิถีชีวิตที่แตกต่างทำให้คนไม่เคารพกัน สังคมให้คุณค่าคนที่สร้างจีดีพี(ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ) ให้กับประเทศมากกว่า ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบค่อยหาทางแก้ไข เป็นลักษณะสังคมที่อ่อนแอ
“เราต่างอยู่ในสังคมที่อ่อนแอ ทั้งเรื่องการเมือง ศีลธรรม ทำให้คนไม่เห็นคุณค่ามนุษย์ เศรษฐกิจที่มุ่งการผลิตอุตสาหกรรม การศึกษาที่สอนให้คนเห็นแก่ตัว ตราบใดที่การแก้ไขปัญหาคลิตี้ยังไม่พ้นเรื่องเงิน ไม่มองที่ต้นเหตุ และแก้ไขปัญหานั้น น่าห่วงว่าลูกหลานเราจะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างไร” ศ.ดร.นิธิ กล่าว
ด้าน ดร. นฤมล อรุโณทัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยขาดพื้นที่สื่อสำหรับข่าวสร้างสรรค์ ดังคำกล่าวที่ว่า “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์” ผู้คนในสังคมใส่ใจกันน้อยลง รับรู้ปัญหาแต่ไม่รู้สึกร่วม การใช้สื่อศิลปะจะเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า
“แนวคิดการเอาศิลปะมาสื่อเรื่องราวของคนชายขอบให้ปรากฏตัวตนในสังคม เป็นสิ่งที่น่าสนใจและต้องอาศัยการมีส่วนร่วม เพราะศิลปะมีความสวยงาม เป็นสื่อที่เข้าถึงชนชั้นกลางหรือคนเมืองได้ง่าย อีกทั้งการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการออกมาพูดอาจไม่ใช่วิถีของคนคลิตี้ทำได้ไม่ถนัดนัก”
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่าที่ผ่านมาสื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลิตี้หลายเรื่อง เช่น มาตรฐานน้ำในลำห้วย สุขภาพอนามัยชาวบ้าน
“รัฐอ้างว่าตะกั่วเป็นแร่มีค่าต้องนำออกมาใช้ ไม่เช่นนั้นต้องนำเข้า ข้อเท็จจริงคือตะกั่วเป็นสารพิษ และราคาในประเทศไทยกับนำเข้าก็ไม่ต่างกันเลย รัฐบอกว่าน้ำในคลิตี้ใช้ได้แล้ว ชาวบ้านไม่เดือดร้อน แต่เอามาตรฐานน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมมาวัด ใช้ดื่มกินไม่ได้ อีกทั้งไม่ได้วัดสารพิษอื่นๆเลย”
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่าจากผลการตรวจสุขภาพเด็ก โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่าอาการเจ็บป่วยเกิดจากแม่ที่ติดเชื้อไข้มาลาเลีย ไม่ใช่สารตะกั่ว แต่ความจริงคือมาลาเลียยิ่งทำให้สารตะกั่วในร่างกายมีพิษสูง และในระบบอุตสาหกรรมสามารถใช้แร่อื่นแทนสารตะกั่วได้ แร่ตะกั่วจึงไม่มีความจำเป็นใดๆและเป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องให้ข้อมูลครบถ้วน
ด้านนายวรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “พื้นที่ชีวิต” กล่าวว่าในฐานะผู้ผลิตสื่อคนหนึ่ง ปัจจุบันสื่อขาดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ชม ยอมรับว่าสื่อกระแสหลักถูกครอบงำจากแหล่งทุน แต่แทนที่จะวิจารณ์ก็ควรหาทางเลือกใหม่ๆสำหรับสื่อทางเลือกเพื่อสังคมด้วย
“สื่อกระแสหลักต้องตอบโจทย์เรื่องรายได้ เราต้องมองหาสิ่งที่ต่างออกไป เช่น สร้างสื่อใหม่ๆให้มากขึ้น อย่างทีวีไทยที่ไม่หวังโฆษณา เพิ่มทางเลือกให้ที่มีสื่อศีลธรรมมีจริยธรรม” นายวรรณสิงห์ กล่าว.