‘สมพล’ ท้านายกฯเปิดข้อมูลจำนำข้าว หากจะเอาจริง ต้านคอร์รัปชั่น
เวทีครบรอบ 59 ปี สมาคมนักข่าวฯ ถกล้างคอร์รัปชั่น ‘สมพล เกียรติไพบูลย์’ จี้นายกฯ เปิดข้อมูลจำนำข้าว-โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบ.-โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบ. หากรัฐบาลลั่นจะเอาจริงต้านทุจริต ‘ศ.พิเศษ วิชา’ เผยคาดหวัง ‘การเมืองภาคพลเมือง’ ตื่นตัวพิทักษ์ประโยชน์จากนักการเมือง ระบุคนรุ่นใหม่จะใช้โซเซียลช่วยตีเเผ่คนโกง
วันที่ 5 มีนาคม 2557 ที่โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2557 เนื่องในโอกาสครบรอบ 59 ปี โดยในเวทีมีการอภิปรายพิเศษ ‘วาระประเทศไทย ล้างคอร์รัปชั่น ปฏิรูปประเทศ’
นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า คนไทยเกิดการตื่นตัวเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นแล้ว โดยผ่านกลไกต่าง ๆ ที่มีการรณรงค์อยู่มากมาย แต่เหตุใดยังคงติดกับดักเรื่องนี้อยู่ ด้วยเพราะสังคมไทยบูชาคนรวย คนมีเงิน คนมีอำนาจ โดยไม่คำนึงว่าเงินเหล่านั้นได้มาอย่างไร ซึ่งเงินสามารถสร้างอำนาจ และอำนาจก็สามารถสร้างเงิน เรียกว่าเป็นวงจรอุบาทว์วนเวียนในประเทศ แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายกำจัดคนผิดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ได้ท้าทายให้คนอยากเสี่ยง
“น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นนโยบายหลัก ซึ่งท่านได้เข้าร่วมในพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์มายมาย แต่เมื่อถามว่าจะล้างคอร์รัปชั่นได้หรือไม่ จะต้องย้อนถามไปยังผู้นำประเทศด้วยว่าจะเอาด้วยหรือไม่”
รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวต่อว่า กระบวนการของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตลอดเวลา มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง และกระบวนการลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งในหลายประเทศที่ได้ศึกษาดูงานมาล้วนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยดังนี้
1.ผู้นำประเทศต้องชัดเจน ต้องถามว่าผู้นำประเทศจะเอาด้วยหรือไม่ แต่ภาคประชาชนเริ่มตื่นตัวแล้ว และที่สำคัญที่สุดสื่อมวลชนจะต้องเป็นที่พึ่งให้มากที่สุดด้วย
2.การประหยัด วันนี้ไทยไม่ใช่ประเทศขาดแคลนงบประมาณแผ่นดิน แต่แท้ที่จริงแล้วไทยขาดแคลนการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำไปใช้จ่ายกับค่าเดินทางในและต่างประเทศ พิธีการต่าง ๆ และโครงการประชานิยม ซึ่งนอกจากทำให้ฟุ่มเฟือยแล้ว ยังเป็นช่องทางส่งเสริมให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ด้วย
3.การเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบ และลงโทษ ซึ่งมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใน 3 โครงการหลัก คือ โครงการรับจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลเอาจริง ให้เปิดเผยมาเลย แล้วภาคเอกชนพร้อมจะช่วย
ด้านศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ต้องยอมรับหากสังคมไทยสร้างเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระบบดั้งเดิม ไม่มีทางยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ เพราะไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ที่อุ้มชูคนไม่ดีมาปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว มองว่าจะไปหวังว่าให้มีการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นจริงจัง คงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การคาดหวังกับ ‘การเมืองภาคพลเมือง’ ให้สร้างกลุ่มคนเข้ามาพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองออกจากทางการเมือง โดยไม่ปล่อยให้นักการเมืองทำหน้าที่ฝ่ายเดียว
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ทุกองค์กรจะต้องเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันทำด้วย โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มีความสำคัญมาก ซึ่งในการประชุม ป.ป.ช. ระดับโลก มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า หากสื่อมวลชนไม่ให้ความร่วมมือจะล้มเหลวทันที เพราะจำเป็นต้องผลักดันให้มีการตีแผ่หรือเปิดโปง
“การตีแผ่ดังกล่าวถือว่าล้าสมัยเกินไป เพราะปัจจุบันมีโซเซียลมีเดียเกิดขึ้น ฉะนั้นคนที่จะช่วยเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นในอนาคต คือ คนรุ่นใหม่ ที่จะส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ” ศ.พิเศษ วิชา กล่าว และว่า ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ยินดีสนับสนุนนักข่าวฝึกทำข่าวสืบสวน เพราะหลายคดีที่ป.ป.ช.ตัดสินล้วนได้ข้อมูลมาจากสื่อมวลชน
ขณะที่ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลิพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นจะลดลงอย่างมีความหวังได้ คือ ระยะสั้นต้องวางระบบที่เข้มเเข็ง โดยดึงสื่อมวลชนเข้ามา ต้องมีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เเละกำหนดไม่ให้ฟ้องหมิ่นประมาทกับผู้ที่เปิดเผยข้อมูลนั้น ๆ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการสร้างระบบ มีผลในระยะสั้น เเต่ไม่ยั่งยืน
ส่วนความยั่งยืนของประเทศใดก็ตามจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ทัศนคติของคนในสังคม เราควรพูดถึงหน้าที่ไม่น้อยกว่าสิทธิเเละเสรีภาพ ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงสิทธิว่าเราเกิดเป็นคนต้องได้รับการรักษาพยาบาลฟรี การศึกษาอย่างดี เเต่เมื่อถึงหน้าที่เรากลับอยากเสียภาษีน้อยที่สุด
"สิทธิรัฐบาลต้องดูเเลความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ต้องจัดกำลังรบที่เข้มเเข็งให้ประเทศเรามั่นใจ เเต่เรากลับจะไม่ให้ลูกชายเราไปเกณฑ์ทหาร ยอมจ่ายเงินสัสดีเพื่อไม่ให้ลูกเป็นทหาร ดังนั้น จะต้องคำนึงหน้าที่ไม่น้อยกว่าสิทธิเเละเสรีภาพ" อธิการบดี มศว กล่าว .