ย้อนดู“ทัณฑะกาล”ของ“อิศรา”บทเรียน“ปลุกผี”ความเกลียดชัง!
“…อิศราเป็นคนที่ริเริ่มเรียกโรงอาหารว่า “คิวบา” หรือ “แดนเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกกดขี่” เขาถูกยกให้เป็นหัวหน้าของพื้นที่โดยปริยาย … ผู้ที่อยู่ในคิวบาส่วนมากเป็นนักหนังสือพิมพ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมกร กลุ่มคิวบาเป็นผู้เจรจาต่อรองเรื่องสิทธิ์ของผู้ต้องขังกับทางผู้คุมและเรือนจำ เป็นกลุ่มที่เห็นว่าพวกเขาเป็น “ผู้ถูกควบคุมตัว” ตามคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ หาใช่ “ผู้ต้องขัง”…”
และแล้ววันนักข่าวแห่งประเทศไทยก็เวียนมาอีกคำรบ
อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่กำลังตึงเครียด ส่งผลให้ “สื่อ” จะขยับไปทางไหนก็ลำบาก เนื่องจากหากนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกใจ หรือไม่ตอบสนองต่อคนบางกลุ่มก็อาจจะถูกตีตราได้ว่า “เลือกข้างทางการเมือง” แม้ว่าจะมีสื่อบางสำนัก “เลือกข้างทางการเมือง” ไปแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันนอกจาก “สงครามสื่อ” กำลังปะทุอย่างรุนแรงแล้ว ในฝ่ายประชาชน/ภาครัฐ ก็มีการป้ายสีกันด้วยวาทกรรมที่อาจเรียกได้ว่า “สร้างความเกลียดชัง – ล่าแม่มด” ขึ้นมาเล่นงานฝั่งตรงข้ามอย่างโจ๋งครึ่มด้วย
ทั้งนี้หากเทียบกับบริบททางการเมืองในปี 2498 ซึ่งเป็นปีที่กำเนิดสมาคมฯนักข่าวนั้น จะพบว่า มีความใกล้เคียงกับสังคมไทยในปัจจุบันอยู่ไม่มากก็น้อย เนื่องจากขณะนั้นอิทธิพลของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” กำลังแผ่ขยายครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกทิศทุกทาง ส่งผลให้ภาครัฐ/ประชาชนบางส่วน เรียกลัทธินี้ว่า “ผี” และปลุกมันขึ้นมาด้วยวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง – ล่าแม่มด อย่างรุนแรง
และด้วยอิทธิพลของ “ผีคอมมิวนิสต์” นี้เอง ทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (รัฐบาลในขณะนั้น) มีมาตรการปราบปรามขั้นรุนแรงตามมา รวมถึงเริ่มมีการกล่าวหานักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าบางกลุ่มว่า “มีความใส่ใจฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์”
“ศรีบูรพา” หรือชื่อจริงว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักคิด/นักเขียน/นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า ก็เคยถูกจับในกรณีดังกล่าวมาแล้ว คือกรณี “กบฏสันติภาพ”
และอย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก คือ “อิศรา อมันตกุล” นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า จากหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ในขณะนั้น) และดำรงตำแหน่งถึง 3 ปีติดต่อกัน คือปี 2499, 2500 และ 2501
ถูกจับกุมด้วยข้อหา “มีการกระทำที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2501 ภายหลังการรัฐประหาร (ครั้งที่ 2) ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพียงวันเดียว (รัฐประหาร 20 ต.ค. 2501) ก่อนจะถูกปล่อยตัวออกมาในเดือนกันยายน 2507
โดยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในครั้งนั้น ได้มีการกวาดล้างเหวี่ยงแหจับกุมนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นิสิต/นักศึกษา กรรมกร และชาวนา ที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้า ซึ่งฝ่ายรัฐมองว่าฝักใฝ่ในลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการปิดสือสิ่งพิมพ์ – หนังสือพิมพ์อีกเป็นจำนวนไม่น้อย
ที่น่าสนใจคือ “อิศรา” ติดคุกพร้อมกับ “จิตร ภูมิศักดิ์” นักคิด/นักเขียน ปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนสำคัญ ที่ภายหลังได้เข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และถูกยิงเสียชีวิตในปี 2509 อีกด้วย
คำถามคือ ในช่วงเวลาเกือบ 6 ปีที่ “อิศรา” ต้องดำเนินชีวิตอยู่ในคุกกับ “นักโทษการเมือง” คนอื่น ๆ นั้น “นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า” รายนี้ ทำอะไรบ้าง และมีแนวคิดเป็น “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์” จริงหรือ ?
ในหนังสือ ““ทัณฑะกาล” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังทางการเมือง” เขียนโดย “วิลลา วิลัยทอง” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บอกเล่าเรื่องราวช่วงชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังทางการเมืองในคุกลาดยาวไว้อย่างละเอียด และน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำเหตุการณ์บางห้วงบางตอนของ “อิศรา” ขณะเป็นผู้คุมขังทางการเมือง จากหนังสือดังกล่าว มานำเสนอแบบสังเขป ดังนี้
เชื่อหรือไม่ ? “อิศรา” เคยขออนุญาตตำรวจสันติบาลเพื่อออกไปซื้อ “รองเท้า” มาแล้ว !
“วิลลา” ระบุว่า เจ้าหน้าที่สันติบาลผ่อนปรนให้กับผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ขณะถูกคุมขังเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า พ.ต.ต.อารีย์ กะรีบุตร เกษม แสงมิตร ให้เกียรติต่อผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ไม่ได้ตามตรวจตราชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างเอาจริงเอาจัง โดยยกคำพูดของ พล.ต.ต.อุทัย อัศววิไล (ยศในขณะนั้น) อดีตสันติบาล ที่กล่าวถึงการคุมผู้ต้องขังในขณะนั้นว่า
“การคุมขังตอนนั้นมีความเป็นกันเอง ไม่มีลักษณะเอาเป็นเอาตาย แต่ในทางสำนวนผมไมรู้นะ ที่สโมสรกรมตำรวจ ทั้งผู้ต้องขัง ทั้งตำรวจก็ตีบิลเลียดแล้วสั่งเหล้ามากินด้วยกัน มั่วกันอยู่นั้น บางคนขอออกไปข้างนอก อย่างคุณอุทธรณ์ พลกุล คุณอิศรา อมันตกุล อยากไปหาซื้อรองเท้าผ้าใบซักคู่นึง ผมบอกสามโมงครึ่งพี่ต้องมาที่นี่นะ”
“…เขาก็รับผิดชอบ ผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์เป็นคนที่มีความคิดการเมือง มีเกียรติ มีความรับผิดชอบ เราก็ให้เป็นคน”
เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ
ระหว่างถูกคุมขังที่ “คุกลาดยาว” นั้น นักโทษการเมืองได้จัดตั้ง “คณะกรรมการสามัคคี” ซึ่ง “อิศรา” ได้อยู่ในหมวดการศึกษา โดยจะสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับนักโทษทางการเมืองคนอื่น ๆ ร่วมกับ อุดม ศรีสุวรรณ กรุณา กุศลาสัย อีกด้วย
แม้แต่ค่าเรื่องก็ยังโดนโกง !
“วิลลา” อธิบายว่า นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ แล้ว ชาวลาดยาวอีกหลายคนก็ใช้เวลาผลิตผลงานการประพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ภายใต้นามปากกาและส่งผลงานเหล่านั้นออกเผยแพร่นอกลาดยาว พวกเขาได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสำหรับจุนเจือครอบครัว มีบางคนที่โดนโกงค่าตอบแทนบ้าง ยกตัวอย่าง อิศรา อมันตกุล ผลิตนิยายขนาดยาว เช่น ตะวันตก – ตะวันออก, ลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน, ไซ่ง่อนพิศวาส, สะแลงมิใช่ของแสลง ผลิตงานแปล เช่น วัยรุ่นและพรหมจรรย์ โดยมีประคิณ ชุมสาย ช่วยหางานแปลให้
“อิศรา ใช้นามปากกาในการประพันธ์ บางครั้งก็ถูกโกงค่าเรื่องจากเพื่อน งานบางชิ้นขายดี ตีพิมพ์ถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์แม้แต่บาทเดียว”
“คิวบา” พื้นที่สวรรค์ระหว่างจำคุกกับผู้ที่เรียกตัวเองว่า “ฟีเดล คาสโตร”
พื้นที่และกิจกรรมในลาดยาวเล็กสามารถโยงความสัมพันธ์กับแนวคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ได้ “คิวบา” คือหนึ่งในนั้น อิศรา อมันตกุล เป็นหัวเรือใหญ่จัดตั้งพื้นที่นี้ ตัวเขาเองใช้ชื่อเล่นว่า ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro อดีตผู้นำของคิวบา และสหายร่วมปฏิวัติของเช เกบารา (Che Guevara) – ผู้เขียน)
หลังจากที่มีการย้ายผู้ต้องขังจากลาดยาวใหญ่เข้าลาดยาวเล็ก ปรากฏว่าอาคาร 2 หลังในลาดยาวเล็กนั้นค่อนข้างคับแคบ ทำให้ผู้ต้องขังบางส่วนขอนอนที่โรงอาหาร อิศราเป็นคนที่ริเริ่มเรียกโรงอาหารว่า “คิวบา” หรือ “แดนเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกกดขี่” เขาถูกยกให้เป็นหัวหน้าของพื้นที่โดยปริยาย
นอกจากอิศราเป็นหัวเรือใหญ่แล้ว ผู้ที่อยู่ในคิวบาส่วนมากเป็นนักหนังสือพิมพ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมกร กลุ่มคิวบาเป็นผู้เจรจาต่อรองเรื่องสิทธิ์ของผู้ต้องขังกับทางผู้คุมและเรือนจำ เป็นกลุ่มที่เห็นว่าพวกเขาเป็น “ผู้ถูกควบคุมตัว” ตามคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ หาใช่ “ผู้ต้องขัง” ตามหมายศาลหรือผู้ต้องคำพิพากษาของศาลมาแล้วไม่ เพราะฉะนั้นจะนำระเบียบเรือนจำทั่วไปบังคับใช้กับพวกเขาไม่ได้
กลุ่มคิวบายังเป็นต้นคิดในการคัดค้านการควบคุมตัวผู้ต้องขังตามกฎของราชทัณฑ์หลายประการ รวมไปถึงยังใช้เป็นโรงมหรสพสำหรับชาวลาดยาว เป็นพื้นที่แห่งคาร์นิวัล (Carnival) ท้าทายอำนาจรัฐ เป็นพื้นที่ของกิจกรรมแห่งความบันเทิงซึ่งอาจจะทำไม่ได้ถ้าอยู่นอก “ลาดยาว” โดยมีการจัดแสดงละครการเมือง มีวงดนตรี “คิวบา” โดยอิศรา เป็นหัวหน้าวง และเล่นกีตาร์อีกด้วย
เกือบจะได้รับอิสระ ?
“วิลลา” อธิบายว่า กรณี “คดีสาม อ.” อาจจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการปล่อยตัว “หลอก” ที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจเรื่อง “คอมมิวนิสต์” และกระบวนการปล่อยตัวที่คลุมเครือ กล่าวคือ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ศาลทหารยกฟ้อง “คดีสาม อ.” คือ อุทธรณ์ พลกุล อิศรา อมันตกุล และอุดม ศรีสุวรรณ เนื่องจากศาลเห็นว่าหลักฐานคำฟ้องของโจทก์ไม่หนักแน่นพอที่จะเอาโทษทั้ง 3 คนได้ ตำรวจสันติบาลเบิกตัวจากลาดยาวไปตอนเย็น หลังจากนั้นทั้ง 3 คนได้ลงชื่อรับทราบการยกฟ้อง
อย่างไรก็ดี “เพียงไม่กี่นาทีต่อมาก็ต้องลงชื่อรับทราบการจับกุมและกลับเข้าลาดยาวอีกครั้ง พ.ต.อ.ชัช ชวางกูร ให้สัมภาษณ์ว่า หนึ่งในผู้ต้องหาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นใคร จึงไม่สามารถปล่อยตัวออกไปได้”
และแล้ววิหคก็บินกลับรัง
การปล่อยตัวนักหนังสือพิมพ์บางคนเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่อิศรา อมันตกุล ไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรก ๆ ของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวช่วงสงกรานต์ แต่ก็ยังได้รับการปล่อยตัวในปีเดียวกัน คือในวันที่ 16 กันยายน 2507 หลังจากนั้นเขาก็เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ
“ขณะเดียวกัน อิศรา เริ่มดื่มสุราอย่างหนัก สเริงรมย์ อมันตกุล ภรรยาของเขาเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะความกดดันจากการถูกคุมขัง จึงระบายออกด้วยการดื่ม แม้จะรักและเป็นห่วงครอบครัวเหมือนเดิมก็ตาม”
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวบางห้วงบางตอนของ “อิศรา อมันตกุล” ขณะถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองอยู่ในคุก ระหว่างปี 2501 – 2507
ที่น่าสนใจก็คือ ตกลงแล้ว “อิศรา” เป็น “คอมมิวนิสต์” หรือไม่ ?
“ไม่มีชาวลาดยาวคนไหนจะยอมรับสาพภาพว่าตนเองเป็นคอมมิวนิสต์ตามข้อหาที่ถูกจับกุม “ผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ถึงตัวเองจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม” “วิลลา” อธิบายไว้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี แม้ว่า “อิศรา” จะเป็น หรือไม่เป็น “คอมมิวนิสต์” ก็ตามไม่ใช่เรื่อสลักสำคัญอะไรใหญ่โต เท่ากับวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง และยัดเยียดข้อหาให้กับผู้ที่มีความคิดต่างทางการเมือง
ดังนั้นสิ่งที่สังคมไทยในปัจจุบันจำเป็นต้องตระหนักก็คือ “ไม่ควรมีใครสมควรตาย เพราะความคิดทางการเมืองต่างกัน” อีก !
มิฉะนั้นต่อไปในอนาคต "ผี" ที่คนอื่น "ปลุก" อาจกลายเป็นตัวคุณเองก็เป็นได้