ดร.ธรณ์แนะฟื้นฟูอ่าวพร้าวตามหลักสากลด้วยโมเดล 1-3-7
ดร.ธรณ์ชี้ฟื้นฟูระบบนิเวศกรณีน้ำมันรั่วตามหลักสากล1 ปีแรกศึกษาสรุปผลหาความชัดเจน -วางแผนฟื้นฟูในปีถัดไป ใช้สูตรโมเดล1-3-7 ย้ำขณะนี้ลงเล่นน้ำที่อ่าวพร้าวได้ ไร้ปัญหา สารสะสมในอาหารทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติ
วันที่ 5 มีนาคาม 2557 ทีมนักวิจัยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทีมเฉพาะด้านเปิดเผยผลสำรวจระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าว จากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว จังหวัดระยอง หลังเฝ้าติดตามมาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 เดือน ณ ห้องประชุมอาคารวิทยศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าวทางภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้จัดทีมคณาจารย์และนักวิจัยลงพื้นที่ศึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยครอบคลุมจุดศึกษามากกว่า 40 จุด ตั้งแต่บริเวณจุดเกิดเหตุและชายฝั่งมาบตาพุด จนถึงอ่าวพร้าวบ้านเพ และแหลมแม่พิมพ์ ตลอดทั้งแนวที่คราบน้ำมันไหลผ่านและในพื้นที่ใกล้เคียง
จากการสำรวจอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในช่วงแรกสูงเฉพาะอ่าวพร้าว และคงอยู่ในสภาพนั้นเป็นเวลา 2-3เดือน ก่อนจะเริ่มลดลงตามลำดับทั้งไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในน้ำและที่สะสมอยู่ในดินตะกอน
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวถึงระบบนิเวศน์ทางทะเลในบริเวณดังกล่าวพบว่า ปริมาณการฟอกขาวของปะการังลดลงอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าปะการังที่ฟอกขาวส่วนใหญ่แสดงอาการฟื้นตัว ในส่วนของการสำรวจปลาในแนวปะการังอ่าวพร้าวโดยเปรียบเทียบกับพื้นที่อ้างอิงไม่พบความผิดปกติของประชากรปลา
และเมื่อนำตัวอย่างปลาไปวิเคราะห์กับนักวิจัยญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยคาโกชิม่า พบว่า ไม่มีการสะสมสาร Polycyclic Aromatic hydrocarbons หรือ PAHs มากเกินระดับมาตรฐานที่กำหนดโดย EU
"สำหรับการปนเปื้อนของน้ำทะเลยืนยันว่า ระดับความเข้มข้นของสารปนเปื้อนอยู่ในระดับปลอดภัยและประชาชนสามารถเล่นน้ำได้ที่เกาะเสม็ด ส่วนการศึกษาสัตว์น้ำว่า มีสารสะสมในปลา ปู หรือไม่นั้นยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีปริมาณสารที่เกิดอันตรายกับมนุษย์เกินกว่ามาตรฐานกำหนด ดังนั้นอาหารทะเลในจังหวัดระยอง อ่าวพร้าว บ้านเพ รับประทานได้ปกติ หากการศึกษาพบว่ามีอันตรายเราจะรีบแจ้งประชาชนทันที"
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มก. กล่าวอีกว่า แม้ว่าปริมาณการปนเปื้อนในน้ำจะลดลง แต่ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะต้องติดตามผลกันไปอย่างต่อเนื่อง หากถามว่า ต้องใช้เวลานานเท่าไร อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า2-3 ปี ถึงจะใกล้เคียงกับพื้นที่อื่นที่ไม่เคยมีน้ำมันรั่ว อย่างไรก็ตามอยากวิงวอนไปยังทุกฝ่ายที่อยากจะฟื้นฟูอ่าวพร้าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับเฝ้าระวังและติดตามความเปลี่ยนแปลงด้วยการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม ดังนั้นขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ ควรรอให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นครบ 1 ปีก่อน แล้วจึงมาวางแผนว่าการฟื้นฟูอ่าวพร้าวจะต้องทำอย่างไร และมีรูปแบบเป็นอย่างไร เพื่อให้การฟื้นฟูนั้นได้ผลเต็มประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังยืนยันว่า การฟื้นฟูจะดำเนินการต่อก็ได้ต่อเมื่อสถานการณ์เข้าใกล้สภาวะปกติ หากวันนี้เราอยากฟื้นฟูให้ฟื้นฟูในบริเวณอื่นก่อน ขออ่าวพร้าวไว้สัก 1 ปี
"ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารปนเปื้อนในดินตะกอนของท้องทะเลเลย ในฐานะตัวแทนนักวิชาการอยากเรียกร้องให้ประเทศไทยควรมีการกำหนดค่ามาตรฐานเหล่านี้ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาติดตามตรวจสอบรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น สามารถตรวจสอบคราบน้ำมันตามจุดต่างๆอย่างชัดเจน ตรวจสอบสิ่งแวดล้อมท่าเรืออื่นๆ ว่า มีน้ำมันมากหรือน้อยกว่ามาตรฐาน และหากจะให้การฟื้นฟูเป็นไปตามมาตรฐานสากลคือ 1 ปีแรกเป็นการศึกษาค้นคว้าและประเมินผลจากกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความสับสน และปีที่3 คือสภาพระบบนิเวศเริ่มกลับสู่สภาวะปกติและติดตามดูสิ่งต่างๆว่าเป็นอย่างไร และในปีที่7 คือติดตามสารสะสมในสิ่งต่างๆว่าคงยังหลงเหลือหรือไม่ เพื่อที่จะให้การทำงานครั้งนี้เป็นไปอย่างรอบครอบและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคนไทยทุกคน"
ดร.ธรณ์ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายแล้วอยากจะให้วิกฤตที่เกิดขึ้นที่อ่าวพร้าวกลายเป็นโอกาสที่จะให้ประเทศไทยได้ปฏิรูปในเรื่องของสิ่งแวดล้อมว่า อย่าลืมเรื่องทะเล ระบบนิเวศ ธรรมชาติ และการจัดการน้ำ เพราะประเทศเราจะต้องเผชิญกับภาวะของโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หากเรายังไม่เตรียมตัวในการรับมือกับสิ่งที่จะถาโถมเข้ามาในอนาคตและปล่อยสถานการณ์ไปวันๆแบบนี้ เราจะยิ่งลำบาก ดังนั้นไม่อยากให้แต่ละฝ่ายเถียงกันด้วยอารมณ์ เรามีข้อมูลนักวิชาการ มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เราควรมาหาทางออกร่วมกันว่าจะออกทางไหน
อ่าน ประกอบ การติดตามระบบนิเวศอ่าวพร้าว
1.การศึกษาผลกระทบของการรั่วไหลของน้ำมันต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชีวภาพบริเวณชายฝั่งจังหวัดระยอง
โดย รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์
2. “ผลการติดตามระบบนิเวศอ่าวพร้าว”