“ถวิล” ลุ้น“ศาลปกครอง” พิพากษาคดีคืนเก้าอี้ “เลขาฯสมช.” 7 มี.ค.นี้
“ถวิล” ลุ้นระทึก “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษาคดีคืนเก้าอี้ “เลขาฯสมช.” 7 มี.ค.นี้ เผย “ตุการแถลงคดี” ยันกระบวนการโยกย้ายถูกต้อง แต่ใช้ดุลยพินิจผิด-กลั่นแกล้ง-มีการเมืองเกี่ยวข้อง
จากกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้กับนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 มีนาคม 2557
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ww.isranews.org ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสมช.ให้กับตน โดยให้เหตุผลว่าการย้ายตนออกจากตำแหน่งไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย มีการทาบทามพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ให้มาเป็นเลขาธิการสมช. แต่ในเมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ก็ต้องสู้กันในชั้นศาลปกครองสูงสุด
“เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ตุลาการผู้แถลงคดี ได้มีความเห็นเสนอแนะมี 2 ประเด็น 1.ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็นว่ากระบวนการโยกย้ายผม น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับศาลปกครองกลางที่ระบุว่ากระบวนการโยกย้ายไม่ถูกต้อง 2.ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็นว่า การใช้ดุลยพินิจของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ถูกต้อง มีเหตุผลทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง เป็นการกลั่นแกล้ง ทั้งนี้ความเห็นของตุลการผู้แถลงคดีไม่ผูกพันศาลปกครองสูงสุด” นายถวิล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้คืนตำแหน่ง โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลรักษาการจะดำเนินการอย่างไร นายถวิล กล่าวว่า ก็ต้องรอดูท่าทีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ตนคิดว่าคำสั่งของศาล ไม่น่าจะเข้ากรอบตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐบาลต้องกระทำโดยไม่มีผลได้เสีย
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 7 มีนาคม 2557 เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๓ ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง เลขที่ ๑๒๐ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
โดยคดีดังกล่าว ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 635/2555 ระหว่าง นายถวิล เปลี่ยนศรี (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้นายถวิล เปลี่ยนศรี ฟ้องนายกรัฐมนตรี และ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ว่าได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 ก.ย.2554 ให้ผู้ฟ้องคดี ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ตามคำร้องลงวันที่ 12 ก.ย.2554 ต่อมา ก.พ.ค.ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 เม.ย.2555 แจ้งยกคำร้องทุกข์ ทำให้ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งและประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับ กับเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการโอนข้าราชการ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผลซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีผลให้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
ปัญหาว่าคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อศาลได้พิจารณาในประเด็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เกิดจากกระบวนการโอนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการโอนข้าราชการ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่สมเหตุสมผลซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีย่อมมีผลให้คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ข้อโต้แย้งประการอื่นๆ ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่จำต้องพิจารณาอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ภาพจาก news.mthai.com