เปิด5แนวคิดรู้เท่าทันสื่อ-รู้ทันตัวเอง ก่อนโพสต์ ไลค์ แชร์
การรู้เท่าทันสื่อในยุคสื่อเก่า มักพูดถึงการรู้เท่าทันสื่อในแบบ "เท่าทันผลกระทบ จิตวิทยา การถูกครอบครอง ครอบงำ" และการตั้งคำถามว่าสื่อนั้นต้องการอะไรจากเรา
ทว่าการรู้เท่าทันสื่อใหม่ในยุคคอนเวอร์เจ๊นซ์นั้น "แตกต่างกัน" เพราะสื่อใหม่นั้นก้าวเข้าสู่ความเป็น "โลกของผู้ใช้สื่อ" (user generated content) ซึ่งหมายความว่าเราเป็นทั้งผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟัง และกลายเป็นผู้คิดเขียนบอกเล่าแชร์ส่งต่อออกไปด้วย
ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อในยุคปัจจุบัน จึงควรพูดถึงการรู้เท่าทัน "ตัวเราเอง" มากกกว่า
ผมขออนุญาตแบ่งการรู้เท่าทันสื่อ ในยุคสื่อใหม่ ที่เราควรจะเท่าทัน ดังนี้
1.มิติพื้นที่ (space) : เราใช้มันบนพื้นที่แบบไหน?
คือความตระหนักว่าพื้นที่ของสื่อใหม่นั้ัน มิใช่พื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันคือ "พื้นที่ส่วนตัวบนพื้นที่สาธารณะ"
เหมือนเรานั่นร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า หรือ ทานอาหารในร้านอาหาร สถานที่แห่งนั้น "เราแค่มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนตัวของเรา" ทว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ พื้นที่นั้นมีคนสร้างขึ้นมาให้เราใช้ต่างหาก เราเพียงแค่รุ้สึกเป็นเจ้าของเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ทุกๆ อย่างที่เราคิด โพสต์ขึ้นไป จึงไม่ใช่ในขอบเขตพื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก เคยเขียนไว้ว่า "ตอนที่ผมสร้างเฟซบุ๊กขึ้นใหม่ๆ ก็คิดว่าใครจะมาพูดเรื่องส่วนตัวบนเฟซบุ๊ก แต่ในภายหลังก็เข้าใจได้ว่า ผู้คนต้องการพูดเรื่องส่วนตัวนั้นๆ ให้คนทั้งโลก หรืออย่างน้อยก็เพื่อนๆ ในสังคมเขาได้ยินกัน มิเช่นนั้น เขาก็คงไม่เขียนและโพสต์มันหรอก"
2. มิติเวลา (time) : เราใชัมันมากน้อยเพียงใด?
มนุษย์ในยุคสังคมสารสนเทศใช้เวลากับสื่อมากขึ้น ทั้งในพฤติกรรรมการใช้สื่อหลากหลายช่องทางในเวลาเดียวกัน และทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมๆ กัน (multi-platform & multi-tasking) ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อใหม่จึงหมายความว่า "คุณรู้ว่าใช้เวลากับมันมากเกินไป หรือ ควรรู้ว่า เวลาใดควรใช้หรือควรใส่ใจกับกิจกรรมอื่นๆ บ้าง"
ผู้คนในโลกสื่อใหม่หลายล้านคนเป็นโรคเสพติดอินเตอร์เน็ต ติดเกมส์ ติดแชท และติดเครือข่ายสังคม พวกเขา "ใช้เวลามากเกินไป" และ "ใช้มันอย่างพร่ำเพรื่อ" จนลดทอนความสำคัญของกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตไปมาก
ไม่ใช่แค่นั้น แต่เรายังต้องรู้เท่าทัน "มิติเชิงเวลา" ของมันด้วย เพราะสื่อใหม่ได้เข้ามากำหนดความเร็ว และการแข่งขันให้ผู้คน "ตกหลุมพรางความเร็ว/ช้า" เช่น รีบกดแชร์ กดไลค์หรือปล่อยข่าวลือไปเร็ว เพราะต้องการแข่งกับสื่ออื่นๆ หรือ เพราะเราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข่าวที่เราเชื่อว่ามันจริง
บางครั้งผู้คนก็ช้า ที่รับรู้ข่าวสารหนึ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว, ยุคสมัยปัจจุบัน จึงเป็นยุคที่ "เวลากลายเป็นปัจจุบัน" (now) ที่เวลาของผู้คนไม่เท่ากัน และเป็นปัจจุบันกันทั้งหมด
เราจึงควรรู้เท่าทันว่า เส้นแบ่งเวลา และกับดักความเร็วนั้น เหล่านี้มากำหนดปัจจัยสำคัญของความถูกต้องของข่าวสาร และความเร่งรีบกลัวตกข่าวของเราให้เรากระวนกระวายใจ เหมือนที่เขาเรียกว่าเป็น โรค "FOMO" ที่แปลว่า "Fear Of Missing Out" หรือ "โรคกลัวตกข่าว/พาดข่าว"
3. มิติตัวตน (self) : เราใช้ มอง สร้าง ปฏิบัติ และวางกรอบตัวตนเราอย่างไร?
อันนี้หมายความว่า:
(1) เรารู้สึกว่าตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นคือตัวไหน? ระหว่างในโลกออนไลน์ ในเกมออนไลน์ ในเฟซบุ๊ก หรือตัวเราที่เป็นตัวเนื้อร่างกายที่แท้จริง
อันนี้หมายถึง "ตัวตน กายเนื้อ กายจิต" เราวางตำแหน่งแห่งที่มันไว้ตรงไหนอย่างไร?
(2) เรามีตัวตนเดียว หรือ หลายๆ ตัวตน? วัยรุ่นสมัยนี้ หรือ ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกว่าตนเองสามารถสร้างตัวตนจำลอง ร่างอวตารได้หลายๆ ตัว นั่นอาจเป็นข้อดีและข้อแย่ เพราะคนในปัจจุบันจะมีอัตลักษณ์บุคคลหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมันแย่แน่ๆ ถ้าคุณเริ่มที่จะ "สับสน"กับการสร้างอัตลักษณ์ของคุณในเฟซบุ๊ก ถ้ามันแตกต่างกันมาก มันก็ย่อมส่งผลเชิงจิตวิทยาอัตลักษณ์ตัวตนของคุณ
(3) เรามีความสับสนเรื่องอัตลักษณ์ตัวตนหรือไม่ ระหว่าง ตัวตนที่เราอยากจะเป็น ตัวตนที่คนอื่นมองเราจริงๆ ตัวตนที่เราอยากให้คนอื่นมองและ ตัวตนที่เราเป็นจริงๆ
ผู้คนในโลกปัจจุบันให้ความสำคัญว่า "การสร้างอัตลักษณ์ และการสร้างชื่อเสียง และสถานะ" นั้นกลายเป็นเรื่องเดียวกัน
อันตรายจึงอยู่ที่ว่า "ตัวตนและชื่อเสียง สถานะทางสังคมในโลกสื่อใหม่นั้น อาจกร่อนทำลาย อัตลักษณ์ที่แท้จริงของความเป็นคุณ"
คนที่ไม่ระมัดระวังเพียงพอ จะถูก "ผู้คนในโลกสื่อใหม่/สื่อสังคมครอบงำ" และคุณอาจจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ "คนอื่นๆ ที่คุณไม่รู้จักชื่นชอบ" น่าเสียดายที่ตัวคุณจะโดนครอบงำจากคนอื่น คนที่พวกเขาเหล่านั้นก็พยายามสร้างตัวตนหลอกๆ จำลองขึ้นมาเหมือนกัน
ปัญหานี้ยังมีเรื่องง่ายๆ เช่น ผู้คน "ใช้อัตลักษณ์บุคคลเทียม/นิรนาม" เพื่อหวังผลก่อการร้าย ล่อลวง และอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรจะรู้ว่า "เห็นหน้าไม่รู้จักชื่อ เจอกันไม่รู้จักใจ" ไว้ใจใครๆ ก็ลำบากในโลกออนไลน์!
4. มิติความเป็นจริง (reality) : คุณรู้ แน่ใจหรือว่าที่คุณรับรู้นั้นคือ ความจริง ข้อเท็จจริง หรือความเป็นจริง?
ในโลกของสื่อเก่า 3 คำข้างต้นคือสิ่งที่นักรู้เท่าทันสื่อต้องเร่งเรียนรู้เท่าทัน เพราะสื่อเก่านั้นมีอำนาจประกอบสร้างความจริงได้อย่างร้ายกาจ สิ่งที่คุณรู้นั้น อาจไม่ใช่ความจริง เแต่เป้นข้อเท็จจริงบางส่วนที่ประกอบสร้างความเป้นจริงขึ้นมากล่อมเกลาคุณ ให้หลงเชื่อ เช่น ข่าวหรือโฆษณาต่างๆ นั่นเอง
แต่ในโลกของสื่อใหม่ ผมต้องบอกว่า "มันยากยิ่งขึ้นไปอีก" เพราะความจริงในโลกคอมพิวเตอร์ คือ ความจริงเสมือนแบบหนึ่ง (virtuality) เช่น ภาพกราฟิกจำลองคอมพิวเตอร์ หรือเกมส์โลกออนไลน์ต่างๆ ที่พาคุณเข้าไปสู่จินตนาการเหลือเชื่อ
หรือมากไปกว่า เราก็จะอยู่ในโลก "ความจริงเพิ่มขยาย" (augmented reality) เช่น แว่นตากูเกิ้ล หรือกล้องโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มเติมข้อมูลจากภาพหน้าจอเข้าทับซ้อนกับโลก จริงๆ เข้าด้วยกัน
และมากไปกว่านั้น ลองนึกถึงโลกของ ความจริงเหนือจริง (surrealism) เช่น เราเป็น "นีโอ" ในหนังเดอะเมทริกซ์ ที่เราอาจจะตายจริงๆ ถ้าเราตายในเกมส์ หรือ โลกภาพยนตร์ "inception" ที่เราเข้าไปสู่โลกแห่งความฝัน ผจญภัย ล้วงลึกก่อความรักและอาชญากรรมกระทั่งสร้างความฝัน ปมขัดแย้งในชีวิตสู่โลกของตัวคุณจริงๆ
สื่อใหม่ได้ทำให้ความจริงมีหลายชั้น ซับซ้อนและเป็นความจริงเสมือนจริงทับกันวุ่นวายไปหมด
ปัญหาก็คือ คุณเสพติดความจริงแบบไหน ระดับใดอยู่ และที่มากกว่านั้น คุณกลับอาจคิดว่า ความเป็นจริงในโลกออนไลนื คือ ความจริงที่คุณมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป
5. มิติสังคม (social) : เรารู้หรือไม่ว่าเรามีส่วนสร้างและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง?
ในโลกยุคอิทธิพลอำนาจสื่อเก่า สื่อนั้นมีผล ส่งผลกระทบมากมายต่อชีวิต ทัศนคติ ความรู้ พฤติกรรมและจิตวิญญาณของเรา, เรากลายเป็นผู้ตั้งรับรอกระบวนการก่อมเกลาประกอบสร้าง
แต่ในสื่อใหม่ ผู้คนมีอำนาจที่จะสื่อสารกับโลก, ทุกคนหันมาพูดเรื่องตัวเองมากขึ้น
ไม่มีใครใส่ใจจะฟังเรื่องของคนอื่นๆ
ทั้งความโกรธ อวดเก่ง ขี้อิจฉา ความรุนแรง อคติ ความเกลียดชัง ต่างถูกโยนทึ้งลงมาที่เครือข่ายสังคมออนไลน์ แน่ว่ามีพลังทั้งด้านบวกด้านลบ มีพลังสร้างสรรค์และทำลาย
เราทุกคนเป็นผู้ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ทั้งหมด ด้วยเนื้อหา เวลาและสถานการณ์แวดล้อมที่เอื้ออำนวย
คำด่า คำชม ข่าวลือ ข่าวจริง ความรัก ความชัง สันติและสงคราม เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้สื่อของเราทุกๆ คน
โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม, นี่คือโลกที่ผู้คนทุกๆ คนเริ่มที่จะมีส่วนร่วมสร้างพร้อมๆ กันไม่มีใครเป็นผู้มีอำนาจกำหนดความรู้ ความจริง และผูกขาดอำนาจอีกต่อไปเราทุกคนได้กลายมาเป็นนักปฏิวัติ และ นักโฆษณาชวนเชื่อไปพร้อมๆ กัน
การรู้เท่าทันสื่อในแง่นี้จึงหมายถึงว่า คุณแคร์ ใส่ใจคนรอบข้าง เพื่อนคุณ สังคมคุณเพียงพอหรือเปล่า คุณเข้าใจกฎเกณฑ์ กติกาการอยู่ร่วมกันในโลกออนไลน์หรือไม่ ถ้าสื่อใหม่เป็นที่ๆ ทุกคนเอาระเบิดมาวางใส่ โลกก็จะไม่น่าอยู่ แต่ถ้าทุกคนเอาสติ เอาปัญญาความรู้ ความจริง และเจตนาดี หวังดีต่อกัน โลกก็จะน่าอยู่มากขึ้น
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า "เราทุกคน" ในฐานะเป็นผู้ใช้สื่อสังคมข้อมูลข่าวสารควรที่จะ "รู้เท่าทันอำนาจของตัวเอง"
ผมชอบประโยคที่ โทนี่ ปาร์คเกอร์ (สไปเดอร์แมน) พูดว่า"อำนาจอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่"
และสำหรับการรู้เท่าทันสื่อในยุคปัจจุบัน โลกสื่อใหม่ ผมว่าถ้าเรารู้เท่าทันตัวเราเองเราก็จะใช้สื่อและอยู่ร่วมกับสื่ออย่างมีความสุข!
รู้เท่าทันสื่อใหม่ จึงเท่ากับ รู้เท่าทันตัวเราเอง
คิดทุกครั้ง ก่อนโพสต์ ก่อนไลค์ ก่อนแชร์!
ภาพจากเฟซบุ๊กhttps://www.facebook.com/time.chuastapanasiri